ไสยาสน์
เสมาเงิน
Saiyart Sema-ngern
รางวัลศิลปาธร : สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์
ประวัติศิลปิน
ไสยาสน์ เสมาเงิน เป็นที่รู้จักทั่วไปในนามของศิลปินช่างไม้ ด้วยความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานจากวัสดุธรรมชาติให้ออกมาเป็นงานศิลปะและเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวภายใต้ชื่อ Saiyart Collection แม้จะไม่ได้ศึกษาวิชาการออกแบบ หรือวิชาศิลปะจากสถาบันใด แต่ประสบการณ์จากการลงมือทำจริงและการได้เรียนรู้งานไม้ในชีวิตการทำงานทั้งในประเทศ รวมไปถึงการค้นคว้าประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน ยุโรป และตะวันออกกลาง อีก 5 ประเทศกลับมาสร้างผลงานอย่างมากมายจนได้รับเกียรติเป็นศิลปินที่ได้รับรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ในปี พ.ศ. 2551 ซึ่งตลอดเวลาในชีวิตการทำงานของไสยาสน์นั้น ยึดหลักแนวทางของศิลปินผู้รับใช้สังคม งานศิลปะการออกแบบของไสยาสน์จึงมักจะแฝงด้วยคำสอน และมีความหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมปัจจุบัน
การประยุกต์ใช้ไม้เก่านำมาสร้างสรรค์ใหม่ ผลงานสะท้อนชีวิตของคนไทยที่เกิดมาพร้อมกับการใช้ไม้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากการสังเกตวัฒนธรรมการใช้ไม้ของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นเปลหวาย ล้อเกวียน หัวกระต่ายขูดมะพร้าว คราดกบไสไม้ แม่พิมพ์ทำขนม กระดึงคอวัว ตะปู รอกเหล็ก โครงเรือ ฯลฯ ไสยาสน์นำไม้เก่ามาทำเฟอร์นิเจอร์โดยแทบไม่ต้องใช้ไม้ที่ตัดใหม่เลย เอกลักษณ์ของงานศิลปะเชิงพานิชย์นี้มีประโยชน์ใช้สอยด้วยการเปลี่ยนรูปแบบเดิมๆ ที่เราเห็นจนชินตานำมาปรับให้เกิดความกลมกลืน สร้างสรีระ และความงามใหม่ แต่บางครั้งยังทิ้งร่องรอยตำหนิ รายละเอียดจากหน้าที่เดิมในเนื้อไม้อย่างพอดี เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ของตัวมันเอง กลายเป็นเสน่ห์ในผลงานของไสยาสน์ที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้ผลงานที่ได้รับความนิยมของไสยาสน์นั้น โดยหลักแล้วจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่นอกจากมีประโยชน์ใช้สอย ซึ่งถูกออกแบบให้มีความสะดวกสบาย โดยยึดหลักสรีระการใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก ผลงานแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์ ได้รับการสร้างแบบชิ้นต่อชิ้น นับว่าเป็นงานประติมากรรมร่วมสมัยที่มีคุณค่าทางศิลปะ หรือเรียกว่าเป็นงานศิลปะประติมากรรมที่ใช้งานได้จริง ท่ามกลางยุคสมัยที่ข้าวของเครื่องใช้ผลิตซ้ำออกมาจากเครื่องจักร เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพจนทำให้คนเราไม่รู้สึกผูกพันกับสิ่งของเหล่านี้อีกต่อไป ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ผลงานที่สร้างขึ้นจากฝีมือและความคิดของไสยาสน์ได้รับความสนใจในแง่คุณค่าที่มาพร้อมกับการใช้งานที่สำคัญไม่ได้มีเพียงผลงานเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น ไสยาสน์ยังสร้างสรรค์ประติมากรรมสื่อประสมจากวัสดุรอบตัวหลากหลายชนิด สร้างผลงานกึ่งนามธรรมที่ให้ข้อคิดกับผู้ชม ส่วนหนึ่งนั้นอาจจะมาจากปณิธานที่แน่วแน่ของไสยาสน์ ที่ว่าศิลปะการออกแบบนอกจากหน้าที่การใช้งานก็ควรจะมีหน้าที่ทางสังคมเช่นกัน นอกจากนี้ผลงานการออกแบบของเขาในบางครั้งก็เป็นไปด้วยจิตอาสา ครั้งหนึ่งไสยาสน์ได้ใช้องค์ความรู้ความสามารถ ออกแบบและประดิษฐ์สุขาลอยน้ำ เพื่อช่วยเหลือผู้คนในเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ คนมองข้ามเมื่อเกิดภัยพิบัติ โครงการนี้ออกแบบด้วยวัสดุราคาย่อมเยา และมีความสวยงามที่สำคัญคือนอกจากจะใช้ได้จริงแล้ว ยังใช้ได้ดีอีกด้วยนอกจากนี้ยังมีงานประติมากรรมขนาดใหญ่ ที่ถูกนำไปติดตั้งทั้งในที่พักอาศัยและในพื้นที่อาคารของสถาบันบริษัทต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ด้วยการเล็งเห็นและความตั้งใจอยากให้คนไทยสามารถเข้าถึงและสัมผัสกับงานศิลปะได้ในชีวิตประจำวัน อาจารย์ไสยาสน์จึงหันมาทำงานประติมากรรมตั้งโต๊ะ หรือ Table Top ซึ่งทำให้ผู้สนใจในงานศิลปะสามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของงานศิลปะเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เพราะความที่มีขนาดกะทัดรัด สามารถตั้งบนโต๊ะ บนชั้นวาง หรือตู้โชว์ในที่พักอาศัย มีราคาที่ไม่สูงมากนัก แต่ยังคงความเอกลักษณ์ในชิ้นงานตามสไตล์ของ Saiyart Collectionที่ผ่านมาบทบาทในด้านผลงานศิลปะ ไสยาสน์จัดนิทรรศการ “Human”หรือ “ฅน” ณ หอศิลป์สมบัติเพิ่มพูน เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยการนำเสนอผลงานประติมากรรมมีความหมายสื่อถึงมนุษย์ผู้มีชีวิตอยู่ในโลกของความรัก โลภ โกรธ หลงเป็นการนำเสนอความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ ด้วยสัญชาตญาณความเป็นนักออกแบบ สิ่งของรอบๆ ตัวก็สามารถถูกมองเห็นเป็นรูปร่าง หรือรูปทรงสื่อถึงมนุษย์ได้เสมอ จุดประสงค์ของผลงานเหล่านี้ไม่ได้ต้องการให้มีรูปลักษณ์เหมือน “คน” จริงๆ แต่เมื่อวัสดุต่างๆ ประกอบกันจนลงตัว ก็จะสามารถสื่อสารถึงความเป็นคนได้อย่างชัดเจน หรือแม้แต่บางชิ้นงานที่ดำเนินเรื่องจะไม่ใช่รูปร่างคน แต่ก็ยังสื่อเรื่องราวของความเป็น “คน” ด้วยเช่นกันผลงานประติมากรรมเหล่านี้นอกจากจะทำหน้าที่จัดวางควบคู่กับเฟอร์นิเจอร์เพื่อความสุนทรีย์แล้ว ยังได้รับการสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสิ่งเตือนใจเป็นข้อคิดสำหรับการดำรงชีวิตอีกด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่าไสยาสน์นำคำพังเพยต่างๆ มาตีความเป็นผลงานให้เข้าใจง่ายๆ อย่างเช่นคำว่า น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา สาวไส้ให้กากิน ห่วงหน้าพะวงหลัง ฯลฯ เหล่านี้เป็นคำพังเพยของไทยเราที่มีมานานแล้วแต่ยังร่วมสมัยกับวิถีชีวิตอยู่เสมอ สะท้อนให้เห็นแนวคิดของผลงานแบบ “สี่มิติ” ซึ่งไสยาสน์มักจะนิยามว่าผลงานของเขา นอกจากจะมีความกว้าง ความยาว ความสูงแล้ว มิติที่สี่ของผลงานก็คือ “เวลา” อันยาวนานและทรงคุณค่า ทั้งด้านวัสดุและแนวคิดนั่นเองผลงานของไสยาสน์เป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับจากนักสะสมผลงานศิลปะของไทย ไม่ว่าจะเป็นผลงานการออกแบบเฟอร์นิเจอร์จำนวนมากที่ถูกซื้อไปสะสมอยู่ในคอลเลกชั่นของ MOCA Bangkok หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ที่สำคัญยังเป็นผลงานที่ถูกใช้งานจริงจากผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ และล่าสุดประติมากรรมขนาดเล็กของเขาก็ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่ง โรงแรมที่ให้ความสำคัญกับศิลปะและงานออกแบบอย่าง โรงแรมโซฟิเทล โซ แบ็งค็อก (Sofitel So Bangkok Hotel) รวมถึงโรงแรมเปิดใหม่อีกหลายแห่งปัจจุบันแม้จะมีโรคหัวใจรุมเร้าจนต้องใช้เครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจฝังอยู่ในร่างกาย แต่ชีวิตที่ผ่านมาหัวใจของไสยาสน์ก็ยังคงเต้นด้วยพลังของจิตอาสาที่ไม่ใช่เพียงแต่การสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว แต่ยังเป็นพ่อตัวอย่างที่นำพาให้ทายาทของเขารู้จักการช่วยเหลือสังคม เป็นครูออกตระเวนบรรยายให้ความรู้ด้านการออกแบบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ที่สำคัญคือความไม่ย่อท้อ แม้อุปสรรคของคนทำงานสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ที่เราทราบกันดีว่าการถูกละเมิดลิขสิทธิ์นั้นเป็นของคู่กัน แต่ความเป็นศิลปะที่ฝังลึกอยู่ในผลงานความงามที่รับใช้มนุษย์และสังคมในผลงานของ ไสยาสน์ เสมาเงิน นั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครขโมยไปได้อย่างแน่นอน