เสน่ห์ สังข์สุข

เสน่ห์ สังข์สุข

Saneh Sangsuk

รางวัลศิลปาธร : สาขาวรรณศิลป์

ประวัติศิลปิน

เสน่ห์ สังข์สุข หรือที่รู้จักในนามปากกาว่า แดนอรัญ แสงทอง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2500 ศิษย์หลวงพ่อวัดยาง ชาวเพชรบุรี บ่มเพาะความคิดอ่านและวัตรปฏิบัติจากกองหนังสือที่อยู่ในวัดและพระครูต้นแบบตั้งแต่วัยเยาว์ จบการศึกษาสาขาวรรณคดีต่างประเทศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรเขาผ่านประสบการณ์ทำงานด้านภาษาและหนังสือ เริ่มจากเป็นล่ามที่องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for InternationalDevelopment; USAID) เขาเป็นนักเขียน นักแปล บรรณาธิการเจ้าของสำนักพิมพ์ปาปิรัส สำนักพิมพ์อรุโณทัย ณ วันนี้เขาเลือกที่จะให้เวลากับการประพันธ์งานเขียน บทกวี อยู่ที่ “กระท่อมผู้ชนะ” อุษณา เพลิงธรรม เป็นบุคคลต้นแบบและแรงบันดาลใจของเขา ผลงานประพันธ์เรื่องแรกคือ เรื่องสั้นเพลงศพ ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ หลังจากนั้นงานแปลและงานเขียนของเขาเริ่มปรากฏอยู่ในนิตยสารต่างๆ กระทั่งผลงานเรื่องสั้น ทุ่งร้าง ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจากนิตยสารฟ้าเมืองทองแดนอรัญมีวิถีการทำงานที่ตั้งมั่นอยู่บนความวิริยะอุตสาหะ ผลงานต้องมีคุณภาพ ประณีต “ไม่ชุ่ย” อ่านทบทวนภาษา ผลงานการเขียนทั้งหมดหลายสิบรอบก่อนจะอนุญาตให้ชิ้นงานนั้นเสร็จสิ้น แดนอรัญละเมียดกับการใช้ภาษา ตั้งใจเข้มงวดกับลีลา เชิงชั้นการเขียน การคำนึงถึงภาษาไทยว่าเป็นภาษาที่มีท่วงทำนองเป็นเสียงดนตรีของแดนอรัญเผยให้เห็นในเนื้ออักษร การเลือกสรรคำที่นำมาจัดเรียงเข้าเป็นประโยค แม้เป็นงานร้อยแก้วแต่มีเสียงแว่วของดนตรี จังหวะจะโคนบ้างสัมผัสถึงความงามเสมือนบทกวี

นักวิจารณ์มักกล่าวว่าเสน่ห์ของงานแดนอรัญที่ตรึงใจและน่าหลงใหลคือวิธีการใช้ภาษา การถ่ายทอดพลัง จินตนาการผ่านภาษา ถ้อยคำมีความไพเราะก่อให้เกิดความประทับใจ ความหลากหลายของกลวิธีการประพันธ์เพื่อนนักเขียนเห็นว่ารูปแบบงานเขียนของแดนอรัญเป็นแบบแสดงพลังอารมณ์ (expressionist) ซึ่งมีสีสันฉูดฉาด มุ่งแสดงอารมณ์ความรู้สึกภายในสะท้อนความเป็นไปในสังคมแดนอรัญเป็นคนง่ายๆ มีอารมณ์ขัน อุดมการณ์กับการใช้ชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน เขาเห็นว่าการทำงานวรรณกรรมของตนเป็นเสมือนการรับไม้ต่อจากศิลปินรุ่นเก่า สืบสานความฝัน จิตวิญญาณของการเป็นนักเขียนที่จะสะท้อนวิพากษ์ วิจารณ์ ท้าทายความคิดของสังคม กระตุ้นให้เกิดสำนึกถึงความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งด้านสวยงาม และด้านอัปลักษณ์ ตลอดจนทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย ถ่ายทอดวิถีแบบไทย ความเป็นไทย เมื่อเขียนงานจบ เขาจะลงชื่อว่าเขียนที่ “กระท่อมผู้ชนะ” นักประพันธ์ “ยาขอบ” เป็นผู้กล่าวถึงกระท่อมผู้ชนะ ซึ่งไม่มีอยู่จริง เป็นบ้านเล็ก ๆ ที่วันหนึ่งนักเขียนจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร เก็บตัวเงียบ ๆค้นคว้า ศึกษา เรื่องราวความรู้ และนำมาเขียน แดนอรัญตั้งใจทำหน้าที่สานต่อเจตนารมย์ของนักเขียนรุ่นก่อนหน้าผลงานของแดนอรัญได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในประเทศแถบยุโรปจนถึงบัดนี้แดนอรัญเป็นนักเขียนไทยคนเดียวที่ได้รับอิสริยาภรณ์ศิลปะและอักษรศาสตร์ชั้นอัศวิน (Chevalier dans L’Ordre des Arts et des Lettres) จากกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสารของประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2551 จากผลงานนวนิยาย เงาสีขาว (ชื่อภาษาอังกฤษ: White Shadow) ผลงานนวนิยายชิ้นแรกของแดนอรัญ เงาสีขาว (ภาพเหมือนในวัยระห่ำของศิลปิน) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2536 และแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและสเปน ใน พ.ศ. 2544 ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในยี่สิบนวนิยายที่ดีที่สุดของไทยโดย มาร์แชล บารังส์ นักวิจารณ์วรรณกรรมและนักแปล เงาสีขาว นวนิยายขนาด 800 หน้า ที่เขียนต่อกันเป็นพืดยาว แต่ทว่าดึงดูดให้ผู้อ่านติดตามได้ด้วยการใช้ภาษาที่เร้าอารมณ์ สำนวนโวหารที่คมคาย สาธยายความชั่วช้าสามานย์ ด้านมืดของมนุษย์ แดนอรัญโจมตีความเอื่อยเฉื่อยของผู้คนโดยใช้โศกนาฏกรรมแทนสุขนาฏกรรมตามแบบนิยมสังคมเดิมๆ ในการเอ่ยถึงเรื่องความดีงาม ศีลธรรมแดนอรัญให้ความเห็นว่างานของเขาได้รับความนิยมในต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทย อาจเนื่องมาจากลักษณะท่วงทีในงานของเขาไม่บันยะบันยัง ตัวละครมีบุคลิกอย่างไรก็จะเป็นไปให้ถึงที่สุด ซึ่งสังคมไทยยังคงมีการประนีประนอมบางอย่างอยู่ วรรณกรรมเป็นพื้นที่พิเศษที่เปิดให้มีเสรีภาพ ไม่อยู่ใต้การอ้างอิงกรอบศีลธรรมอันผิวเผิน ศิลปินสามารถมีเสรีภาพบนความรับผิดชอบ มนุษย์สามารถแสดงถึงความรู้สึกนึกคิดที่ซ่อนลึกอยู่ภายใน การสร้างสรรค์ผลงานที่ดีมีคุณภาพเป็นสิ่งที่สมควรเชิดชูผลงานเรื่องสั้น อสรพิษ (ชื่อภาษาอังกฤษ: Venom) ถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศ 7 ภาษา อีกทั้งถูกใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในสถาบันศึกษาของฝรั่งเศส พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 เนื้อเรื่องเล่าถึงการต่อสู้ระหว่างเด็กชายพิการกับงูเห่ายักษ์ สะท้อนความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในชุมชน การเมือง อำนาจความเชื่อความศรัทธา การสิ้นหวังยอมจำนนที่คร่าชีวิตของมนุษย์แม้ยังไม่ดับสูญสำหรับการนำผลงานประพันธ์ไปสร้างเป็นละครหรือภาพยนตร์ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2534 กล่าวยกย่องว่าที่ผ่านมามีนักประพันธ์เพียง 3 คนที่เห็นว่า ชื่อมีความยิ่งใหญ่กว่าชื่อของดารานักแสดงที่จะแสดงในภาพยนตร์ สำหรับยุคนี้ (พ.ศ. 2555) แดนอรัญ แสงทอง เป็นนักประพันธ์ซึ่งอาจินต์นิยมที่สุด และเพิ่มรายชื่อเข้าไปอยู่ในกลุ่มนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่นั้น อสรพิษ ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยจารุณี ธรรมยู และวีรยศ สำราญ สุขทิวาเวทย์ แดนอรัญมีความเห็นต่อการนำบทประพันธ์ไปสู่ภาพยนตร์เหมือนกับเมื่อผู้อ่านได้อ่านผลงานของเขาจบแล้วว่า เป็นอิสระของผู้อ่าน ผู้กำกับและผู้เขียนบทที่จะตีความงามและชูประเด็นเล่าเรื่องราวตามปรารถนา ซึ่งอาจไม่เหมือนกับเจตนาหรือความคิดตั้งต้นของเขานวนิยาย เจ้าการะเกด เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัปป์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2546 ถูกแปลเป็นภาษาอิตาเลียนและฝรั่งเศส แดนอรัญรู้สึกว่าเป็นงานที่ประณีตที่สุดในชีวิต ใช้กลวิธีการนำเสนอในรูปของเรื่องเล่าที่เล่าถึงการเล่านิทาน เป็นการรื้อฟื้นรูปแบบวรรณกรรมตะวันออกให้กลับคืนมาในรูปแบบของวรรณกรรมตะวันตก การใช้ภาษาถ้อยความและเนื้อเรื่องที่จับใจสร้างความซาบซึ้งที่มิรู้ลืมหลังจากการเขียนเรื่อง เจ้าการะเกด แดนอรัญเริ่มสนใจและหมกหมุ่นกับการค้นคว้าพุทธศาสนาอย่างจริงจัง และนำมาสร้างผลงาน อาทิ ดวงตาที่สามมาตานุสติ วิมุตติคีตาหมายเลขหนึ่ง เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง นวนิยาย เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง เป็นเรื่องของภิกษุณีจากตำนานในพระไตรปิฎก อายุ 2600 ปี พระแม่กีสาโคตมี ผู้หญิงที่อุ้ม ลูกเซซังไป ไม่ยอมเชื่อว่าลูกตายจนกระทั่งบรรลุถึงสัจธรรมเมื่อได้พบกับพระพุทธเจ้า ศิลปินต้องศึกษาพุทธประวัติ พุทธปรัชญา สถานภาพสตรีที่ถูกกดขี่ในสมัยนั้นเพื่อนำข้อมูลมาประกอบในงานเขียน การเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่สำคัญในสังคมอย่าง สุรพล สมบัติเจริญ มิตร ชัยบัญชา การเอ่ยถึงความเชื่อโบราณ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของเสือสมิง การเล่าเรื่องตำนานแม่กีสาโคตมีของแดนอรัญ ดังปรากฏใน เจ้าการะเกด และเดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง เป็นตัวอย่างบทบาทของศิลปินในการบันทึกเหตุการณ์ซึ่งศิลปินมุ่งรักษาไว้ไม่ให้เลือนหายไปจากความทรงจำของยุคสมัย

สำหรับแดนอรัญแล้วงานวรรณกรรมที่ดีต้องทำให้สนุกได้ ร้องไห้ได้ ขนลุกขนพองได้ ซึ่งผู้อ่านที่สัมผัสกับงานของแดนอรัญจะรู้ซึ้งถึงอารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้นอกจากงานเขียนแล้วยังมีงานแปลที่ใช้นามปากกา มายา เช่น ทุ่งดอกหญ้าถึงดวงดาว ของ ออสการ์ ไวลด์, เมตามอร์ฟอร์ซิส ของคาฟก้า, คนสวน ของรพินทรนารถ ฐากูร, คนโซ ของ คนุท เฮ็มซุน ใช้นามปากกา เชน จรัสเวียง กับงานแปล เช่น กระแสลมในฤดูใบไม้ผลิ, แล้วดวงตะวันก็ฉายแสง, สวนสวรรค์แห่ง ความรัก ของเฮ็มมิงเวย์ และ คนจมน้ำตายที่รูปหล่อที่สุดในโลก ของการ์เซีย มาร์เกซ ใช้นามปากกา แดนอรัญ แสงทอง เช่น เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ และแดนสนธยาอาถรรพ์ ของ อัลเจอร์นอน แบล็ควูด, อารยชนคนเถื่อน ของ ชาร์ล พอรทิส

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031