สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ เครือข่ายศิลปินในโครงการเงินอุดหนุนการพัฒนาและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปี 2564 ขับเคลื่อนกิจกรรมศิลปะร่วมสมัยผ่านรูปแบบออนไลน์ ขอเชิญชมกิจกรรมออนไลน์
#RcacPR #ประชาสัมพันธ์
#ข่าวประชาสัมพันธ์ “The Show Must Go On”
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ เครือข่ายศิลปินในโครงการเงินอุดหนุนการพัฒนาและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปี 2564
ขับเคลื่อนกิจกรรมศิลปะร่วมสมัยผ่านรูปแบบออนไลน์
มีให้ติดตามชมกันตลอดเดือนสิงหาคมนี้
ทั้งหมด 5 โครงการ ได้แก่
1. โครงการ Feel the space การแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย ในโครงการมหกรรมวัฒนธรรมและศิลปะนานาชาติ : Galleries Night 2021
โดยสองศิลปินศิลปาธร ได้แก่ นายวรรณศักดิ์ ศิริหล้า (ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี 2563) และนายมานพ มีจำรัส (ศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดง ปี 2548)
ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการผสมผสานอย่างสร้างสรรค์ในการทำงานของศาสตร์ต่างๆ ทั้งการแสดง ดนตรี และวรรณกรรม จัดเต็มครบรส รูปแบบการแสดง
เป็นการแสดงเดี่ยว จากหนังสือ ราโชมอน : เรื่องสั้น “ศพในดงพงไผ่และกลุ่มต้นซีดาร์ (ฉบับคำให้การ)” ของ ริอุโนะสุเกะ อากูตาคาวา สำนวนแปลโดย ฉุน ประภาวิวัฒน์
***ติดตามชมได้ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
ผ่านช่องทาง Facebook Live สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง https://www.facebook.com/wannasak.sirilar และ สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ https://www.facebook.com/caswu/
2. โครงการศิลปินซ่อมสร้างสังคม 21 ปีสินสมุทรร้องทุกข์ โดยอาจารย์ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง (ศิลปินศิลปาธร 2552 และศิลปินแห่งชาติ 2562) ในสถานการณ์โควิด และวาระ 21 ปี สินสมุทรร้องทุกข์นี้ ครูช่าง ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง จึงจะใช้โอกาสนี้ซ่อมสร้างสังคม เชื่อมโยงรอยต่อของยุคสมัยและช่องว่างระหว่างวัย โดยใช้ตัวละคร “สินสมุทร” และสร้างละคร “สินสมุทรร้องทุกข์ “ ในรูปแบบ Theatre Movie ละครเวทีดิจิตอล
นอกจากนี้จะเชิญชวนศิลปินร่วมสมัยท่านอื่นๆ มาร่วมสร้างงานกัน ขณะเดียวกัน ก็จะจัดสรร งานชิ้นนี้ ให้เป็นผลงานในรูปแบบนิทรรศการมีชีวิตชิ้นแรก สำหรับโครงการจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์ละครร่วมสมัยขนาดเล็ก ณ ชุมชนและบ้านเรียนละครมรดกใหม่ ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง ปทุมธานี โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานระหว่างวันที่ 25 กรกฏาคม – 15 กันยายน 2564 โดยมีการสร้างผลงาน 2 ลักษณะได้แก่ ชิ้นที่ 1 สร้างละครเวทีดิจิตอล “สินสมุทรร้องทุกข์” กำกับโดย ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง บันทึกภาพเบื้องหลัง บันทึกงานแสดงสด ตัดต่อ สมบูรณ์ เป็นผลงานดิจิตอล
และชิ้นที่ 2 หนังแรงบันดาลใจจาก “สินสมุทรร้องทุกข์” เขียนบท โดย สุทธากร สันติธวัช กำกับภาพ โดยสุทัศน์ อินทรานุปกรณ์ โดยเล่าถึงสินสมุทรในอีกรูปแบบหนึ่ง
โดยนำผลงานทั้งสองชิ้น มาแสดงเพื่อทดลองเปิดโครงการ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ละครร่วมสมัย ณ มรดกใหม่ คลองหก พร้อมทั้งนำเสนองานบางส่วนแบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ ในลักษณะของการอ่านบท ทีเซอร์ และแรงบันดาลใจของศิลปินกับตัวละครชื่อสินสมุทร ใน “สินสมุทรร้องทุกข์”
3. โครงการวาดฝัน ปันสุข ศิลปะร่วมสมัยเพื่อคนพิการ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์วิทยา พลวิฑูรย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 20 และ 23 สิงหาคม 2564 เพื่อให้นักเรียนพิการโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ จำนวน 15 คน ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกับศิลปินร่วมสมัยล้านนา จำนวน 7 คน โดยการปฏิบัติการ Art Workshop แบบ Online เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยต้นแบบโปสการ์ด และภาพผลงานศิลปะ จำนวน 24 ผลงาน จะนำเผยแพร่สู่สาธารณชน ทางออนไลน์ ผ่านสื่อดิจิทัลต่างๆ ของทางโรงเรียน เพื่อให้เกิดสุนทรียภาพและความสุขขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจของนักเรียนโรงเรียนศรีสังวาลย์ ให้สามารถพัฒนาศักยภาพและเพิ่มพูนทักษะทางสังคม และเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพได้ต่อไปในอนาคต
4. โครงการละครเวทีออนไลน์ ของนายดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ (ศิลปินศิลปาธร สาขาการแสดง ปี 2562) เรื่อง “สมหมายกับสายสมรและคำวิงวอนต่อโควิดสิบเก้า” ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานละครออนไลน์ที่สะท้อนปัญหาชีวิตและสังคมในช่วงวิกฤตการณ์ การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเรื่องราวของ “สมหมาย” หนุ่มฟรีแลนซ์ในวงการบันเทิง และ “สายสมร” อาจารย์สาว (แสดงโดย สุมณฑา สวนผลรัตน์ ศิลปินศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2564) ที่ตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่แพร่เข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดความเจ็บป่วยต่อตัวเองและสังคม รวมทั้งสร้างความเสียหายและความหายนะเป็นลูกโซ่ ในขณะเดียวกันทั้งรัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ได้ดำเนินการป้องกันด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การล็อกดาวน์ในที่สุด…”
โดยมีความมุ่งหวังที่จะใช้ศิลปะการแสดงสื่อแนวคิดและวิธีการในการปรับตัวในการรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการระบาดของ โควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งสร้างจิตสำนึกต่อความสำคัญในการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนตระหนักถึงสังคมส่วนรวม ในรูปแบบศิลปะการแสดงออนไลน์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ป้องกันภัยจากโรคระบาด
ทั้งนี้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ดำเนินการถ่ายทำภายใต้ระบบ Physical Distancing โดยรักษาระยะห่างในการทำงานพร้อมทั้งปฏิบัติการตามกฎของกระทรวงสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด
กำหนดการเผยแพร่ละครออนไลน์ “สมหมายกับสายสมรและคำวิงวอนต่อโควิดสิบเก้า”
ในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 เวลา 12.00 น.
ทาง Facebook ของ Co With Us นอก-ใน การเดินทางระหว่างเรา, New Theatre Society, มูลนิธิละครไทย
5. โครงการสร้างสรรค์ผลงานดนตรี บทเพลงร่วมสมัยเพื่อสร้างฐานข้อมูลเพลง โดยความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี ผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ดร. ปวัตน์ชัย สุวรรณคังคะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์สากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ
ดร. ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
และ ดร.อาศิษฐ์ เกตุจันทรา อาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันประพันธ์เพลง จำนวน 15 บทเพลง ความยาวบทเพลงละ 1-2 นาที เพื่อพัฒนาเป็นฐานข้อมูลเพลง (database) ที่เป็น sound library ดนตรี บทเพลงของไทย เผยแพร่ให้นักพัฒนา นักสร้างสรรค์ต่าง ๆ สามารถนำไปต่อยอด สร้างสรรค์ผลงานในสาขาของตนเพิ่มเติมได้ เช่น กิจกรรมประชุม สัมมนา งานอีเวนต์ต่าง ๆ ในลักษณะออนไลน์ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องลิขสิทธิ์
สามารถติดตามและดาวน์โหลดได้ทางเว็บไซต์สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ปลายเดือนสิงหาคม 2564 นี้
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก #สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
#Rcacfromhome
#Rcacbkk #Rcac #Rcac84 #84rcac #Ratchadamnoencontemporaryartcenter #หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน