“หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย เพื่อใช้เป็นแหล่งจัดแสดงผลงานของศิลปิน ตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยของไทย ให้เกิดการพัฒนาต่อยอด สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มอันมีรากฐานต่อยอดมาจากศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยจัดแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยหลากหลายแขนง จากหลากหลายศิลปินทั้งศิลปินแห่งชาติ ไปจนถึงศิลปินรุ่นใหม่ และเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการนำเสนอผลงานศิลปะร่วมสมัยของไทยให้ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศ”
ความเป็นมาของหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน
หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เป็น 1 ใน 15 อาคารบนสองฝั่งของถนนราชดำเนิน สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2480 – 2491 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกหลายท่าน อาทิ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล คุณหมิว อภัยวงศ์
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำศิลปะไปสู่การพัฒนาภูมิปัญญา การเรียนรู้ การสร้างสรรค์ใหม่ ๆ การยกระดับจิตวิญญาณไปสู่ความเป็นอิสระทางปัญญา อันเป็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ทั้งโลกปัจจุบันและอนาคต และการให้ความสำคัญในการดูแล ส่งเสริม และสนับสนุนให้ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอยู่เสมอ ต่อยอดภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน สร้างสรรค์และสร้างต้นทุนใหม่ทางวัฒนธรรมให้แก่สังคม เพื่อพัฒนาให้เกิดคุณประโยชน์ต่อชาติในด้านต่าง ๆ และเพื่อให้ก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ทางด้านศิลปวัฒนธรรม จึงได้ทำการบูรณะอาคารหลังนี้ โดยเริ่มลงมือก่อสร้างในช่วงเดือนตุลาคม 2555 แล้วเสร็จในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2556 และเปิดใช้งานเพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยแก่ศิลปิน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่สนใจงานด้านศิลปะร่วมสมัย ให้มีพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงานให้เป็นประจักษ์และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้งานด้านศิลปะร่วมสมัยที่สำคัญของประเทศ
สถาปัตยกรรม
อาคารหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูน ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิก หรือสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก (Neoclassic) บ้างเรียกว่าสถาปัตยกรรมคณะราษฎร (พ.ศ. 2475 – 2490) ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมใช้ในการสร้างกระแสชาตินิยม มีลักษณะรูปทรงทางเรขาคณิต เรียบง่าย ลดทอนรายละเอียด ปราศจากลวดลายตกแต่ง มีการจัดองค์ประกอบให้ดูทันสมัย เพื่อสื่อถึงความเสมอภาค แสดงถึงสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ชาตินิยม และมีอีกความหมายหนึ่งซึ่ง หมายถึง การเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
แนวคิดหลักของการออกแบบปรับปรุงอาคาร คือการแสดงความเคารพต่อสถาปัตยกรรม และเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอาคาร จึงได้ดำเนินการเพียงนำส่วนต่อเติมจากผู้เช่าเดิมออก เพื่อลดน้ำหนักและภาระที่จะส่งผลให้เกิดความเสียหายของตัวอาคาร และเพื่อปรับพื้นที่ให้เกิดช่องว่างสามารถใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เหมาะแก่การจัดกิจกรรมและนิทรรศการทางศิลปะ ผู้ออกแบบได้เก็บโครงสร้างและร่องรอยเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้อาคารหลังนี้เป็นเหมือนจุดเชื่องโยงของประวัติศาสตร์ที่ยังคงเหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ สามารถอ่านเรื่องราว และ จากตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นผิวของอิฐโบราณ หรือผิวของโครงสร้างคอนกรีตเดิม
ในส่วนที่ถูกต่อเติม ได้เพิ่มเติมในส่วนของงานระบบต่าง ๆ และโครงสร้างพื้นฐานของอาคารบางจุด เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ในการบูรณะอาคารหลังนี้ จำเป็นต้องคำนวณ ถึงสภาพอาคาร รูปแบบการบูรณะ ให้สอดคล้องกับอาคารหลังอื่นที่เหลืออยู่ เพื่อให้สามารถรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม สุนทรียภาพ และยังคงไว้ซึ่งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อย่างสมบูรณ์ที่สุด
ห้องจัดนิทรรศการ
หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เป็นอาคาร 3 ชั้น โดยมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 5 พันตารางเมตร เพื่อรองรับการจัดแสดงนิทรรศการผลงานจากศิลปินทั้งไทย และต่างประเทศ โดยใช้หลักการออกแบบนิทรรศการตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งแบ่งออกเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงาน นิทรรศการ ห้องปฏิบัติการสำหรับการจัดฝึกอบรม กิจกรรมและการแสดงต่าง ๆ ประกอบด้วย
พื้นที่นิทรรศการชั้น 1 เป็นพื้นที่เปิดโล่ง กว้าง ขนาดยาวไปกับแนวอาคาร เหมาะสำหรับจัดงานนิทรรศการผลงานศิลปะที่ต้องการใช้พื้นที่ และมีจำนวนมาก ทำให้มีความต่อเนื่องในการรับชม รวมถึงห้องออดิทอเรียม ซึ่งเป็นห้องที่มีวัสดุอุปกรณ์เทคโนโลยีทั้งระบบภาพ แสง สี เสียงที่ทันสมัย เหมาะกับการจัดพิธีเปิด การอบรม เสวนา ฯลฯ
พื้นที่นิทรรศการชั้น 2 ถูกแบ่งการใช้งานออกเป็นหลายส่วนด้วยกัน ได้แก่ ห้องสมุด ที่รวบรวมเอาหนังสือ วารสาร เอกวิชาการ ด้านศิลปะร่วมสมัยที่มีคุณค่าและหาชมได้ยากเก็บสะสมไว้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาและค้นคว้าหาองค์ความรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ และมีห้องจัดนิทรรศการที่แตกต่างกันออกไป อาทิ ห้อง U Gallery ที่มีจัดเด่นเป็นพื้นที่รูปตัว U เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ในการจัดนิทรรศการ ห้องนิทรรศการ 5 ที่เป็นห้องปิดทึบเหมาะสำหรับการจัดนิทรรศการที่ต้องการควบคุมหรือกำหนดแสงให้กับผลงานศิลปะที่ถูกจัดขึ้น ทั้งยังมีห้องปฏิบัติการ 1 และ 2 ที่สามารถใช้เป็นห้องจัดอบรม เสวนา หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่ที่ใช้เพียงแสดงผลงานได้ โดยจุดเด่นของทั้ง 2 ห้องนี้ คือการได้รับแสงธรรมชาติที่เข้ามาตลอดทั้งวัน
พื้นที่นิทรรศการชั้น 3 เป็นพื้นที่เปิดโล่งเช่นเดียวกับพื้นที่นิทรรศการชั้น 1 โดยในปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งถูกตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน ผ่านนิทรรศการหมุนเวียนที่ถูกจัดขึ้นตลอดทั้งปี
เป็นที่น่ายินดียิ่งเมื่อทราบว่าประเทศไทยจะมีหอศิลป์แห่งใหม่นามว่า “หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน” ซึ่งจะมีบทบาทในการเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะให้กับเด็ก เยาวชนและประชาชนที่สนใจ
“เป็นสถานที่บ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่และเป็นแหล่งพบปะแลกเปลี่ยนศิลปะร่วมสมัยทุกแขนง“
บทสัมภาษณ์พิเศษ คุณชาย นครชัย
(อดีตผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ปัจจุบัน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม)