Facebook Logo

ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร

ณรงค์ฤทธิ์

ธรรมบุตร

ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร

รางวัลศิลปาธร : สาขาดนตรี

ประวัติศิลปิน

หากจะกล่าวถึงบทประพันธ์เพลงร่วมสมัยของนักประพันธ์เพลงชาวไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีเสน่ห์และความไพเราะของเสียงดนตรี ทั้งยังสร้างจินตนาการให้กับผู้ฟังได้หลากหลาย ผู้ฟังชาวไทยคงไม่ลืมนึกถึง ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร นักประพันธ์เพลงคลาสสิกร่วมสมัยซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในวงการดนตรีคลาสสิกของไทยและนานาชาติ ด้วยความสามารถในการประพันธ์เพลงสำหรับเปียโนครั้งแรกด้วยวัยเพียง 13 ปี ที่แม้ขณะนั้นเขาจะยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับทฤษฎี ดนตรี แต่กลับมีความมุ่งมั่นและจินตนาการที่จะเดินตามฝันในการเป็น “นักประพันธ์เพลงคลาสสิก” อย่างเปี่ยมล้น

ด้วยแรงบันดาลใจจากการชมเบื้องหลังการฝึกซ้อมการแสดงดนตรีในรายการ ดนตรีวิจารณ์ ของผู้ช่วยศาสตราจารย์พันเอกชูชาติ พิทักษากร ทำให้ ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ในวัย 13 ปี มุ่งมั่นที่จะเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกประกอบกับการที่ผู้ปกครองให้การสนับสนุนทางดนตรี ณรงค์ฤทธิ์จึงเข้าศึกษา ต่อระดับปริญญาตรี สาขาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลังจากนั้นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาการแสดงเปียโน มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (Piano Performance, Northwestern University, USA) และ สาขาการประพันธ์เพลง มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน สเตท (Music Composition, Michigan State University, USA) รวมถึงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาการประพันธ์เพลง จากมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน สเตท สหรัฐอเมริกา ด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นณรงค์ฤทธิ์จึงได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนการประพันธ์เพลงที่เมืองไทย โดยเริ่มบทบาททางวิชาการในการเป็นอาจารย์ประจำสาขาดุริยางคศิลป์ ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงการเป็นวิทยากรรับเชิญด้านการประพันธ์เพลงและการสร้างงานวิจัยทางดนตรีให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังสร้างสรรค์ตำราทางวิชาการเกี่ยวกับการประพันธ์เพลงได้แก่ หนังสือ “การประพันธ์เพลงร่วมสมัย” ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2552 และหนังสือ “อรรถาธิบายและบทวิเคราะห์: บทเพลงที่ประพันธ์โดย ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร” ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2553 ตลอดจนการเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดบทประพันธ์เพลงทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

บทประพันธ์เพลงของณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ได้รับการยกย่องว่าเป็นบทเพลงคลาสสิกขนาดใหญ่ที่มีความละเอียดซับซ้อนและต้องใช้ความสามารถขั้นสูงในการประพันธ์ โดยเอกลักษณ์สำคัญของบทประพันธ์เพลงคือการผสมผสานลักษณะอันโดดเด่นของดนตรีไทยเข้ากับดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยตะวันตกได้อย่างลงตัว โดยผลงานประพันธ์เพลงของเขาสะท้อนลักษณะความเป็นไทยอย่างชัดเจนไม่ว่าจาก แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ การเลือกวัตถุดิบของเสียงดนตรี เช่น โครงสร้างเพลง การประสานเสียง จังหวะ ทำนอง เทคนิคของเครื่องดนตรี หรือ กระทั่งชื่อเพลง ที่บรรจุรสนิยมแบบไทยไว้อย่างมีเอกลักษณ์ จากประสบการณ์และผลงานการประพันธ์เพลงกว่า 26 ปี ทำให้ณรงค์ฤทธิ์ได้รับการยอมรับในฐานะนักประพันธ์เพลงคลาสสิกร่วมสมัยที่โดดเด่นของไทย บทประพันธ์เพลงชิ้นสำคัญ ได้แก่ “ซินโฟเนียจักรี” (Sinfonia Chakri) แต่งใน พ.ศ. 2539 เนื่องในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยนำบทเพลงพระราชนิพนธ์มาเป็นพื้นฐานในการประพันธ์ “คอนแชร์โตมหาราชา” (Concerto Maharaja) แต่งในปี พ.ศ. 2542 สำหรับระนาดเอกและวงออร์เคสตรา ที่เกิดขึ้นจากการนำบทเพลงไทยจาก 4 ภาค มาผสานกับดนตรีคอนแชร์โตตะวันตก เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ “คอนแชร์โตสังคีตมงคล สำหรบไวโอลินและวงออรเคสตรา” (Concerto Sankitamankala for Violin and Orchestra) คอนแชร์โตสำหรับไวโอลินเดี่ยวกับวงดุริยางค์ขนาดใหญ่บทแรกที่ประพันธ์โดยนักประพันธ์เพลงชาวไทย แต่งในปี พ.ศ. 2550 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “แสงดาว” (Starlight) สำหรับวงเครื่องสายและ “ถวายปฏิญญา” (Pledge to HRH Princess Galayani) สำหรับผู้บรรยายนักร้องโซปราโน นักร้องประสานเสียง และวงออร์เคสตรา แต่งในปี พ.ศ. 2551 เพื่อร่วมไว้อาลัยการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ “ซิมโฟนีปิยสยามินทร์” (Symphony Piyasayamintra) แต่งในปี พ.ศ. 2553 สำหรับผู้บรรยาย นักร้องโซปราโน นักร้องประสานเสียงและวงออร์เคสตรา เนื่องในวาระครบ 1 ศตวรรษ แห่งการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีบทประพันธ์เพลง

ล่าสดุ ในปี พ.ศ. 2557 “ซมิ โฟนปี ระสานเสยี งสำเนียงระฆัง” (The Harmony of Chimes) เป็นดนตรีเชิงพรรณาที่แต่งขึ้นเพื่อนำเครื่องดนตรีของ 5 ประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ซอง เกาะ (Saung Guak) ของพม่าโบนัง (Bonang) ของอินโดนีเซีย ปี่ในของไทย กุลินตัง (Kulintang) ของฟิลิปปินส์ และดัน เบา (Dan Bao) ของเวียดนาม มาบรรเลงร่วมกับวงซิมโฟนีออร์เคสตราขนาดมาตรฐาน โดยชื่อบทเพลงมีแนวคิดมาจาก เอกภาพในการใช้ “ระฆัง” เครื่องดนตรีของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แม้เนื้อหาของดนตรีในแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน แต่กลับมีเสียงระฆังที่เป็นเสมือนจุดเชื่อมโยงวัฒนธรรมดนตรีในภูมิภาคให้ประสานสัมพันธ์กัน สำหรับผลงานดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยชิ้นใหม่นี้ได้รับการบรรเลงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีออร์เคสตรากรุงเทพ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ผลงานการประพันธ์เพลงของณรงค์ฤทธิ์ที่ผ่านมา ได้รับการบรรเลงโดยวงออร์เคสตราชั้นนำในประเทศแถบยุโรป เอเชีย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียอย่างสม่ำเสมอ เช่น The Civic Orchestra of Chicago, The Japan Shinsei Symphony Orchestra, Hiroshima Symphony Orchestra, Melbourne Symphony Orchestra, Verdehr Trio (USA), IRCAM Ensemble (Paris), Ensemble Stella Nova (Tokyo), Ensemble Kochi, New York New Music Ensemble, Ensemble Intercontemporain (Paris) เป็นต้น ส่วนผลงานในประเทศไทยนั้นได้รับการบรรเลงโดย Bangkok Symphony Orchestra และ National Symphony Orchestra Of Thailand จากผลงานและประสบการณ์ต่างๆ ตลอดระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมา นับเป็นเครื่องยืนยันว่า ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร คือนักประพันธ์เพลงคลาสสิกร่วมสมัยที่นำแรงบันดาลใจและความเป็นไทยไปแสดงในเวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031