24 กันยายน “วันมหิดล” น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

24 กันยายน “วันมหิดล” น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

#Rcac #วันสำคัญ

24 กันยายน “วันมหิดล”

น้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก


“บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน และการสาธารณสุขของไทย”

#เล่าเรื่องร่วมสมัย
24 กันยายน "วันมหิดล"
     “วันมหิดล” ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 พระผู้ทรงรังสรรค์วิชาการด้านสุขภาพ ตลอดจนคุณูปการต่อกิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งประชาชนทั่วไปคุ้นเคยกับพระนาม "กรมหลวงสงขลานครินทร์" "พระราชบิดา" "เจ้าฟ้าทหารเรือ"หรือ"พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย" ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันไทย” โดยทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก”จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในปี พ.ศ. 2534
     "ขอให้ถือประโยชน์ตนเปนที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เปนกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ"  เป็นหนึ่งในพระปณิธานที่ทรงพระราชทานไว้แก่ศาสตราจารย์นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง นักเรียนทุนพระราชทานในขณะนั้น ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนบัณฑิตในสายวิทยาศาสตร์และแพทย์ศาสตร์ต่างยึดถือเป็นแบบอย่างในการเสียสละและได้น้อมนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมและประเทศชาติตลอดมา
     สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงประสูติเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ณ พระบรมมหาราชวัง พระนามเดิมว่า สมเด็จพระลูกยาเธอ เจ้าฟ้า มหิดลอดุลยเดชฯ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระชันษาได้ 13 พรรษา ทรงเข้าพิธีโสกันต์ และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรม ภายหลัง ทรงเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2448 ณ โรงเรียนกินนอนแฮร์โรว์ ก่อนจะเสด็จไปศึกษาต่อที่ Royal Prussian Military College เมืองโพสต์แดม ประเทศเยอรมนี และศึกษาต่อที่ Imperial German Navsl College Flensburg โดยทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือในปี พ.ศ. 2454 ผลการสอบไล่ได้เป็นอันดับที่ 2 และทรงชนะการประกวดออกแบบเรือดำน้ำ  เมื่อทรงเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2459 ได้ทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือ ประจำกรมเสนาธิการทหารเรือ ต่อมาได้ลาออกจากราชการทหารเรือ เพื่อไปศึกษาต่อด้านวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2462 ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาสาธารณสุขที่ School of Health Office Harvard University and the Massachusetts Institute of Technology 
โดยเสด็จนิวัติกลับประเทศอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2463  เพื่อร่วมประกอบพระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ระหว่างที่ทรงประทับอยู่ในประเทศไทย ได้ทรงเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนเตรียมแพทย์ แผนกอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้ทรงนิพนธ์หนังสือชื่อ Tuberculosis เพื่อจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ 
จากนั้นได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตร C.P.H  ในปี พ.ศ. 2464 โดยในระหว่างเสด็จประพาสยุโรป สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ผู้ทรงมีความรู้ความชำนาญในวิชาการแพทย์อย่างสูงในสมัยนั้น ได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงธรรมการในการเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เพื่อโครงการพัฒนาด้านการศึกษาวิชาการแพทย์ของประเทศไทย โดยทางมูลนิธิฯ ได้จัดส่งอาจารย์แพทย์วิชาชีพจำนวน 6 ท่าน พร้อมด้วยเงินทุนจำนวนในการจัดสร้างตึกโรงพยาบาลศิริราช และทุนการศึกษาสำหรับแพทย์เพื่อศึกษาต่อในต่างประเทศอีกด้วย
     ต่อมาในปี พ.ศ. 2466 ทรงเดินทางไปศึกษาต่อที่  Edinburg Scotland University แต่ทว่าทรงประชวรจึงตัดสินใจเดินทางกลับมาเข้ารับราชการ ภาระกิจสำคัญต่อวงการแพทย์จึงได้เริ่มขึ้น เช่น ทรงพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติการแพทย์ต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก่อนที่จะประกาศเป็นพระราชบัญญัติแพทย์ฉบับแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2467 ทรงพระนิพนธ์ตำรา วิธีการปฏิบัติสุขาภิบาล  ในปี พ.ศ. 2469 ได้เสด็จไปศึกษาต่อในวิชากุมารเวชศาสตร์ ณมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญา Doctor of Medicine (M.D.) ด้วยระดับเกียรตินิยมชั้น Cum Laude ในปี 2471 เมื่อทรงนิวัติกลับประเทศไทย ทรงเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลแมคคอมิค จังหวัดเชียงใหม่ และทรงช่วยเหลือโรงพยาบาลศิริราชในการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ และโรงเรียนพยาบาล  เมื่อทรงเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการวชิรพยาบาล ทรงดัดแปลงโรงพยาบาลวชิรพยาบาลเป็นโรงพยาบาลสำหรับการคลอดบุตรและเป็นศูนย์อบรมพยาบาลผดุงครรภ์ พยาบาล สังคมสงเคราะห์และหมอตำแย เพื่อให้การคลอดบุตรมีความทันสมัยและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น   
         นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ เป็นพระอาจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชากายวิภาคเปรียบเทียบ ประวัติศาสตร์ และจุลกายวิภาคศาสตร์  เป็นพระอาจารย์พิเศษ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ทรงสอนวิชาสุขาภิบาล และมารดาทารกสงเคราะห์อีกด้วย 
     สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฎ ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ณ วังสระปทุม มีพระราช โอรสและพระราชธิดารวม 3 พระองค์ ได้แก่ 
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมันนี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา
     สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงประชวรด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) ทางคณะแพทย์ได้ถวายการรักษาเป็นเวลานานถึง 4 เดือน แต่พระอาการไม่ดีขึ้น เกิดพระอาการบวมน้ำ ในพระปัปผาสะแทรกซ้อน เป็นเหตุให้พระหทัยวายและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. 2472 ขณะพระชนมายุ 37 ปี 8 เดือน 23 วัน ภายหลังสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์” ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงสถาปนาขึ้นเป็น“สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์” และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเฉลิมพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดา ตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ทรงพระราชฐานันดรศักดิ์เสมอด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ณ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2513
ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆไว้อย่างมากมาย ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์ พระวรกายและพระสติปัญญาเพื่อความเจริญด้านการแพทย์ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเมตตาพระราชทานทุน 1 แสนบาทเพื่อส่งคนไปศึกษาต่างประเทศด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อการโภชนาการที่ดีของคนไทย อันเป็นที่มาของสมญานามว่า "พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย" 
ด้วยคุณูปการที่ทรงสร้างไว้นับตั้งแต่ดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้าฯ จวบจนสิ้นพระชนม์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วยบรรดาศิษย์เก่า ตลอดจนประชาชนทุกหมู่เหล่าจึงพร้อมใจกันสร้างพระราชาอนุสาวรีย์ขึ้น ณ บริเวณลานหน้าศาลาศิริราชร้อยปี โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งอนุสารีย์แห่งนี้ออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และมีนายสนั่น ศิลากรณ์ เป็นประติมากร ลักษณะพระรูป หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ ความสูงประมาณ 2 เมตร ประทับนั่งบนพระเก้าอี้ ฉลองพระองค์ครุย พระหัตถ์วางอยู่เหนือตำราแพทย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งพระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ
น้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก 
"บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน และการสาธารณสุขของไทย"
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
https://www.sci.psu.ac.th/news/2020/10/following-the-royal-wish/
https://www.si.mahidol.ac.th/th/mahidolday/ GETTY IMAGES
https://www.princemahidolaward.org/th/a-complete-biography-of-prince-mahidol/
https://e-library.siam.edu/mahidol-day/
https://rb.gy/sfj1qy
https://www.bbc.com/thai/thailand-54264318
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000097815

ขอขอบคุณ เฟซบุ๊ก สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

#Rcac #Rcacbkk #Rcac84 #84rcac #Ratchadamnoencontemporaryartcenter #หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน



ข่าวสารอื่นๆ

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031