สมชาย จงแสง
Somchai Jongsaeng
รางวัลศิลปาธร : สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์
ประวัติศิลปิน
สถาปนิก (Architects) คือ ผู้สร้างสรรค์ที่อยู่อาศัยหรือสิ่งปลูกสร้างที่เรียกกันว่าสถาปัตยกรรม (Architecture) อันถือเป็นแขนงหนึ่งของผลงานทางด้านศิลปกรรม ซึ่งสถาปนิกมีสถานะเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างพื้นที่สมมุติเพื่อตอบสนองต่อประโยชน์ใช้สอยของมนุษย์ให้ตรงกับวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งในทางเดียวกัน การออกแบบสถาปัตยกรรมก็ยังถือว่าเป็นกระบวนการสร้างความหมายเฉพาะอันเกี่ยวโยงกับภูมิทัศน์ (Landscape) อื่นๆ ด้วย เพื่อเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในระดับองค์รวมในขณะที่ มัณฑนากร (Decorator) คือ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการออกแบบตกแต่งพื้นที่ภายในสถาปัตยกรรม (Interior Design) ให้มากกว่าการเป็นพื้นที่ว่างที่ปราศจากความหมาย การออกแบบโดยมัณฑนากรถือเป็นการจัดการพื้นที่ว่างให้กลายเป็นพื้นที่เฉพาะและสร้างความหมายใหม่ตามหน้าที่และเหตุปัจจัยของการใช้สอย มัณฑนากรช่วยเหนี่ยวรั้งให้สิ่งต่างๆ ที่ประกอบขึ้นในพื้นที่นั้นๆ เชื่อมโยงกับมิติทางสุนทรียะและช่วยโอบอุ้มความรู้สึกของผู้ที่ก้าวเข้าไปสู่พื้นที่ดังกล่าวด้วยความเข้าใจในความหมายและสถานะ เพราะฉะนั้นพื้นที่เฉพาะที่ มัณฑนากรได้ออกแบบสร้างสรรค์ขึ้นจึงไม่เพียงเป็นสิ่งที่สะท้อนความสำคัญของพื้นที่นั้นๆ แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการสร้างประสบการณ์ที่ดีงามให้กับผู้ที่ก้าวเข้ามาในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วยในสังคมไทยร่วมสมัย สถานะของสถาปนิกมีความสำคัญควบคู่ไปกับมัณฑนากรในเรื่องของการสร้างพื้นที่เฉพาะให้เกิดความหมายมากกว่าเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างธรรมดา หรืออาจจะกล่าวได้ว่าสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมและรวมไปถึงการจัดการในบริบทของภูมิทัศน์ภายนอกอันเปรียบเสมือนร่างกายของมนุษย์ มัณฑนากรคือผู้ที่มีบทบาทในการตกแต่งพื้นที่ภายในสถาปัตยกรรมอันเปรียบเสมือนอวัยวะภายในหรืออาจรวมไปถึงความหมายของจิตวิญญาณของมนุษย์ด้วย เพราะฉะนั้นในการออกแบบสิ่งปลูกสร้างจำนวนไม่น้อย จำเป็นอย่างยิ่งในการใช้องค์ความรู้ทั้งในสถานะของสถาปนิกและสถานะของมัณฑนากรเป็นปัจจัยสำคัญในการเนรมิตแรงบันดาลใจและแนวความคิดที่เป็นนามธรรมให้ปรากฏเป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ที่สมบูรณ์ที่สุดสมชาย จงแสง คือ นักออกแบบที่มีผลงานเป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นสถาปัตยกรรมกับมัณฑนศิลป์โดดเด่นเป็นอย่างมาก เขาจบการศึกษาทางด้านการออกแบบตกแต่งภายในจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและก้าวเข้าสู่วงการการออกแบบมัณฑนศิลป์นับจากสำเร็จการศึกษา โดยที่ผลงานของเขาไม่เพียงเป็นการจัดการตกแต่งพื้นที่ภายในเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการออกแบบในทางสถาปัตยกรรมอีกด้วย ผลงานที่ปรากฏจึงเป็นสิ่งที่สะท้อนความรู้ความเข้าใจในสัมพันธภาพระหว่างภายในและภายนอกของสถาปัตยกรรมในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ จนได้รับการเชิดชูเกียรติ ได้รับรางวัลศิลปาธร ประจำปีพ.ศ. 2552 สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ที่จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและภายในของ สมชาย จงแสงได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่ประกอบไปด้วยความเข้าใจในสัมพันธภาพของสรรพสิ่งและการประสานซึ่งความแตกต่างเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นเอกภาพ ปรัชญาของความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งก็ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตแบบตะวันออกที่เป็นการดำรงอยู่ของวิถีชีวิตที่ไม่ทำลายล้างหรือขัดแย้งกับความผันแปรของธรรมชาติ แต่มุ่งที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติหรือบริบทแวดล้อมด้วยความเข้าใจในพื้นที่นั้นๆ ตามเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันกระบวนการคิดในการออกแบบงานสร้างสรรค์ของสมชาย จงแสง จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การออกแบบเพื่อประโยชน์ใช้สอยหรือแม้แต่ด้านความสวยงามเท่านั้น แต่ยังต่อยอดแนวความคิดไปถึงรากฐานของความเข้าใจในคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละวัสดุที่นำมาประกอบสร้างและรวมไปถึงคุณลักษณะพิเศษของแต่ละพื้นที่ ซึ่งความโดดเด่นอันสำคัญก็คือการสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาโดยไม่มีความขัดแย้งในตัวเองแม้จะเต็มไปด้วยบริบทอันหลากหลาย หรืออาจจะกล่าวได้ว่าแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างสถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและการตกแต่งภายในตัวอย่างเช่น ผลงานการออกแบบ Bangkok Minimal อาคาร Town in Town (พ.ศ. 2537-2540) เป็นการนำเสนอการอยู่อาศัยในแบบ One Space Living ในเมืองใหญ่ที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด แสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าของการใช้พื้นที่ได้มากและมีความซับซ้อน ภายใต้รูปแบบที่เรียบง่ายต่อแนวคิดแบบ Minimalism โดยมีการสร้างความต่อเนื่องของพื้นที่ต่อพื้นที่ด้วยรูปแบบปิด-เปิดของผนัง (Partition)เช่นเดียวกันกับการออกแบบ Bangkok Trendy อาคาร Supreme Condominium (พ.ศ. 2538-2540) ก็ยังคงแนวความคิดที่นำเสนอความเรียบง่าย เพื่อตอบสนองการอยู่อาศัยแบบสมัยใหม่ภายในพื้นที่ขนาดเล็กที่เต็มไปด้วยการใช้งานที่มากประโยชน์ใช้สอยแบบยืดหยุ่นของพื้น โดยการปรับเปลี่ยนระนาบของพื้นและผนังบางส่วนในขณะที่ Baan Thonglor (พ.ศ. 2540-2545) เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ต้องการความยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย ภายใต้บรรยากาศอยู่อาศัยที่อบอุ่นด้วยวิธีการซ้อนปริมาตรของสถาปัตยกรรมเข้ากับพื้นที่ภายในเพื่อสร้างรูปแบการอยู่อาศัยที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น รูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะของบันไดขึ้นและลงด้วยการซ้อนปริมาตรของสถาปัตยกรรมเข้าไปในพื้นที่ภายในเพื่อลดขนาดของพื้นที่ให้เล็ก กระชับ และอบอุ่นซึ่งคล้ายกับงานออกแบบที่ Okanurak House (Fold From Within)(พ.ศ. 2545-2550) ก็ได้นำเสนอรูปแบบการอยู่อาศัยที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นองค์รวมทางสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งพื้นที่ภายในและภายนอก โดยที่ต้องการจะบอกเล่าเรื่องราวของครัวขยายแบบเอเชีย พร้อมตอบโจทย์การใช้งานของคน 3 รุ่น แบบวิถีชีวิตสมัยใหม่ขณะที่การนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัยขององค์กรทางกฎหมายอย่างงานออกแบบที่ Siam Premiere International (Cultural Skin) Central World กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2547-2548) ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมีศักยภาพและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่ควบคู่ไปกับโลกสมัยใหม่ภายใต้วัฒนธรรมขององค์กรเมื่อมาพิจารณางานออกแบบที่ Casa De Umbrella: ChiangmaiHighland จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2550-2555) ก็จะพบว่ามีการใช้วัสดุธรรมชาติผสมผสานกับเทคโนโลยีการก่อสร้างของระบบอุตสาหกรรม อันเป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมของแรงงานชุมชน ผ่านการสร้างประสบการณ์ในรูปแบบที่เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสถาปัตยกรรมภายนอกและภายในในส่วนของอาคาร Canteen Osotspa รามคำแหง (พ.ศ. 2550-2553)ก็เป็นการนำเสนอสถาปัตยกรรมที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ด้วยรูปแบบอาคารที่โดดเด่นภายใต้หลังคาแบบ Green Roof ที่ช่วยสร้างความสดชื่นและสบายตาแก่อาคารโดยรอบ ทั้งช่วยลดความร้อนให้กับพื้นที่ใช้งานด้านล่างและที่จอดรถด้านล่างอาคารอีกด้วยในทางเดียวกัน การออกแบบอาคาร Conference Center จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (พ.ศ. 2552-2556) ก็เป็นการนำเสนอสถาปัตยกรรมที่ให้ประสบการณ์ที่รับรู้ได้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของภายนอกและภายใน รวมถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นอยู่กลางน้ำและสะพานทางเชื่อมที่มีลักษณะเฉพาะตามบริบทของพื้นที่
จากตัวอย่างผลงานของ สมชาย จงแสง ที่กล่าวมาแล้ว ย่อมทำให้เห็นได้ถึงความพยายามที่จะออกแบบสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอกโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลดช่องว่างระหว่างผู้ใช้สอยกับพื้นที่ว่าง ถือเป็นการเปลี่ยนสถานะของผู้ใช้สอยพื้นที่อันเสมือนเป็นสิ่งแปลกปลอมไปสู่การเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพื้นที่ทั้งหมดด้วยความรู้สึกที่อบอุ่น เพราะฉะนั้นแล้วผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมรวมไปถึงการออกแบบตกแต่งพื้นที่ภายในของเขา ย่อมเป็นสิ่งที่สื่อสะท้อนตัวตนของเขาในด้านของความเข้าใจในการที่จะผสานความแตกต่างอันหลากหลาย สู่การจัดการพื้นที่ว่างให้เป็นระบบตามบริบทแวดล้อม จนเกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์อันทรงคุณค่าในระดับสูงอย่างยิ่ง