สาครินทร์ เครืออ่อน


สาครินทร์

เครืออ่อน

Sakarin Krue-on

รางวัลศิลปาธร : สาขาทัศนศิลป์

ประวัติศิลปิน

สาครินทร์ เครืออ่อน เป็นอีกหนึ่งศิลปินไทยที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันสาครินทร์เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในบทบาทของศิลปินเขาได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะออกสู่สาธารณชนมายาวนาน ที่สำคัญเคยได้มีโอกาสแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะระดับโลกอย่าง Documenta ครั้งที่ 12 ที่เมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ. 2007 และ Venice Biennale ครั้งที่ 53 ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ. 2009 นอกเหนือจากการแสดงด้านความคิดแล้วสำหรับสาครินทร์ ศิลปะก็คือพาหะที่สามารถนำพาวัฒนธรรมและศิลปะไทยไปเผยแพร่แก่ชาวต่างชาติได้

ด้วยเนื้อหาความเชื่อแบบไทยสวมทับด้วยรูปแบบศิลปะร่วมสมัย จึงทำให้ผลงานของเขามีความน่าสนใจ และแปลกใหม่ในสังคมโลกตะวันตก ผลงานของ สาครินทร์ไม่ได้ยึดรูปแบบที่ตายตัวว่าจะต้องเป็นผลงานประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่มีความหลากหลาย บางครั้งเราอาจจะเห็นผลงานประติมากรรม ผลงานสื่อผสม VDO Art หรือแม้แต่ Interactive Art ซึ่งผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมไปกับงานด้วยได้ สาครินทร์มีผลงานที่แสดงภายในประเทศไทยหลายครั้ง

ในปี พ.ศ. 2546 เขาได้มีโอกาสแสดงงานที่นิทรรศการ Venice Biennaleครั้งที่ 50 ผลงานชื่อ “Ramasura and Mekhala, 2546” สร้างด้วยเทคนิคคอมพิวเตอรกราฟิก แอนิเมชันมีลักษณะเป็นจุดคล้ายเทคนิคการนำลูกประคบประทับบนกระดาษปรุลาย เป็นรูปนางมณีเมขลากับรามสูรวิ่งไล่กันอยู่ โดยภาพจะซ้อนทับกันเป็นชั้นไปเรื่อยๆ ทั้งเล็กบ้างใหญ่บ้าง เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ เมื่อมองในภาพรวมจะคล้ายกับดอกไม้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เปรียบเหมือนการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลสาครินทร์นำเรื่องเมขลาล่อแก้วซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้าน มาผ่านกระบวนการทางความคิด แสดงผ่านเทคนิคใหม่ในเวลานั้น ผลงานสะท้อนเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาผ่านนางมณีเมขลากับรามสูร

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่สาครินทร์สร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ตรงกับช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซีย สาระสำคัญของผลงานต้องการแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้ง บนโลก สงครามเกิดขึ้นอยู่เสมอ แล้วก็ผ่านพ้นไปคล้ายกับดอกไม้ที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล มีทั้งสุข และทุกข์ และผลงาน ผนังแห่งความฝัน, 2546”ด้วยการใช้เทคนิคการประคบบนกระดาษปรุลายแบบจิตรกรรมไทยโบราณซึ่งก่อให้เกิดภาพลงบนผนังของศาลาไทย (Thai Pavilion) เป็นผลงานที่ผู้ชมได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมกับผลงาน และรับของที่ระลึกเป็นพระพิมพ์องค์เล็กติดตัวกลับไปโดยผู้ชมที่เข้ามามีส่วนร่วมกับผลงาน จะสามารถเลือกข้อความที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง ด้วยการทำเองทุกขั้นตอน

และในปีเดียวกับที่แสดงผลงานที่นิทรรศการ Venice Biennale ครั้งที่ 50สาครินทร์ได้มีโอกาสแสดงงานที่อินเดีย ผลงานชื่อ เบ่งบาน” (Blooming, 2546)โดยใช้ถังน้ำพลาสติกหลากสีจำนวนมากมาผ่าออกเป็นแฉกแล้วนำไปลอยน้ำในสระของอาคารที่จัดแสดงงาน ผลงานเหล่านี้จะลอยไปมาในน้ำล้อกับดอกบัวที่อยู่ในสระซึ่งจะบานวันละ 4 ครั้ง แต่ดอกบัวพลาสติกนี้จะบานอยู่ตลอดเวลาไม่มีวันหุบ ผลงานถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมอินเดีย โดยดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาตามคติความเชื่อทางศาสนา และเป็นการสะท้อนสภาพสังคม ระบบชนชั้นวรรณะของอินเดียที่มีอยู่อย่างชัดเจนว่าในความเป็นจริงแล้วระบบนี้ดีจริงหรือไม่

ปี พ.ศ. 2550 สาครินทร์ได้ไปสร้างชื่อเสียงในเวทีระดับโลกอีกครั้งด้วยผลงาน “Terraced Rice Fields Art Project” (2550) บริเวณเนินด้านหน้าปราสาทWilhelmshöhe เมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี ในนิทรรศการ Documenta ครั้งที่12 ซึ่งเป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ผลงานจำลองการทำนาข้าวขั้นบันได โดยเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการขุดเตรียมดินสำหรับเพาะต้นกล้า ปักกล้า ดำนา โดยมีอาสาสมัครทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติมาร่วมลงมือทำ เป็นการดึงเอาวัฒนธรรมการลงแขก คือการช่วยเหลือกันของคนในสังคมให้กลับมา สะท้อนปัญหาของการอยู่ร่วมกันในสังคม สืบเนื่องจากระบบทุนนิยม กิจกรรมนี้หากมองในระบบทางวัฒนธรรมของทวีปยุโรปจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงเลย เพราะระบบสังคมนาข้าวเป็นระบบที่คนสามารถไว้ใจกันได้ ช่วยเหลือกันได้อย่างแท้จริงโดยไม่หวังผลตอบแทน ต่างจากสังคมปัจจุบันต้องใช้เงินแลกทุกสิ่งทุกอย่าง และยังมีกฎระเบียบมากมายจนแม้แต่บางครั้งการทำเพื่อคนอื่นก็อาจกลายเป็นเรื่องที่ไม่ดีในสังคม

การที่ผลงานชุดนี้ไม่มีการเรียกระดมทุนเพื่อใช้ในการสร้างงาน เพื่อเป็นการแสดงให้ เห็นว่า ระบบสังคมนาข้าวนี้ สามารถสำเร็จได้ โดยใช้ทุนเพียงเล็กน้อย จึงทำให้มีคนสนใจเป็นอย่างมาก และมีอาสาสมัครเข้ามาช่วยงานเป็นจำนวนมากทุกวันอีกหนึ่งผลงานที่ได้ร่วมแสดงในนิทรรศการคือ นางฟ้า” (Angel, 2550) ซึ่งจัดแสดงในห้องที่ใหญ่ที่สุดบริเวณชั้น 3 ของบันไดทางขึ้นอาคารแสดงงาน ซึ่งใช้เทคนิคการประคบกระดาษปรุลายจนเกิดเป็นรูปนางฟ้ากำลังโปรยดอกไม้ ท่ามกลางวิมานที่รายล้อมอยู่ และได้เปลี่ยนสีของกระจกเป็นสีฟ้า จึงทำให้บรรยากาศ และผนังห้องเป็นสีฟ้าสดใสจากแสงที่ส่องผ่านกระจกเข้ามา

สาครินทร์ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2552 และได้มีโอกาสไปร่วมแสดงงานที่นิทรรศการ Venice Biennale อีกครั้ง ในปีเดียวกันนี้ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 53 โดยครั้งนี้ไปในนามนิทรรศการ นาวาสู่สวรรค์กัมปะนี” (Gondolaal Paradiso. Co., Ltd., 2552) โดยมีถาวรโกอุดมวิทย์เป็นภัณฑารักษ์ และมีอำมฤทธิ์ชูสุวรรณเป็นภัณฑารักษ์ร่วม จัดแสดงผลงานโดยสาครินทร์เครืออ่อนไมเคิลเชาวนศัย, สุดศิริปุยอ๊อก, ศุภรชูทรงเดชและวันทนีย์ศิริพัฒนานันทกูรผลงานชุดนี้จำลองการทำงานของบริษัทนำเที่ยว ทั้งสัญลักษณ์ของบริษัท สื่อสิ่งพิมพ์ โปสเตอร์ สื่อโฆษณา เว็บไซต์ ออฟฟิศ หรือแม้แต่สายการบิน ทุกอย่างทำออกมาคล้ายกับบริษัทที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องทุกอย่าง โดยศิลปินแต่ละคนก็จะทำ ผลงานที่มีเอกลักษณ์ของตัวเองมาแสดงร่วมกัน แม้จะมีอุปสรรคในเรื่องการขนส่ง ของที่ล่าช้า แต่ศิลปินกลุ่มนี้ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ในที่สุด “นาวา สู่สวรรค์ กัมปะนี” สอดแทรกแนวความคิดของศิลปินแต่ละคน โดยในส่วนของ สาครินทร์ได้ทำเป็นโปสเตอร์สื่อสิ่งพิมพ์ “Art is Rice and Watermelon” และ“Art is Rice and Papaya Salad” เป็นการตั้งคำถามถึงความเป็นไทย ในบริบทของศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เพราะวัฒนธรรมที่แตกต่างกันสามารถส่งผลต่อความเข้าใจ การรับรู้ และรสนิยมทางศิลปะได้ เหมือนกับเวลาชาวต่างชาติเห็นโปสเตอร์ “Art is Rice and Watermelon” ก็จะเกิดความแปลกใจว่าอาหารสองอย่างนี้สามารถรับประทานพร้อมกันได้ด้วยหรือ ซึ่งสำหรับคนไทยแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างไร

อีกหนึ่งผลงานที่สำคัญของสาครินทร์คือบทบาทการเป็นภัณฑารักษในนิทรรศการ “สภาวการณ์ – มนุษย์ – เมือง : บทสนทนาในถ้ำ (Metro – Sapiens: Dialogue in the Cave, 2556) ณ ถ้ำจอมพล อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี โดยมีศิลปินเข้าร่วมกว่า 20 คน มีทั้งดนตรี และศิลปะ แนวคิดเริ่มต้นมาจากพื้นที่ทางศิลปะส่วนใหญ่มักจะอยู่ในเมือง จึงทำให้คนที่อาศัยอยู่ตามต่างจังหวัดไม่มีโอกาสได้ชื่นชมผลงานศิลปะ การจัดนิทรรศการในครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าศิลปะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา นิทรรศการนี้จึงได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้คนในพื้นที่และคนที่ติดตามชมศิลปะจากในเมืองมากมาย

ศิลปะไทยเมื่อหลุดออกจากขนบ จะเดินต่อไปในทิศทางใด และจะถึงฝั่งฝันหรือไม่? สำหรับสาครินทร์คือการได้ทดลองให้เห็นจุดเชื่อมต่อต่างๆ ระหว่างความเป็นไทย และสากล ศิลปะเชิงความคิดก็สามารถทำให้มีรูปแบบเรียบง่ายไม่ยุ่งยาก เมื่อศิลปะเป็นเรื่องง่าย ทุกคนก็สามารถเข้าถึงได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่แต่ใน              หอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ศิลปะสามารถเป็นเรื่องสนุก และเหมาะสำหรับทุกคนดังนั้นศิลปะจึงเหมือนกับการทดลองบางสิ่งอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคหรือการนำเสนอสาระต่างๆ ซึ่งนี่ก็คือศิลปะของ สาครินทร์เครืออ่อนศิลปินผู้แนะนำความเป็นไทยให้เป็นมิตรสหายต่อผู้ชมทุกชนชาติ ศาสนา

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031