Facebook Logo

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

วิศิษฏ์

ศาสนเที่ยง

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง

รางวัลศิลปาธร : สาขาภาพยนตร์

ประวัติศิลปิน

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2507 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานด้านโฆษณา ในตำแหน่งครีเอทีฟมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันทำงานเป็นผู้กำกับโฆษณาให้กับบริษัท เดอะฟิล์ม แฟคตอรี่ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เริ่มต้นทำงานในวงการภาพยนตร์ ด้วยการเขียนบทภาพยนตร์ เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมืองในปี พ.ศ. 2540 และ นางนาก ในปี พ.ศ. 2542 ให้กับ นนทรีย์ นิมิบุตร

ภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าทะลายโจร คือ ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ วิศิษฏ์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2543 ฟ้าทะลายโจรเป็นภาพยนตร์ที่หยิบยกเอาฉากและตัวละครที่มีสีสันอันฉูดฉาดของภาพยนตร์ไทยย้อนยุคมาใช้ จนสามารถสร้างบรรยากาศเหนือจริงขึ้นมา ประสานเข้ากับการเดินเรื่องแบบภาพยนตร์คาวบอย รวมไปถึงการนำเพลงไทยในช่วง พ.ศ. 2480-2510 มาใช้ประกอบในภาพยนตร์ ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ ที่กล่าวมาของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นมาให้กับภาพยนตร์ของวิศิษฏ์ และเป็นแนวทางในการทำภาพยนตร์เรื่องต่อๆ มาของเขา ประกอบกับช่วงเวลานั้นกระแสปรัชญาและศิลปะแบบหลังสมัยใหม่กำลังมีอิทธิพลไปทั่วโลก การหยิบเอาลักษณะเฉพาะของภาพยนตร์ย้อนยุคมาทำให้ร่วมสมัยในภาพยนตร์ของวิศิษฏ์ทำให้ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากนักวิจารณ์ทั่วโลก ซึ่งภาพยนตร์ของวิศิษฏ์ยังถูกนำไปวิจารณ์ในวงการศิลปะร่วมสมัยของโลกในเวลานั้นด้วย ภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าทะลายโจร ได้รับรางวัล Dragons & Tigers award for young cinema จากงานดรากอนส์ แอนด์ ไทเกอร์ ซีรีส์ (Dragons & Tigers Series) ในเทศกาลแวนคูเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม เฟสติวัล (Vancouver International Film Festival) ประเทศแคนาดา ในปี พ.ศ. 2543 (2000) และเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ปี พ.ศ. 2552 (2009) ในสายอันเซอร์เทิล รีการ์ต (Un Certain Regards)

หมานคร เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องที่ 2 ของ วิศิษฏ์ ซึ่งดัดแปลงจากนิยายขนาดสั้นของ “คอยนุช” (ศิริพรรณ เตชจินดาวงศ์)ภาพยนตร์แนว Magical Realism เรื่องราวความรักของหนุ่มสาวจากบ้านนอกที่มาดำเนินอยู่ในเมืองใหญ่ ที่ขับเน้นวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายอย่างของไทยที่ วิศิษฏ์ มองว่ามันเป็น Magical Realism ในตัวมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่เขานำมันมาขับเน้นให้ มันชัดขึ้น ผ่านเพลงและตัวละครอันแปลกประหลาด รวมไปถึงเหตุการณ์เหนือจริงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตาหมีพูดได้ ยายที่มีลำตัวเป็นจิ้งจก ฝนที่ตกลงมาเป็นหมวกกันน็อค กองขยะขวดพลาสติกที่สูงเท่าตึก 40-50 ชั้น ฯลฯ และที่สำคัญวิศิษฏ์ ยังคงใช้สีสันที่จัดจ้านแบบที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาภาพยนตร์เรื่อง หมานคร ถูกนำออกฉายในปี พ.ศ. 2547 อำนวยการสร้างโดยไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ภาพยนตร์หมานคร ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ ประจำปี พ.ศ.2547 (2004) ในสาขาการสร้างภาพพิเศษยอดเยี่ยม ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศทั่วโลกในปีเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลคาโน (58th Locarno International Film Festival) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, เทศกาลโตรอนโต อินเตอร์เนชั่น ฟิล์ม เฟสติวัล (Toronto International Film Festival) และงานดรากอนส์ แอนด์ ไทเกอร์ ซีรีส์ (Dragons & Tigers Series) ในเทศกาลแวนคูเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม เฟสติวัล (Vancouver International Film Festival) ประเทศแคนาดา รวมถึงได้รับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับนานาชาติ อย่าง เทศกาลภาพยนตร์แฟนตาเซีย ครั้งที่ 10 (FANTASIA : NORTH AMERICA’S PREMIER GENRE FILM FESTIVAL) ที่ประเทศแคนาดา โดยได้รับรางวัลมหาชน Best Asian Film (Bronze Prize) และ Most Groundbreaking Film (Silver Prize) และในปีพ.ศ. 2547 (2004) หมานคร ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 10 ของภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลก จากนิตยสาร ไทม์แมกกาซีน

ภาพยนตร์เรื่องถัดมา เปนชู้กับผี วิศิษฏ์ได้หยิบยกเอาบทประพันธ์และภาพวาดของ เหม เวชกร มาใช้ในภาพยนตร์ของเขา ซึ่งเป็นบทประพันธ์เกี่ยวกับผีที่เขาเคยอ่านในวัยเด็ก บทประพันธ์ของ เหม เวชกร นั้นถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาที่อิทธิพลจากสื่อชนิดอื่น อย่างเช่น ทีวีและภาพยนตร์ จากฮอลลีวูดยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก อีกทั้งผีในบทประพันธ์ของ เหม เวชกร ก็เป็นผีโบราณซึ่งแตกต่างไปจากภาพยนตร์ผีร่วมสมัยในปัจจุบัน ที่โดยมากได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ต่างประเทศ วิศิษฏ์ หันกลับไปเลือกใช้ข้อมูลผีโบราณย้อนยุคของไทยในอดีต แบบเดียวกับที่เขาทำเรื่องฟ้าทะลายโจร จากภาพยนตร์ย้อนยุคแล้วนำมาทำให้ร่วมสมัยขึ้น ภาพและสีสันที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ วิศิษฏ์ ใช้ภาพวาดของ เหม เวชกรเป็นแนวทางในการถ่ายทำและจัดแสงในฉากต่างๆ ในส่วนของบทภาพยนตร์นั้นวิศิษฏ์ได้มอบหมายให้ ก้องเกียรติ โขมศิริ มาทำหน้าที่แทน ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในปี พ.ศ. 2549 อำนวยการสร้างโดย บริษัท ไฟว์สตาร์

ภาพยนตร์ลำดับที่ 4 ของ วิศิษฏ์ คือ อินทรีแดง บทประพันธ์ซูเปอร์ฮีโร่ไทย โดย เศก ดุสิต ที่เขียนขึ้นระหว่าง ปี พ.ศ. 2498 – พ.ศ. 2513 บทประพันธ์เรื่องอินทรีแดงเคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2502 โดยมีดารานำแสดง คือ มิตร ชัยบัญชา ซึ่งถูกนำเสนอในชื่อ “จ้าวนักเลง” และก็มีการสร้างภาคต่อขึ้นมาอีกหลายครั้ง โดยผู้กำกับภาพยนตร์อีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ส.อาสนจินดา ฉลอง ภักดีวิจิตร วิน วันชัย โครงการภาพยนตร์ อินทรีแดงมีการเตรียมการสร้างอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นโครงการที่ วิศิษฏ์ คิดดำเนินงานมาตั้งแต่ตอนถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าทะลายโจร ซึ่งในตอนแรก วิศิษฏ์ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องบทกับ นนทรีย์ นิมิบุตร และษรัณยู จิระลักษม์ เพื่อที่จะนำเอาฉากบางส่วนที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าทะลายโจร มาดัดแปลงปรับใช้กับอินทรีแดงด้วย เนื่องจากเป็นหนังย้อนยุคที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณในการถ่ายทำ

ภาพยนตร์ อินทรีแดง ที่กำกับโดยวิศิษฏ์ ได้วางแนวทางการใช้ภาพและจัดแสงให้แตกต่างไปจากภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้านี้ของเขาที่ใช้สีสันฉูดฉาดจัดจ้าน เนื่องจากวิศิษฏ์ มีความคิดอยากทำภาพยนตร์ในแนวทางแบบบริษัทการ์ตูนมาร์เวล ที่ตัวละครและฉากเหตุการณ์มีความสมจริงสมจัง ซึ่งเป็นแนวคิดต่อเนื่องของวิศิษฏ์ ที่เคยคิดจะทำโครงการ อินทรีแดง ฉบับหนังสือการ์ตูนขึ้นมา ด้วยความเชี่ยวชาญในการเขียนสตอรี่บอร์ดของ วิศิษฏ์ ผลงานและสีสันที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่องของเขาก็เกิดจากการตีความซ้ำจากภาพวาดสตอรี่บอร์ดของเขาเอง รวมไปถึงอิทธิพล รูปแบบสีสัน เค้าโครงเรื่องของการ์ตูนไทยในแต่ละยุคสมัย ที่เขาหยิบยกเอามาใช้อีกด้วย อินทรีแดงเข้าฉายในปี พ.ศ. 2553 อำนวยการสร้างโดย ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ร่วมกับ บริษัทกันตนา ภายใต้การดูแลของบริษัทโลคอล คัลเลอร์ ใช้ทุนในการสร้าง 150 ล้านบาท

วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ได้รับรางวัลศิลปาธร ในสาขาภาพยนตร์ ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2549 จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031