เด่น อยู่ประเสริฐ
เด่น อยู่ประเสริฐ
รางวัลศิลปาธร : สาขาดนตรี
ประวัติศิลปิน
เด่น อยู่ประเสริฐ ศิลปินศิลปาธร สาขาดนตรี ประจำปี พ.ศ. 2552 ผู้มีบทบาทในวงวิชาการและวงการดนตรีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นักดนตรีแจ๊ส นักประพันธ์เพลง วาทยกร นักวิชาการ ตลอดจนผู้บริหารการศึกษากับตำแหน่งปัจจุบัน คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ถึงแม้ว่าเขาจะมีบทบาทที่แตกต่างหลากหลาย หากแต่ความสามารถที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์คืองานดนตรีแจ๊ส ที่ได้รับการยอมรับทั้งในวงการดนตรีไทยและต่างประเทศ
เด่นเริ่มสนใจดนตรีตั้งแต่วัยเด็กด้วยการสนับสนุนของบิดามารดาที่ส่งเขาเข้าเรียนดนตรีที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ และเมื่อศึกษาอยู่ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เด่นได้เข้าร่วมชุมนุมดนตรีและร่วมวงดุริยางค์ของโรงเรียน ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาเลือกทางสายดนตรี คือการไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนสมัยเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ Interlake High School ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วได้เข้าร่วมกิจกรรมกับวงดนตรีของโรงเรียนที่มีทั้งวงแจ๊สบิ๊กแบนด์ วงออร์เคสตรา ซิมโฟนิกแบนด์ และวงนักร้องประสานเสียง
ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถนับเป็นหน่วยกิตของการเรียนในระบบได้ ต่อมาเด่น จึงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาการแสดงเปียโนแจ๊ส วิทยาลัยศิลปะคอร์นิช (Jazz Piano Performance, Cornish College of the Arts, USA) ปริญญาโท สาขาการแสดงดนตรีแจ๊ส มหาวิทยาลัยนอร์ทเทกซัส (Jazz Piano Performance, University of North Texas, USA) และปริญญาเอก สาขาการประพันธ์เพลงและการสอนดนตรีแจ๊ส มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นโคโลราโด (Jazz Pedagogy and Composition, University of Northern Colorado, USA) โดย เด่น อยู่ประเสริฐ นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกทางด้านดนตรีแจ๊ส
สำหรับรูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีของเด่นมีทั้งการแสดงดนตรีการประพันธ์เพลง และการเรียบเรียงเสียงประสาน โดยเด่นได้ร่วมแสดงดนตรีกับนักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียง เช่น เดวิด ลิปแมน (Devid Liebman) นิโคลัส เพตัน (Nicholas Payton) มาเรีย ชไนเดอร์ (Maria Schneider) บอบ บรุคเมเยอร์ (Bob Brookmeyer) เดโบรา บราวน์ (Deborah Brown) เคนนี เวียเลอร์ (Kenny Wheeler) ไมค์ เสติร์น (Mike Stern) และ คริส มิน โดกี (Chris Minh Doky) เป็นต้น ซึ่งมีการแสดงดนตรีแจ๊สในเทศกาลดนตรีนานาชาติต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น การแสดงดนตรีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531 ได้รับรางวัล นักเปียโนยอดเยี่ยม (Outstanding Piano Sololist Award) ณ เทศกาลดนตรีแจ๊สวิทยาลัยเมืองซานดิเอโก (San Diego City College Jazz Festival, USA) พ.ศ. 2537 แสดงคอนเสิร์ต Solo Piano Recital ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2544 แสดงคอนเสิร์ต Denny and Friends Jazz Concert I
ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 แสดงดนตรีแจ๊สร่วมกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (BSO) ในคอนเสิร์ต คีตราชนิพนธ์ ดนตรีในดวงใจ(Homage to His Majesty: Love Light in Thais’ Heart-Royal Compositions of His Majesty the King) และแสดงเปียโนบทเพลง “Rhapsody in Blue” ผลงานการประพันธ์ของ George Gershwin ร่วมกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (BSO) พ.ศ. 2551 แสดงคอนเสิร์ต Denny and Friends Jazz Concert V: next GENeration ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และได้รับเชิญจากกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน แสดงดนตรีในเทศกาลดนตรีแจ๊สไทจง ครั้งที่ 6 (Taichung Jazz Festival 2008) พ.ศ. 2552 แสดงคอนเสิร์ต Denny Euprasert Trio featuring Joris Teepe and Steve Altenberg ณ Prince Claus Conservatoire, Hanze University, Groningen ประเทศ เนเธอร์แลนด์ พ.ศ. 2553 คอนเสิร์ต Jazz Under the Stars ณ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และล่าสุด พ.ศ. 2557 แสดงเปียโนร่วมกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ (BSO) ในคอนเสิร์ตคีตาศิลปาธร ณ โรงละครแห่งชาติ
สำหรับงานประพันธ์เพลงและเรียบเรียงเสียงประสาน มีผลงานสำหรับวงดนตรีแจ๊ส วงออร์เคสตรา วงเชมเบอร์ และบทเพลงสำหรับเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น พ.ศ. 2534 ออกผลงานเพลงอัลบั้มแรก Denny Euprasert Trio “Extemporization” พ.ศ. 2542 อัลบั้มเพลง “The Music of His MajestyKing Bhumibol Adulyadej” พ.ศ. 2547 แสดงบทประพันธ์เพลง คอนแชร์โตสำหรับเปียโนและวงออร์เคสตรา (Concerto for Piano and Orchestra) ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และ Montana State University, Bozeman, Montana, USA ผลงานแสดงโดย MSU Symphony Orchestra พ.ศ. 2550
บทประพันธ์เพลง “Duet for Clarinet and Piano” แสดงในงาน Thailand International Composition Festival 2007 พ.ศ. 2551 บทประพันธ์เพลง “Generatrix” และ “Overseas Adventure Travel” แสดง ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และ Prince Claus Conservatoire เนเธอร์แลนด์ (พ.ศ.2552) รวมถึงอัลบั้ม “Masterpiece” อัสนี-วสันต์ ซึ่งได้รับรางวัล คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 6 สาขาเพลงบรรเลงยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังมี อัลบั้ม “Denny Euprasert Trio featuring Benny Golson and Joris Teepe” (พ.ศ. 2554) บทประพันธ์เพลง “Trane-ing” “When Autumn Comes” และ “American Standards” (พ.ศ. 2555) และล่าสุดกับบทประพันธ์เพลง “The Rising Sun” (พ.ศ. 2556) เป็นต้น
นอกจากบทบาทนักดนตรีและนักประพันธ์เพลงที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เด่น อยู่ประเสริฐ ยังได้ทำหน้าที่ในการเป็นผู้กำกับดนตรีและวาทยกรในงานแสดงครั้งสำคัญ เช่น ปี พ.ศ. 2550 อำนวยเพลงและกำกับดนตรีในพิธีเปิด-ปิด การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน 2007 ครั้งที่ 24 (Universiade Bangkok 2007) พ.ศ. 2556 อำนวยเพลงวงแจ๊สออร์เคสตราแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต ณ China Jazz Education Festival, Shanghai Conservatory of Music สาธารณรัฐประชาชนจีนพ.ศ. 2557 ทำหน้าที่วาทยกรรับเชิญให้กับวงร่วมสมัยบิ๊กแบนด์ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยและ Stellar Jam Festival ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน เด่นยังทำหน้าที่ผู้อำนวยเพลงให้กับวงแจ๊สออร์เคสตราแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตอีกด้วย
จากประสบการณ์ทางดนตรีที่ เด่น อยู่ประเสริฐ สั่งสมมาเป็นระยะเวลา 20 กว่าปี ทำให้เขาได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ ทั้งรางวัลหลุยส์อาร์มสตรอง (Louis Armstrong Jazz Award) รางวัลนักเปียโนยอดเยี่ยม (Outstanding Piano Soloist Awards) รางวัลนักดนตรียอดเยี่ยม (Outstanding Musicianship Awards) รางวัลการประพันธ์เพลงเดล ไดคินส์ (Dale Dykins Composition Award) และรางวัลดาวน์บีทสำหรับวงดนตรียอดเยี่ยม (Down Beat Award for Outstanding Performance) เป็นต้น ซึ่งจากบทบาทต่างๆ ที่เขาได้ถ่ายทอดความรู้ทางดนตรีให้แก่ศิษย์ ตลอดจนการสร้างสรรค์ประพันธ์บทเพลงและแสดงออกในฐานะนักดนตรี ทำให้ดนตรีเชิงศิลปะของ เด่น อยู่ประเสริฐ แสดงความไพเราะ สะท้อนแง่คิด ทั้งแสดงความเป็นไปของสภาพความรู้สึกและความเป็นไปของสังคมได้อย่างลึกซึ้ง