Facebook Logo

ชัยยุทธ โตสง่า

ชัยยุทธ โตสง่า

ชัยยุทธ โตสง่า

รางวัลศิลปาธร : สาขาดนตรี

ประวัติศิลปิน

ชัยยุทธ โตสง่า หรือ ป๋อม บอยไทย เกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรชายของครูดวงเนตร ดุริยะพันธ์ และครูสุพจน์ โตสง่า นักระนาดฝีมือดีผู้มีความสำคัญต่อวงการดนตรีไทยในอดีต ซึ่งจากความผูกพันและใกล้ชิดกับเครื่องดนตรีในวัยเด็กอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ‘ชัยยุทธ’ หรือ ‘ป๋อม’ เจริญรอยตามผู้เป็นพ่อและพี่ชายอย่าง ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า หรือที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีในชื่อ ขุนอิน ตัวละครจากภาพยนตร์เรื่องโหมโรง โดยเส้นทางสายดนตรีของชัยยุทธเริ่มต้นจากความสนใจการเล่นระนาด ตั้งแต่สมัยมัธยม ด้วยความที่เห็นว่าชัยยุทธมีความมุ่งมั่นตั้งใจกับเส้นทางดนตรี ผู้เป็นพ่อ (ครูสุพจน์ โตสง่า) จึงยอมสอนและถ่ายทอดเทคนิค

กระบวนการต่างๆ ให้ ต่อมาเขามีโอกาสเรียนรู้วิชาดนตรีไทยจากศิลปินและครูหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาการประพันธ์บทร้อยกรองกับครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ และ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศึกษาระนาดทุ้มกับครูสืบศักดิ์ ดุริยประณีต ศึกษาฆ้องวงใหญ่ไทย-มอญ กับครูธีระศักดิ์ ชุ่มชูศาสตร์ และศึกษาทางด้านการขับร้องเพลงไทยเดิมกับ ครูสีนาฏ (บรรจง) เสริมศิริ ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต นอกจากนี้ยังได้รับการถ่ายทอดวิชาดนตรีสากลจาก อ.บรูซ แกสตัน ซึ่งการสอนของครูแต่ละท่านต่างมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน เช่น วิธีการสอนของครูบุญยงค์ เกตุคง ผู้ก่อตั้งวงดนตรีฟองน้ำ จะเน้นไปที่เรื่องการใช้ทักษะเป็นหลัก ส่วนคุณพ่อสุพจน์จะถ่ายทอดความรู้และคำแนะนำต่างๆ จากนั้นจึงให้ชัยยุทธค้นหาแนวทางที่ถนัดด้วยตัวเอง

นอกจากความมุ่งมั่นตั้งใจที่เต็มเปี่ยม การฝึกซ้อมยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการพัฒนาฝีมือ ชัยยุทธใช้เวลาในแต่ละวันกับการซ้อมระนาดเป็นหลักเขาเริ่มรับงานโชว์ต่างๆ ซึ่งภายหลังจากสอบเข้าเรียนต่อที่คณะครุศาสตร์ สาขาดนตรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชัยยุทธกับเพื่อนๆ ได้ร่วมกันก่อตั้งวงบอยไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2536 จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2546 มีโอกาสได้เข้าไปคุยกับค่ายดนตรี แกรมมี่ (Grammy) จึงได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อวงมาเป็นบางกอกไซโลโฟน (BANGKOK XYLOPHONE) เพื่อความทันสมัยและสื่อความเป็นไทยมากขึ้นอีก 2 ปีต่อมาชัยยุทธได้ก่อตั้ง วงกำไล วงดนตรีหญิงล้วนร่วมสมัยขึ้น เพราะเห็นว่า

วงการดนตรีไทยน่าจะมีวงผู้หญิงมาเพิ่มสีสันบ้าง ชัยยุทธได้เข้ามารับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ดูแลจัดการวงนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งนอกจากเรื่องฝีมือแล้ว เขาได้คัดเลือกนักดนตรีที่มีบุคลิกดี เพื่อดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้ชมอีกทางหนึ่งด้วย

ในส่วนของรูปแบบของการแสดงดนตรีของชัยยุทธจะเน้นไปที่ดนตรีไทยในแบบประยุกต์ ผสมผสานดนตรี Pop Fusion Latin Jazz ซึ่งลักษณะวิธีการที่เขาใช้คือ การเอาดนตรีไทยดั้งเดิมมานำวงและนำวงดนตรีสากลเข้ามาเป็นส่วนประกอบเพลงใหมี้ความกลมกล่อมมากข้นึ นอกจากนี้ เสยี งระนาดที่บรรเลงโดยชัยยุทธ มีจังหวะสนุกและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่หากได้ฟังจะรับรู้ได้ทันทีว่าใครเป็นคนเล่นและด้วยลีลาท่าทางการเล่นระนาดที่มีทั้งแบบนั่งและยืน ทำให้การแสดงดนตรีของ ชัยยุทธ สร้างความสนุกสนานและความแปลกใหม่ให้กับวงการดนตรีไทย

ผลงานเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ชัยยุทธ คือ เพลง Andaman Sun, Crystal Island และ Siamese Samba เป็นต้น ชัยยุทธได้รับรางวัลศิลปาธรสาขาคีตศิลป์ ปี พ.ศ. 2553 ที่มอบโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยนอกจากนี้เขายังได้รับรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย เช่น รางวัลนักระนาดเอกยอดเยี่ยมจากเวทีประกวดวัดพระพิเรนทร์ (2533) รางวัลชนะเลิศแสงทิพย์ประลองปี่พาทย์ต่อหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (2537) รางวัลสีสันอวอร์ด (2537) สาขาบรรเลงเพลงยอดเยี่ยมในผลงานเพลง A Day On Sado Ireland (2539) รางวัลสีสันอวอร์ด สาขาเพลงบรรเลงยอดเยี่ยมในเพลง Tataku จากผลงานชุด Spicy Brazil (2544) เป็นต้น

เพลงส่วนใหญ่ที่แต่งโดย ป๋อม ชัยยุทธ ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลงไทยเดิม เพลงสากลที่นำมาทำใหม่หรือบางเพลงก็แต่งเนื้อร้องทำนองขึ้นมาเองซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพลงจังหวะเร็วยึดแนวละติน – อเมริกัน ที่ค่อนข้างแตกต่างกับแนวดนตรีไทยแบบสุดขั้ว ชัยยุทธมองว่า งานร่วมสมัยขึ้นอยู่กับรสนิยมความชอบ ของแต่ละบุคคล สำหรับเขาคือการนำเอาความต่างของสองแนวดนตรีมาปรับและประยุกต์เข้าด้วยกัน และนอกจากการประพันธ์เพลงและบรรเลงระนาดในงานแสดงต่างๆ ป๋อม ชัยยุทธ ยังนำวงของตัวเองเข้าร่วมกับงานการกุศลในรายการต่างๆ เช่นการเป็นผู้หาทุนค่าใช้จ่ายให้กับเวทีประชันปี่พาทย์ที่วัดพระพิเรนทร์ วรจักร เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสขึ้นแสดงฝีมือด้านดนตรีไทยบนเวทีเก่าแก่ของประเทศไทย, การนำวง Bangkok Xylophone และวงกำไล ร่วมแสดงในงานด้วยแสงแห่งรัก จัดโดยค่ายดนตรี แกรมมี่ เพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ (กุมภาพันธ์, 2547) ที่สวนลุมพินี, ประพันธ์เพลง พระบารมีปกเกล้า และบรรเลงร่วมกับวง Bangkok Xylophone ให้กับอัลบั้มเพลงรวมศิลปินของแอ๊ด คาราบาว (ยืนยง โอภากุล) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นต้น

เป้าหมายที่สูงสุดของการทำงาน สำหรับชัยยุทธ คือ การรักษาและจรรโลงดนตรีไทยให้คงอยู่ในสังคมต่อไป ปัจจุบันชัยยุทธมีอาชีพเป็นศิลปินอิสระเดินสายรับงานแสดงดนตรีในที่ต่างๆ และเปิดสอนดนตรีไทยให้กับผู้ที่สนใจ โดยกลุ่มคนที่เข้ามาเรียนกับชัยยุทธจะเป็นเยาวชนที่อยู่ช่วงวัยประถม เขามีศิษย์เอกอยู่หลายคนที่กำลังปลุกปั้นให้สืบทอดวงการดนตรีไทยในรุ่นต่อไป สิ่งที่ชัยยุทธ กำลังเป็นห่วงคือการขาดแคลนบุคลากรที่มีฝีมือ เพราะเด็กรุ่นใหม่บางคนยังไม่มีความอดทนมากพอในการทำตามความฝัน พอถึงจุดหนึ่งพวกเขาเหล่านั้นกลับทิ้งทักษะที่เคยเรียนมา แล้วหันไปศึกษาต่อในสายอื่นๆ แทน ในขณะนี้ชัยยุทธ

มีโปรเจกต์ใหม่ ซึ่งกำลังร่างโครงการที่เกี่ยวกับการใช้สำหรับการเรียนการสอน ในโรงเรียน คือ วิชา การฟังดนตรีไทย (Thai Music Listening) ชัยยุทธ คิดว่าระบบการศึกษาไทยควรจะให้ความสำคัญกับดนตรีไทยมากขึ้น เพราะเท่าที่เขาสังเกตเห็นคือ คนที่ฟังดนตรีไทยส่วนใหญ่คือคนที่เล่นหรืออยู่ในแวดวง ดนตรีไทยเพียงกลุ่มเดียว และจากประสบการณ์ที่ได้รับจากการแสดงดนตรีไทยในที่ต่างๆ คือ ผู้ชมที่ไม่ได้มีความซาบซึ้งกับศาสตร์ในแขนงนี้มากนัก เขาจะหยุดดูการแสดงเพียงไม่กี่นาทีแล้วก็เดินจากไป ดังนั้น หากมีการปรับประยุกต์

หลักสูตรวิชาการฟังดนตรี เข้าไปในแผนการเรียนการสอนของนักเรียนในแต่ละระดับชั้น อาจทำให้การฟังดนตรีไทยเข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปได้ง่ายขึ้น คล้ายกับการปลูกฝังในเรื่องการฟังให้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา ชัยยุทธ เชื่อว่าหากข้อเสนอนี้ได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เยาวชนรุ่นใหม่จะได้รับข้อมูลพื้นฐานในการฟังเกี่ยวกับดนตรีไทยในเรื่องต่างๆ ผ่านซีดีประกอบแผนการสอน ซึ่งเขาคิดว่าถ้าวิชานี้ได้รับการบรรจุในหลักสูตรจริงในอนาคตคงเกิดกลุ่มใหม่เพิ่มข อย่างแน่นอน นอกจากนี้ ชัยยุทธ ยังหันมาจับปากกาเขียนหนังสือเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของตนเองและนวนิยายที่เขาสนใจ ซึ่งคาดว่าในอนาคตคงจะออกเป็นหนังสือให้ได้อ่านกัน อย่างไรก็ตามสามารถติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหว งานแสดงหรือกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.facebook.com/pomboythai

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031