วันวิสาขบูชา วันพุธที่ 26 พฤษภาคม 2564
วันวิสาขบูชา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
ตรงกับวันพุธที่ 26 พฤษภาคม 2564
วิสาขบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของโลก
“วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทั้งยังเป็นวันสำคัญสากลตามมติเห็นชอบของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542
“วิสาขบูชา” ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ความสำคัญของ วันวิสาขบูชา คือ การรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ทั้ง 3 เหตุการณ์ ได้แก่
1.วันประสูตรของพระพุทธเจ้า โดยพระนางสิริมหามายาได้มีพระประสูติกาลเจ้าชายสิทธัตถะ ณ รอยต่อระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และเทวหะ ในคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
2. ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นอรหันตพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ณ ริ่มฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประเทศมคธ (ที่ตั้งพุทธคยาในปัจจุบัน) ภายหลังการออกผนวชได้ 6 ปี ทรงบรรลุเห็นการเกิดและการดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย และทรงค้นพบหลักธรรมความจริงในการกำจัดกิเลส คือ อริยสัจ 4 ได้แก่ 1.ทุกข์ สภาพที่ทนได้ยาก 2.สมุทัย เหตุแห่งการเกิดทุกข์ 3.นิโรธ การดับทุกข์ 4.มรรค สาเหตุของการเกิดทุกข์ 8 ประการ
3.ทรงปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ขณะทรงประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี ทรงประชวรขณะเดินทางไปยังเมืองกุสินารา ได้ทรงประทับ ณ ป่าสาละ ก่อนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานพระองค์ได้กล่าวปัจฉิมโอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ที่มาเฝ้าว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
“วิสาขบูชาในประเทศไทย เริ่มขึ้นครั้งแรกในสมัยสุโขทัย โดยได้มีการบันทึกเอาไว้ในหนังสือ นางนพมาศ สรุปใจความได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ”
ปัจจุบันกิจกรรมในวันวิสาขบูชาของชาวพุทธในประเทศไทยแบ่งเป็น 3 พิธี ดังนี้
1. พิธีหลวง (พระราชพิธี) 2. พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชน) และ 3.พิธีสงฆ์ โดยช่วงเช้าของวันวิสาขบูชาพุทธศาสนิกชนจะร่วมกันทำบุญตักบาตร ในช่วงบ่าย ฟังเทศน์ฟังธรรม และเข้าวัดเวียนเทียนรอบอุโบสถในช่วงค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระกรุณา พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีต่อพระพุทธศาสนา
แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีนี้ มหาเถรสมาคม (มส.) จึงได้มีมติให้งดจัดงานวันวิสาขบูชา ประจำปี 2564 ณ พุทธมณฑล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่การจัดงานที่วัดให้ปฏิบัติตามมาตรการของแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด
“ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ”
“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”
ขอบคุณภาพจาก pixabayและข้อมูลจาก
https://www.dra.go.th/th/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%8A%E0%B8%B2.html
https://www.dailynews.co.th/education/842966
ขอขอบคุณ เฟซบุ๊ก สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย