Facebook Logo

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

อภิชาติพงศ์

วีระเศรษฐกุล

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

รางวัลศิลปาธร : สาขาภาพยนตร์

ประวัติศิลปิน

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2513 ที่กรุงเทพมหานคร แต่ไปเติบโตที่จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากทั้งบิดามารดา รับราชการอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2537 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท
ศิลปกรรมศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาภาพยนตร์ จากสถาบันศิลปะชิคาโก (Art Institute of Chicago)

ในปี พ.ศ. 2540 ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2537 – 2540 ที่เขาศึกษาอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก (the School of Art Institute of Chicago) อภิชาตพงศ์ มีโอกาสผลิตภาพยนตร์ทดลองและวิดีโอขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น 0116643225059 ในปี พ.ศ. 2537, Kitchen and Bedroom ในปี พ.ศ. 2537, Like the Relentless Fury of the Pounding Waves ในปี พ.ศ. 2538, Third world ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งผลงานในช่วงนี้เป็นการสร้างงานศิลปะที่ใช้สื่อภาพยนตร์เป็นเครื่องมือหลัก

หลังจากเดินทางกลับมายังประเทศไทย อภิชาติพงศ์ ได้ก่อตั้ง บริษัท Kick the Machine ขึ้นในปี พ.ศ. 2542 เพื่อใช้เป็นสตูดิโอทำงานศิลปะ และผลิตผลงานทางด้านภาพยนตร์ ภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของเขา ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon) ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2543 นั้น เป็นภาพยนตร์ที่สร้างต่อเนื่องจากวิทยานิพนธ์ของอภิชาติพงศ์ เมื่อครั้งศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นบันทึกเรื่องเล่าปากต่อปากแบบลูกโซ่ของชาวบ้าน ไล่เรียงจากภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย ลงเรื่อยไปจนจบที่ภาคใต้ จังหวัดกระบี่ ชาวบ้านจะแต่งเรื่องเล่าของตัวเอง และเมื่อทีมถ่ายทำเดินทางไปอีกจังหวัดก็จะส่งต่อเรื่องเล่านั้นให้คนอีกจังหวัดได้แต่งเรื่องเล่านั้นต่อ จนเมื่อการบันทึกถ่ายทำสิ้นสุดลงที่ภาคใต้ เรื่องราวทั้งหมดถูกนำมาเรียบเรียงให้นักแสดงสมัครเล่นแสดงอีกที โดยถ่ายทำกันที่อยุธยา แล้วตัดต่อสลับกับสารคดีที่เป็นบันทึกการถ่ายทำการเล่าเรื่องของชาวบ้านจากจังหวัดต่างๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความกำกวมในตัวมันเองจนยากจะแยกออกว่าเป็นภาพยนตร์สารคดี หรือเรื่องแต่ง หรือว่าสารคดีเทียม เนื่องจากทุกอย่างถูกผสมปนเปจนเป็นเนื้อเดียว ภาพยนตร์เรื่องนี้อำนวยการสร้างโดยกฤติยา กาวีวงศ์ และ ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล

สุดเสน่หา (Blissfully Yours) เป็นภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องที่สองของ อภิชาติพงศ์ ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2545 เขาเริ่มต้นความคิดภาพยนตร์เรื่องนี้หลังจากได้เห็นการจับกุมแรงงานต่างด้าววัยรุ่นหญิงชาวพม่าที่สวนสัตว์ดุสิตระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ ดอกฟ้าในมือมาร ภาพยนตร์เรื่องนี้อภิชาตพงศ์ นำเสนอเรื่องราวของคนชายขอบอย่างแรงงานชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสาวไทยขายแรงงานในโรงงาน หญิงชาวบ้านที่สติไม่ค่อยดี ซึ่งเรื่องราวช่วงแรกของภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของตัวละครที่ตกอยู่ภายใต้โครงสร้างรัฐไทยที่ควบคุมคนเหล่านี้เอาไว้ ในขณะที่ภาคหลังของภาพยนตร์เป็นเรื่องราวของตัวละครที่พยายามหลีกหนีออกจากโครงสร้างทางการเมืองในชีวิตชั่วคราวด้วยการไปพักผ่อนในป่า แต่ตัวละครหลักจริงๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ พระอาทิตย์แสงที่ส่องไปกระทบตัวละคร และอีกตัวละครหลักก็คือป่าที่ปกคลุมห่อหุ้มและควบคุมตัวละครเอาไว้ ภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา ออกฉายรอบปฐมทัศน์ที่ประเทศฝรั่งเศสในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี พ.ศ. 2545 และได้รับรางวัล Un Certain Regard ถูกจัดเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของคานส์ โดยนิตยสาร Le Cahiers du Cinema ปี พ.ศ. 2547 ภาพยนตร์ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Golden Alexander จากเทศกาลภาพยนตร์เทสซาโลนิกิ ครั้งที่ 43 ที่ประเทศกรีซ และได้รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น, เทศกาลภาพยนตร์ที่รอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเทศกาลภาพยนตร์ที่บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา

หัวใจทรนง (The Adventure of Iron Pussy) เป็นภาพยนตร์แนวแอ็คชั่นย้อนยุค ซึ่งเป็นการทำหน้ากำกับและเขียนบท โดย อภิชาติพงศ์ ร่วมกับศิลปินไมเคิล เชาวนาศัย ซึ่งรับหน้าที่นำแสดงด้วย หัวใจทรนง เป็นภาพยนตร์แอ็คชั่นย้อนยุคที่ต้องการบรรยากาศยุคเก่าของภาพยนตร์ไทย และที่สำคัญคือ การใช้ตัวเอกเป็นชายแต่งเป็นหญิง โดยมี เพชรา เชาวราษฎร์เป็นต้นแบบ ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตัลวิดีโอ เนื่องจากโครงการเริ่มต้นจากการผลิตเพื่อป้อนตลาดภาพยนตร์วีซีดี แต่ตอนหลังถูกนำเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ อีกทั้งยังมีการใช้เสียงพากย์ของนักพากย์อาชีพ คือ รอง เค้ามูลคดี เบญญาภา เลิศสุริยา และทีมพากษ์ ให้มีลักษณะคล้ายกับละครวิทยุ ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว เมื่อปี พ.ศ. 2546 และเข้าฉายในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2547 และได้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน

ภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 4 ของอภิชาติพงศ์ เขาแบ่งเรื่องราวของภาพยนตร์ออกเป็นสองภาค ภาคแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักของชายหนุ่มสองคน ระหว่างลูกจ้างโรงน้ำแข็งกับพลทหารหนุ่ม ส่วนภาคหลังเป็นนิทานพื้นบ้านเหนือจริง เกี่ยวกับการตามล่าระหว่าง นายพรานกับเสือสมิงที่กินคนและมีวิญญาณของเหยื่อที่ถูกกินสิงอยู่ ความกดดันจากการทำงานของอภิชาติพงศ์ สะท้อนออกมาเป็นด้านมืดของภาพยนตร์เรื่องนี้ รวมไปถึงการแบ่งระหว่างโลกแห่งความเป็นจริง และโลกสมมุติที่เกี่ยวข้องกับวิญญาณ ภาพยนตร์เรื่องได้รับการสนับสนุนจาก Fonds Sud Cinema, CNC, กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงต่างประเทศของประเทศฝรั่งเศส รวมไปถึง Montecinema Verita Foundation, The Swiss Agency for Development and Co-operation ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สัตว์ประหลาด! ได้รับรางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ในปี พ.ศ. 2547 Grand Prize จาก Filmex ประเทศญี่ปุ่น ในปีเดียวกัน

แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) เป็นภาพยนตร์ที่อภิชาติพงศ์ได้รับเชิญเป็นหนึ่งในผู้กำกับ 6 คนจากทั่วโลก เพื่อผลิตภาพยนตร์ให้กับ เทศกาล “นิว คราวน์ โฮป” ในวาระเฉลิมฉลองวันครบรอบวันเกิด 250 ปีของ โวล์ฟกังอะมาเดอุส โมซาร์ท คีตกวีชาวออสเตรีย ในปี พ.ศ. 2549 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากทางการกรุงเวียนนา อภิชาติพงศ์ ได้นำเอาเรื่องราวของพ่อแม่เขา ในช่วงเวลาก่อนจะแต่งงานกัน มาเป็นตัวเล่าเรื่อง รวมไปถึงความทรงจำในช่วงต่างๆ ของบุคคลทั้งสอง และเรื่องนี้มีการใช้สถาปัตยกรรมในอดีตและปัจุบันมาเป็นตัวช่วยให้ผู้ชมได้จินตนาการถึงโลกอนาคต แสงศตวรรษ ออกฉายรอบปฐมทัศน์เดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2549 ในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส และได้รับรางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม จากงานเอเชียน ฟิล์มส์ อวอร์ดส์ ที่ฮ่องกง และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Lotus du Meilleur Film ในงานเทศกาลภาพยนตร์ Deauville Asian Film Festival ครั้งที่ 9 ประเทศฝรั่งเศส ปี พ.ศ. 2550

ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) ภาพยนตร์ลำดับที่ 5 ของอภิชาติพงศ์ นั้นเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2551 อภิชาติพงศ์ได้เจอหนังสือเกี่ยวกับคนระลึกชาติ ซึ่งเขียนโดย พระศรีปริยัติเวที แห่งวัดป่าแสงอรุณ จังหวัดขอนแก่น เขาได้เขียนบทภาพยนตร์เกี่ยวกับลุงบุญมีจากหนังสือเล่มนี้ แล้วเริ่มทำการเก็บข้อมูล โดยลงพื้นที่หมู่บ้านหลายแห่งในภาคอีสาน อภิชาติพงศ์ ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับชาวบ้านที่มีประสบการณ์ตรงกับเหตุการณ์รวมไปถึงหมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม ช่วงที่รัฐทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปสู่ ผลงานศิลปะชุด “ดึกดำบรรพ์” (Primitive) รวมถึงภาพยนตร์สั้นอีก 2 เรื่อง ได้แก่ “จดหมายถึงลุงบุญมี” และ “ผีนาบัว” ก่อนที่จะกลายเป็นภาพยนตร์ลุงบุญมีระลึกชาติ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์การระลึกชาติของนายบุญมีที่เคยผ่านการเกิดตายมาหลายภพหลายชาติ ก่อนจะมาเกิดเป็นคนในภพชาตินี้ อภิชาติพงศ์ได้ใช้หนังสือเรื่องนี้เป็นแกนหลักในการวางโครงสร้างของภาพยนตร์ ส่วนรายละเอียดเรื่องราวในภาพยนตร์เป็นเรื่องที่เขาแต่งขึ้นเอง ภาพยนตร์ลุงบุญมีระลึกชาติ ได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 63 ในปี พ.ศ. 2553 นับเป็นภาพยนตร์จากประเทศไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลสูงสุดจากเทศกาลนี้

ปี พ.ศ. 2555 อภิชาติพงศ์ ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Mekong Hotel ซึ่งจัดฉายเป็นภาพยนตร์พิเศษในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ในปีเดียวกัน และปัจจุบันอภิชาติพงศ์กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการถ่ายภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่มีชื่อว่า Cemetery of Kings

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031