พิเชษฐ กลั่นชื่น
Pichet Klunchun
รางวัลศิลปาธร : สาขาศิลปะการแสดง
ประวัติศิลปิน
ผู้คนส่วนใหญ่ตีความหมายของคำว่า อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย คือการทำนุบำรุง รักษาให้คงอยู่ในรูปแบบเดิมให้มากที่สุด คำว่าอนุรักษ์ของสังคมไทยจึงมีลักษณะหยุดนิ่งหรือเปลี่ยนแปลงน้อย ตราบเท่าที่เราจะยื้อเวลาได้ ซึ่งขัดกับความเป็นจริงของเวลาในธรรมชาติ แม้แต่วัฒนธรรมไทยที่เราพยายามรักษา หากสืบย้อนกลับไปก็จะพบว่าได้รับอิทธิพลมาจากชาติอื่น จนยากจะหาจุดตั้งต้นของความเป็นไทย ฉะนั้นการอนุรักษ์คือการศึกษาเพื่อผลิตซ้ำ (Reproduction) เพียงเท่านั้นหรือ พิเชษฐ กลั่นชื่น นักเต้นรำร่วมสมัยยืนยันคำตอบของแนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยเป็นเวลามากกว่า 20 ปี ด้วยการศึกษาเพื่อการต่อยอดองค์ความรู้และเชิดชูรูปแบบเดิม มุ่งเน้นการนำองค์ความรู้ทางด้านนาฏศิลป์ไทยมาปรับใช้ในการแสดง สร้างความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมใหม่และวัฒนธรรมเก่าให้มีชีวิตในเวลาปัจจุบัน จนเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติพิเชษฐเริ่มต้นเส้นทางนาฏศิลป์ไทยด้วยการฝึกโขนจากครูชัยยศ คุ้มมณีครูโขนอาวุโสที่มีชื่อเสียงของกรมศิลปากร จากการเคี่ยวกรำฝึกฝนอย่างจริงจังทำให้เขามีพื้นฐานการรำโขนในระดับเชี่ยวชาญ สามารถเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีสาขานาฏศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงก้าวสู่การเป็นศิลปินด้านการแสดงมืออาชีพในฐานะ นักเต้นรำร่วมสมัย ออกแบบการแสดงด้วยการรวมท่วงท่าซึ่งเป็นแก่นของศิลปะการร่ายรำแบบโขนดั้งเดิมมาประยุกต์เข้ากับการเต้นรำร่วมสมัย (Contemporary Dance) โดยมุ่งเน้นแสดงภาษาทางร่างกายที่บอกเล่าถึงความคิด ความรู้สึก เรื่องราว และเหตุการณ์ในสังคมปัจจุบันตามทัศนคติของศิลปินผลงานของพิเชษฐในระยะแรกเป็นการแสดงที่เผยให้เห็นแก่นของการร่ายรำโดยปอกเปลือกและเครื่องทรงของชุดที่ใส่ในการแสดงตามขนบเดิม เผยให้เห็นเนื้อแท้และการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายที่สื่อสารด้วยภาษาท่าทางอย่างนาฏศิลป์ไทย เช่น ในชุดการแสดงชื่อ ผมเป็นยักษ์ (I am a demon) เป็นผลงานที่นำภาษาท่าทางการเคลื่อนไหวของผู้แสดงโขนในบทยักษ์ ที่ปราศจากเสื้อผ้าและเศียรอย่างชุดโขน มีเพียงกางเกงหรือโจงกระเบนเท่านั้น เผยให้เห็นความงามของการทำงานของกล้ามเนื้อในขณะร่ายรำ เปิดประสบการณ์การเข้าถึงตัวตนของผู้แสดงและภาษาท่าทางของการรำโขน ผู้ชมสามารถมองเห็น เข้าใจอาการ และอารมณ์ความรู้สึกจากการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการตีความถึงยักษ์ในการรำโขนด้วยภาษาร่างกายมิใช่เสื้อผ้าเครื่องทรง หัวโขน หรือสัญลักษณ์อื่นใด เนื้อแท้ที่แสดงให้เห็นความมีชีวิตของผู้แสดงถูกถ่ายทอดออกมา ทำให้เราสัมผัสถึงอารมณ์ของผู้แสดงซึ่งต่างไปจากการดูโขนในรูปแบบเดิม สร้างคำถามโต้ตอบกับพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับการแสดงโขนตามประสบการณ์ของผู้ชมแต่ละระดับร่างกายที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ ทำให้พิเชษฐสร้างผลงานการแสดงอันสุดคาดเดา หลายชุดการแสดง เล่าประเด็นเกี่ยวกับสังคมไทยในเวลาปัจจุบัน การวิพากษ์สถานการณ์การเมือง ตั้งคำถามกับสังคม ล้อไปกับประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวตามบทประพันธ์ที่นิยมแสดงตามขนบเดิม เช่น พระคเณศร์เสียงา (Ganesh) และ นิชินสกี้ สยาม (Nijinsaky Siam) ผู้ชมจะเห็นทั้งพื้นฐานการร่ายรำที่งามอย่างนาฏศิลป์ไทยและมิติใหม่ของภาษาท่าทางที่เชื่อมโยงกับเวลาปัจจุบัน ทั้งการประยุกต์เข้ากับศาสตร์การแสดงอื่นอย่างบัลเล่ต์ และใช้สื่อมัลติมีเดียเป็นส่วนช่วยในการเล่าเรื่อง เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับภาษาร่างกายเข้าด้วยกัน อรรถรสอีกอย่างหนึ่งในผลงานคือ การออกแบบชุดที่ใส่ในการแสดงที่ลดทอนการประดับตกแต่งให้มีรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย มีทั้งการออกแบบเศียรยักษ์ในรูปแบบและเทคนิคใหม่หรือการนำวัสดุเหลือใช้มาประกอบการแสดงในผลงานชุด Recycle ที่ต้องการแสดงถึงความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องนำเอาประสบการณ์ ประเพณี และวัฒนธรรมมาปรับให้เข้ากับการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบัน หลังจากนั้น ยังมีชุดการแสดงต่อเนื่องอีกหลายชุดที่ได้นำความรู้จากการวิเคราะห์รูปแบบการเคลื่อนไหวของการรำไทยพัฒนาควบคู่ไปกับแนวคิดเกี่ยวกับ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองแนวทางการอนุรักษ์และเผยแพร่นาฏศิลป์ไทยของพิเชษฐประสบความสำเร็จอย่างมาก เมื่อผลงานที่มุ่งเน้นการตั้งคำถามเพื่อสื่อสารในการทำความเข้าใจระหว่างความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นประเด็นการศึกษาสำคัญที่ผู้คนในโลกร่วมสมัยในวิถีของนักเต้นรำพิเชษฐร่วมกับศิลปินชาวฝรั่งเศส Jérôme Bel ใช้ภาษาแห่งการสร้างสรรค์ตั้งคำถามตอบโต้ซึ่งกันและกัน ระหว่างศิลปินทั้งสอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองที่แตกต่างกันทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม แสดงให้ผู้คนในโลกได้ตระหนักถึงพื้นฐานทางความคิด ความเข้าใจ ด้วยบทสนทนาและภาษาร่างกาย ผ่านชุดการแสดงที่มีรูปแบบเรียบง่ายที่ชื่อ พิเชษฐ กลั่นชื่นและฉัน (Pichet Klunchun and myself)ซึ่งทำการแสดงในหลายประเทศทั่วโลก และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จนได้รับรางวัล ‘Routes’ ECF Princess Margriet Award for Cultural Diversity จาก European Cultural Foundation ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้ศิลปินหรือนักคิดที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหลากหลายวัฒนธรรมเพื่อช่วยสร้างให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างผู้ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ในปี พ.ศ. 2551 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล พลเมืองคนกล้า จาก สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2552 รางวัล John D. Rockeller 3rd Award ในปี พ.ศ. 2556 และในปี พ.ศ. 2557 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สาขาศิลปะและอักษรศาสตร์ ชั้นอัศวิน (Chevalier of the French Arts and Literature Order) จากรัฐบาลฝรั่งเศสสำหรับผลงานสรรค์สร้าง ซึ่งส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปะทั้งในฝรั่งเศส ประเทศไทยและทั่วโลกด้วยปณิธานที่ต้องการผลักดันให้เกิดอาชีพศิลปินทางด้านนาฏศิลป์จึงก่อตั้ง พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพานีและโรงละครช้างขึ้น เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยืนยันถึงการสร้างรากฐานให้อาชีพศิลปินเป็นรูปร่างขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ นอกจากการแสดงผลงานทั่วโลกอย่างต่อเนื่องแล้ว พิเชษฐยังคงยืนหยัดอยู่บนเส้นทางของนักเต้นร่วมสมัยความคู่ไปกับการรักษา ศึกษาและเผยแพร่องค์ความรู้ทางนาฏศิลป์ไทยอย่างสร้างสรรค์และสง่างาม ในบางโอกาสเขายังได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์ในการสอนนักเต้นร่วมสมัยในประเทศต่างๆ และให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการวิจัยเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทยเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ได้ในกระแสของโลกศิลปะร่วมสมัยที่ไม่หยุดนิ่ง