ชนประคัลภ์
จันทร์เรือง
Janaprakal Chandruang
รางวัลศิลปาธร : สาขาศิลปะการแสดง
ประวัติศิลปิน
ละคร คืออะไร? เราอาจนึกไปถึงพระนางสองคนกับเนื้อเรื่องที่คาดเดาได้ในจอความละเอียดสูง หรือการแสดงสดที่มีม่านฉากสีเข้มและพื้นยกระดับพร้อมแสง สี เสียง ตระการตา แต่มีชายคนหนึ่งที่ให้คำนิยมความหมายของ “ละคร” ได้เรียบง่ายและลึกซึ้งกว่าว่า “ที่ใดมีนักแสดง ที่ใดมีเรื่องราว และที่ใดมีคนดู หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่นั่นย่อมเป็นละคร” ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง หรือชื่อที่รู้จักกันดีในนาม “ครูช่าง” ครูผู้อุทิศตนให้แก่การแสดงอย่างจริงจังกว่า 30 ปี การทุ่มเทให้กับศาสตร์การละครและต่อยอดทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จึงทำให้ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินดีเด่น รางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ.2552
ชนประคัลภ์ หรือ ครูช่าง เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในฐานะนักแสดง ผู้กำกับ นักเขียนบทละคร และอาจารย์ผู้ฝึกสอนวิชาการ เส้นทางสายศิลปะการแสดงของชนประคัลภ์ จันทร์เรือง เรียกได้ว่าเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากชนประคัลภ์เกิดในครอบครัวของแวดวงนักดนตรีไทย เป็นบุตรของนายกุมุท จันทร์เรืองนักเสรีไทย และนางชัชวาล จันทร์เรือง บุตรสาวคนเล็กของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ด้วยเหตุนี้จึงคลุกคลีกับการเรียนรู้ระบบสำนัก ที่อยู่ร่วมกันฝากลูกฝากหลานมาเรียนดนตรี เมื่อโตขึ้นเดินทางไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนซานตา มาเรีย ไฮสคูล (Santa maria High School) รัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นี่เองที่ทำให้ศิลปินผู้นี้ค้นพบความมหัศจรรย์ของ ‘ละคร’ ความมีเสน่ห์เฉพาะตัว และการโต้ตอบปฏิกิริยาระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง จึงตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาการละคร เอกการเขียนบทละคร มหาวิทยาลัยมอนแทนา สหรัฐอเมริกา (University of Montana)
ในช่วงปี พ.ศ. 2524 – 2537 ครูช่างได้เข้าบรรจุเป็นอาจารย์ ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเอาประสบการณ์และความเข้าใจต่างๆ ที่ได้รับจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้กับการสอนศิลปะการละครในประเทศไทย จนเกิดแนวการสอนที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง นั่นคือการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมแบบไทยให้เข้ากับความทันสมัยแบบตะวันตก ร่วมกันทำละครเวทีกับภาควิชา กำกับการแสดง เขียนบท ทำสารคดี นำเสนอเรื่องราวโดยใช้หลักการปรัชญา ‘ทำไทยให้เป็นเทศ ทำเทศให้เป็นไทย’ เช่น หากเป็นวรรณกรรมตะวันตกจะปรับรูปแบบให้มีความเป็นไทย มีสาระเนื้อหาทางธรรมมากขึ้น แต่ถ้าเป็นวรรณกรรมไทยหรือเนื้อหาทางพุทธศาสนาจะทำให้ล้ำสมัย ปรับเนื้อหาให้มีความสากลมากขึ้นการนำเสนอเรื่องราวต่อสังคมผ่านศิลปะการแสดง ครูช่างได้สร้างลูกศิษย์และบุคลากรสำคัญที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ มากมาย ทั้งนักแสดง ผู้กำกับคนเขียนบท ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และอาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, นาคร ศิลาชัย, เกียรติศักดิ์ อุดมนาค, ศรัทธา ศรัทธาทิพย์,ยิ่งยศ ปัญญา เป็นต้น ทางด้านละครเวทีครูช่างรับบทบาทในฐานะนักแสดงและกำกับเองหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ‘คนดีที่เสฉวน’ ‘ราโชมอน’ ‘ขอรับฉัน’ ‘ลูกโป่ง’ และ ‘หญิงวิปลาส ณ ไชโยต์’ เป็นต้น
ละครเรื่องแรกที่กำกับคือเรื่อง ‘สังข์ทอง’ เขียนบทโดย คุณกุมุท จันทร์เรือง ผู้เป็นพ่อ ส่วนงานเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่องแรกคือ ‘เหรียญมรดก’ ค่ายดาราวีดิโอ ผลงานการกำกับละครโทรทัศน์เรื่อง ‘ระนาดเอก’ และบทบาทผู้กำกับสารคดี รายการ ‘ใฝ่เรียนใฝ่รู้ครูทำได้’ และ ‘บันทึกคนเดินทาง’ ศิลปินฝากผลงานไว้นับไม่ถ้วน ทำให้ชื่อของ ‘ครูช่าง’ เป็นที่รู้จักทั้งในแวดวงการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรมและวงการบันเทิงจุดพลิกผันได้เกิดขึ้น เมื่อชนประคัลภ์ตัดสินใจออกจากวงการละครเชิงพาณิชย์ และหันมาทำงานเพื่อการกุศลอย่างเต็มตัว จัดตั้งคณะละครของตนเองมีชื่อว่า “คณะละครมรดกใหม่” เริ่มต้นเส้นทางสายใหม่ที่เปี่ยมล้นไปด้วย‘การอุทิศ’ ด้วยความคิดที่ว่าละครเวทีมีประโยชน์ต่อระบบการศึกษา สังคมและวัฒนธรรม “ผมพร่ำสอนลูกศิษย์ทุกรุ่นว่า จบแล้วเอาความรู้ที่ได้ ทำคณะละครเลย เมืองไทยจะได้เจริญๆ พยายามพูดให้มากที่สุด เพราะอยากเห็นลูกศิษย์ทำละครเวทีเป็นอาชีพ ทีนี้พอคิดไปคิดมา ก็พบว่าตนเองเอาแต่บอกคนอื่นให้ทำ แต่ตัวเองไม่ทำ ผมก็เลยตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯมาตั้งคณะละครของตนเองชื่อ คณะละครมรดกใหม่” ทุกคนในคณะละครอยู่ด้วยจิตวิญญาณอย่างแท้จริง ไร้ซึ่งค่าตอบแทนใดๆ และคิดค่าเข้าชมเพียงรอบละ 10 บาท เท่านั้นในช่วงแรกคณะละครมรดกใหม่ได้จัดแสดงละครเวทีแนวคลาสสิกเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้แสดง เช่น อีดิปุส (Oedipus The King) วณิพกรำพึง(Tortilla Flat) อวสานเซลส์แมน (Death of a Salesman) และเฟาสต์ (Faust) เป็นต้น พัฒนาเป็นละครร่วมสมัยในรูปแบบ ‘ละครเวทีสัญจร’ หรือ ‘ละครทัวร์’อาทิ อาเพศกำสรวล สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน ระนาดเอก พระสุธน-มโนราห์เจ้าจันทร์ผมหอม เป็นต้น เป้าหมายหลักเพื่อต้องการเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยให้เข้าใจว่า ละครเวทีไม่ใช่เรื่องหวือหวาฟุ่มเฟือยหรือต้องใช้แสง สี เสียง มากมายตรงกันข้ามหัวใจของละครมีเพียงนักแสดง เรื่องราว และคนดูเพียงเท่านั้นคณะละครมรดกใหม่ ได้จัดแสดงละครเวทีสัญจรในต่างประเทศมากขึ้น เคยนำละครเวทีเรื่อง “นารายณ์ปราบนนทก หน้าที่แห่งมวลมนุษยชาติ” (Nontok, Duty For Duty) “โอเปร่า วณิพก ชูชกผู้ยิ่งใหญ่” “พระอภัยมณี ตอนสินสมุทรร้องทุกข์” แสดงทั้งในวัดไทย มหาวิทยาลัย โรงละครประจำเมือง และยังเปิดอบรมการแสดงแบบไทยให้ชาวต่างชาติอีกด้วย
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ‘คณะละครมรดกใหม่ : สำนักศิลปะการละครเพื่อการพัฒนาภายใต้สมาคมคนเล่าเรื่อง’ ได้กลายเป็นชุมชนของนักการละครที่มุ่งแสวงหาความสุขที่แท้จริงในชีวิต และมุ่งสร้างคนที่มีอุดมการณ์ทำเพื่อผู้อื่นผ่านวิถีละคร ด้วยการขัดเกลาตนเอง ทำเพื่อตนเองน้อยที่สุด มุมานะเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุด
ช่วงหลังปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา คณะละครมรดกใหม่ดำเนินภารกิจสองส่วนหลักคือ การพัฒนาเยาวชนด้วยละคร และการนำเข้าและส่งออกละครไทยและละครต่างประเทศ สร้างปรากฏการณ์ด้านการศึกษาให้กับแวดวงละครและการศึกษาของไทยอย่างน่าสนใจด้วยแนวคิดคณะละครเพื่อการศึกษาของครูช่างนี้เอง จึงถูกพัฒนาต่อยอดออกมาเป็นสิ่งสร้างสรรค์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘บ้านเรียนละครมรดกใหม่’ (Moradokmai Home school) โรงเรียนโฮมสคูลระดับมัธยม และ ‘กุมุทธาลัย’ สอนวิชาการละครในระดับมหาวิทยาลัย สถานศึกษาศิลปะการแสดงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะจัดการศึกษาแบบสำนัก ประหนึ่งพ่อแม่สอนลูก ระดับมัธยมนักเรียนจะได้รับการสอนวิชา 8 กลุ่มสาระผ่านการละครทั้งหมด ครูช่างต้องการนำพาเยาวชนเข้าถึงการมีวัฒนธรรมการดูละครและการมีวัฒนธรรมเพื่อการแสวงหาความรู้อย่างแท้จริง ได้รับการเคี่ยวกรำทั้งความรู้ทางโลกและทางธรรม เข้าร่วมเทศกาลละครในระดับนานาชาติ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับนักการละครนานาชาติในลักษณะของการจัด workshop และ International Collaboration จากศิลปินทั่วโลก ได้แก่ อินเดีย เนปาล สโลวีเนีย ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์สหรัฐอเมริกา และกรีซ เป็นต้นหากโลกนี้คือภาพมายา หากละครคือสิ่งลวง นั่นคงไม่ใช่สำหรับ ชนประคัลภ์จันทร์เรือง ชายผู้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวบนพื้นฐานของความจริงอย่างแน่นอน แม้ละครจะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ชนประคัลภ์ก็แสดงออกด้วยความจริงใจอย่างสูงที่สุด เพื่อตอกย้ำในอุดมการณ์อันแน่วแน่ ผันตัวเองจากโลกของทุนนิยมมาสู่โลกของทางสายกลาง โลกแห่งการให้ โลกแห่งการพอเพียง ดังเจตนารมณ์ของศิลปินที่ว่า “ละครคือการศึกษาและมีไว้เพื่อการศึกษา ไม่ควรมีไว้เพื่อหาผลประโยชน์” รักษาไว้เป็นศาสตร์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยที่ฝังรากหยั่งลึกลงในอดีต และสามารถเบ่งบานสร้างกระแสปรับตัวเองกับปัจจุบันสมัยและพร้อมที่จะผสมผสานวางแนวทางให้กับอนาคตได้ตราบนานเท่านาน