Facebook Logo

ชาติ กอบจิตติ

ชาติ กอบจิตติ

Chart Korbjitti

รางวัลศิลปาธร : สาขาวรรณศิลป์

ประวัติศิลปิน

ในยุคสมัยแห่งการพัฒนา ช่วงเวลาที่ความเจริญทางวัตถุแทรกซึมไปทั่วทุกพื้นที่ ภาพชีวิตเล็กๆ จากซอกมุมใดมุมหนึ่งของสังคมที่ใครหลายคนเห็นจนชินตาในชีวิตประจำวันและอาจไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก แต่สำหรับ ชาติ กอบจิตติ นักเขียนคนสำคัญแห่งโลกวรรณกรรมร่วมสมัยแล้ว แง่มุมของชีวิตเหล่านั้นถูกถ่ายทอดให้เห็นอย่างมีนัยยะสำคัญผ่านผลงานสร้างสรรค์ของเขาอยู่เสมอ ด้วยความละเมียดละไมในการเล่าเรื่องและชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ เขาสามารถสร้างมโนภาพของชีวิตสามัญชนธรรมดาอย่างชัดเจน สะท้อนความบกพร่องพิการของบรรทัดฐานสังคมในเวลาปัจจุบันได้อย่างถึงแก่นความจริง กระตุ้นเตือนให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถามถึงศีลธรรมและสามัญสำนึกของผู้คนในสังคม

ชาติ เกิดที่จังหวัดสมุทรสาคร ละแวกคลองสุนัขหอน ย้ายเข้ามาศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนปทุมคงคา กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2509 เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วได้สอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง ในสาขาภาพพิมพ์เขาได้เริ่มเดินทางบนเส้นทางนักเขียน และมีผลงานตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นผลงานเรื่องสั้นชื่อ “นักเรียนนักเลง” ตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ของโรงเรียนปทุมคงคา พ.ศ. 2512ต่อมาผลงานเรื่องสั้น “ผู้แพ้” ได้รับรางวัลช่อการะเกด ในปี พ.ศ. 2522 หลังจากนั้นได้ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนวนิยายและเรื่องสั้น ผลงานของเขายังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษาทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น และมาลายู

ผลงานวรรณกรรมของ ชาติ มุ่งแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพสังคม ความสัมพันธ์ระหว่ามนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับโลก ความแปลกแยก ความแตกต่างทางทัศนคติความคิดของชนชั้นปกครอง นายทุน และชาวบ้านทั่วไป เพื่อตั้งคำถามถึงเสรีภาพและคุณค่าความเป็นมนุษย์ผ่านภาพชีวิตชนบทและสามัญชนทั่วไปบนท้องถนน บุคคลหรือกลุ่มคนที่สังคมไม่สนใจเหลียวแล ถูกทิ้งขว้างแปลกแยกจากสังคมกระแสหลัก ภาพชีวิตที่เงียบเหงา อ่อนโรย ไร้ค่า ความยากไร้ทำให้ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่บางอย่างเขาต่อสู้ไม่ไหวและเอาชนะไม่ได้จนกลายเป็น “โศกนาฏกรรมของคนชายขอบ” ผลงานของเขาสร้างจินตภาพจากเรื่องของผู้คนในสังคมภายนอกนำไปสู่การปลุกเร้ากระตุ้นเตือนสำนึกนึกภายในของผู้อ่านอย่างแยบคาย ภาษาที่เขาใช้มักเป็นภาษาที่เรียบง่ายแต่แสดงอารมณ์ความรู้สึกลักษณะนิสัยของตัวละครอย่างชัดเจน

โศกนาฏกรรมในนวนิยายของชาติแจ่มชัดขึ้นเมื่อผลงานเรื่อง “จนตรอก” ตีพิมพ์ในปีพ.ศ. 2523 นำเสนอเรื่องราวชีวิตของคนที่ยากไร้ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งต้องเผชิญกับชะตากรรมอันหนักหน่วงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่พบทางออกของปัญหาจนกระทั่งเรื่องดำเนินไปจนจบสร้างความสะเทือนใจอย่างมากต่อผู้อ่านที่คาดหวังให้นวนิยายจบลงอย่างชอบธรรม หลังจากนั้นผลงานสร้างสรรค์ลำดับต่อมาได้ย้ำประเด็นความเศร้าสะเทือนใจอีกครั้งด้วยเรื่องราวความผิด ที่ “ฟัก” มิได้เป็นผู้ก่อแต่ถูกหยิบยื่นให้โดยสังคม ลุกลามไปจนถึงความสูญเสียชีวิต โดยที่ไม่ได้มีโอกาสแก้ต่างให้ตนเองสร้างความสะเทือนใจปลุกเร้าสามัญสำนึกให้ผู้อ่านด้วยสำนวนภาษาพูดที่เรียบง่ายแต่คำพูดเหล่านั้นกลับตั้งคำถามถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ต่อผู้อ่านอย่างซื่อตรงที่สุด ส่งผลให้วรรณกรรมเรื่อง “คำพิพากษา” ได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นแห่งชาติปี พ.ศ. 2524 และรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน(ซีไรต์) ในปี พ.ศ. 2525 ผลของปมปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำตัดสินของผู้อื่น ปลุกเร้าและกระตุ้นเตือนสำนึกทางสังคมของผู้อ่านในระดับลึก ส่งผลให้คำพิพากษาได้รับเสียงตอบรับอย่างยาวนาน ได้รับการตีพิมพ์มากกว่า 40 ครั้ง ถือเป็นนวนิยายที่ทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่ง ปลุกกระแสการวิจารณ์วรรณกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งยังเคยได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ ทำให้ชื่อของ ชาติ กอบจิตติเป็นที่รู้อย่างแพร่หลาย คุณภาพงานเขียนของเขาได้รับการยืนยันและย้ำเตือนอีกครั้งเมื่อนวนิยายเรื่อง “เวลา” ได้รับรางวัลซีไรต์ ในปี พ.ศ. 2537 โดยเนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้กำกับภาพยนตร์ ชีวิตของเขาเดียวดายและสิ้นหวัง เขาเลือกไปชมการแสดงละครเวทีที่ได้ชื่อว่าน่าเบื่อที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องราวของชีวิตในบ้านพักคนชราชาติใช้กลวิธีในการดำเนินเรื่องตามลำดับเวลาของการแสดงละครเวที และเรื่องทั้งหมดจบลงอย่างมีนัยยะทางปรัชญา ผลจากรางวัลครั้งนี้ทำให้ชาติเป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รับรางวัลซีไรต์ถึง 2 ครั้ง

บนเส้นทางการเป็นนักเขียนอาชีพ ชาติผลิตผลงานอันเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสามารถทางวรรณศิลป์อันโดดเด่น ทำให้ผลงานหลายชิ้นสร้างการสั่นสะเทือนต่อสังคมนักอ่านไม่น้อย นอกจากนี้ยังได้ตั้งสำนักพิมพ์เป็นของตนเองตามอุดมการณ์ที่วางไว้ โดยให้ชื่อว่า สำนักพิมพ์หอน ตามชื่อสถานที่เกิดของตน แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผลงานสร้างสรรค์ทั้งนวนิยายและเรื่องสั้นของเขาจะมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับนักเขียนคนอื่น แต่ผลงานทุกชิ้นเต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพทั้งด้านแนวคิดอันแสดงสำนึกเชิงสังคมและด้านวรรณศิลป์อันแสดงนวัตกรรมของการสร้างสรรค์ นอกจากการเขียนหนังสือแล้ว ชาติยังก่อตั้งโรงเรียนนักเขียน เพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้นักเขียนรุ่นหลังที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมของตนเอง โดยให้พักกินอยู่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและใช้เวลาในการสร้างสรรค์ผลงานตามที่ตนถนัด โดยขอความคิดเห็นแลกเปลี่ยนทัศนะวิจารณ์กับชาติ กอบจิตติ ได้ตลอดเวลา

ปัจจุบันชาติใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในบ้านพักอันสงบ เพื่ออุทิศเวลาทั้งหมดของชีวิตให้กับการเขียนหนังสือ เขาทำงานอย่างไม่เร่งร้อนเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เปี่ยมคุณภาพ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผลงานทั้งหมดของเขาเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่าการรอคอยนั้นคุ้มค่าเสมอ

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031