พิมพกา โตวิระ
พิมพกา โตวิระ
รางวัลศิลปาธร : สาขาภาพยนตร์
ประวัติศิลปิน
จากธุรกิจโรงภาพยนตร์ของครอบครัวได้ทำให้ พิมพกา โตวิระ เกิดความชื่นชอบและสนใจในภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก แรงบันดาลใจเล็กๆ ทำให้เธอเลือกศึกษาในคณะวารสารศาสตร์ สาขาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยช่วงที่ศึกษาอยู่พิมพกาได้เข้าร่วมกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละครและร่วมทำละครเวทีเรื่อง “ผู้อภิวัฒน์” ในปี พ.ศ. 2530 อันเป็นละครที่รวบรวมอัตชีวประวัติของปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทยรวมถึงแง่มุมต่างๆ ของการเมืองไทยที่สอดแทรกไว้ในละครอย่างเข้มข้น ทำให้ละครเวทีเรื่องนี้ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่อยู่หลายครั้ง
ในปี พ.ศ. 2535 พิมพกาได้ก้าวเข้าสู่วงการหนังนอกกระแสด้วยการกำกับภาพยนตร์สั้น 9 นาที ที่ชื่อ “Under Taboo” ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2540 พิมพกาจะนำเรื่องราวของตำนานแม่นาคพระโขนงกลับมาเล่าในรูปแบบของเธอจนสามารถคว้ารางวัล Special Jury Prize ในงาน Image Forum Festival ณ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2541 และได้รับเชิญให้ส่งผลงานเข้าร่วมแสดงในเทศกาลภาพยนตร์สั้นในประเทศต่างๆ ขณะเดียวกันพิมพกา ก็ยังไม่หยุดที่จะค้นหาประเด็นต่างๆ ของสังคมที่เธอกำลังดำเนินอยู่ ดังเช่น “คืนไร้เงา” ผลงานการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์ที่บอกเล่ามุมมองของหญิงสาวที่ต้องพบเจอเรื่องราวแสนประหลาดในคืนวันแต่งงาน เมื่อสามีของสิปาง (รับบทโดย นิโคล เทริโอ) นั้นหายไปจากบ้านอย่างไร้ร่องรอย เบาะแสต่างๆ ได้ชักนำให้สิปางพบกับบุษบา (รับบทโดย สิริยากร พุกกะเวส) หญิงสาวเรียบร้อย พูดน้อย ซึ่งเป็นพี่สะใภ้ของสามีสิปาง ความสัมพันธ์ระหว่างสิปางและบุษบาดำเนินไปด้วยดีกระทั่งทั้งคู่ได้ล่วงเข้าสู่ความสัมพันธ์ในแง่ชู้สาวที่ผิดจากกรอบหรือจารีตที่ควรยึดถือ ยิ่งใกล้ชิดบุษบาเท่าใดสิปางยิ่งพบความลับว่าคนที่เป็นสาเหตุของการหายตัวไปของสามีเธอก็คือบุษบานั่นเอง
เรื่องราวของ “คืนไร้เงา” ได้ตั้งประเด็นคำถามให้กับผู้ชมตลอด 114 นาทีที่ภาพยนตร์ออกฉาย เมื่อรวมกับภาพและองค์ประกอบที่เน้นความลึกลับจากแสงเงาของสถานที่ในแต่ละฉาก ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 19 โปรเจ็คของ PPP (Pusan Promotion Plan) ณ ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโครงการที่สรรหาภาพยนตร์ของเอเชียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งของโลกคืนไร้เงายังสร้างกระแสที่แรงอย่างต่อเนื่องเมื่อถูกรับเลือกให้จัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงเบอร์ลินครั้งที่ 53 (53rd Berlin International Film Festival 2003) ในปี พ.ศ. 2543 รวมถึงเทศกาลภาพยนตร์เอเชียที่เมืองเดอวิลล์ ประเทศฝรั่งเศส ฯลฯ
ภาพยนตร์ที่พิมพกาทั้งเขียนบทและกำกับเองยังมีอีกหลายเรื่องด้วยกัน เช่น “The Truth Be Told” หรือ “ความจริงพูดได้” ภาพยนตร์เรื่องยาวเชิงสารคดีที่นำเสนอชีวิตของสุภิญญา กลางณรงค์ ที่ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทเมื่อเธอวิจารณ์ถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทย และ บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น ปลายปี พ.ศ. 2547 ทำให้เธอโดนฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 400 ล้านบาท แต่สุภิญญากลับชนะคดีความได้ในปี พ.ศ. 2549ซึ่งระยะเวลาตลอดการสู้คดีคือสิ่งที่พิมพกาบันทึกภาพไว้ในลักษณะไม่จัดฉากนั่นเป็นเพราะพิมพกาได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสุภิญญาและครอบครัวจนทำให้ภาพที่ออกมาดูเป็นธรรมชาติ
แม้ประเด็นที่พิมพกาหยิบมานำเสนอเกี่ยวกับคดีของสุภิญญานั้น จะไม่ได้มุ่งเป้าสู่ประเด็นทางการเมืองในตอนต้น เพียงแต่เธอต้องการนำเสนอมุมมองของหญิงสาวตัวเล็กๆ ที่อาจหาญต่อกรกับอำนาจที่ยากจะเอาชนะ จนทำให้ภาพยนตร์เชิงสารคดีเรื่องนี้ไม่ได้ออกฉายตามโรงหนังทั่วไป แต่กลับเป็นที่สนใจของวงการภาพยนตร์ในระดับโลก โดยพิมพกายังได้นำประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาใช้ก่อตั้งบริษัท Extra Virgin ร่วมกับ วิทวัส เมฆสวรรค์ เพื่อผลิตภาพยนตร์และจัดจำหน่ายหนังอิสระพร้อมทั้งหาเงินทุนสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการทำหนัง เหมือนอย่างที่ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “เพลงของข้าว” และ “สวรรค์บ้านนา” ที่พิมพกาสวมบทโปรดิวเซอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวไทยที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำให้เมืองไทยเป็นดั่งอู่ข้าวอู่น้ำก่อนที่อาชีพทางการเกษตรจะถูกลดบทบาทลง เรือกสวนไร่ นา ถูกแทนที่ด้วยตึก อาคาร และสิ่งปลูกสร้าง การต่อสู้ดิ้นรนของชาวนาเพื่อคงไว้ซึ่งอาชีพของบรรพบุรุษจึงเป็นสิ่งที่ “สวรรค์บ้านนา” ถ่ายทอดออกมาได้เป็นอย่างดี และนั่นก็สะท้อนให้เห็นว่าการที่พิมพกาให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีไม้ลายมือถือเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมและสนับสนุนกันต่อไป เพราะนั่นเท่ากับเรากำลังสร้างบุคคลคุณภาพให้กับประเทศชาติ
บทบาทที่หลากหลายของพิมพกาทั้งการเป็นอาจารย์ เขียนบท กำกับภาพยนตร์ โปรดิวเซอร์ หรือแม้การเป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลต่างๆ ในสายภาพยนตร์ กลับไม่ได้ทำให้พลังในการสร้างสรรค์ผลงานของเธอลดน้อยลงตรงกันข้ามพิมพกายังมีผลงานออกส่สู ายตาสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศหญิงในหลากหลายแงมุ่มออกนำเสนอ อย่างเช่น “แม่” ภาพยนตร์สั้นที่นำเรื่องราวของแม่ที่สูญเสียลูกสาววัย 13 ปี อย่างปริศนาทำให้ผู้เป็นแม่ต้องค้นหาคำตอบต่อสิ่งที่ยังคงเคลือบแคลงใจ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้ถูกคัดเลือกให้ฉายในสาย Dragons&Tigers เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ในปี พ.ศ. 2556 และเวทีต่างๆ ในระดับนานาชาติอีกหลายแห่ง ซึ่งพิมพกาเผยว่าล่าสุดเธอกำลังจัดทำ “มหาสมุทรและสุสาน (The Island Funeral)” ภาพยนตร์ที่เธอได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปภาพยนตร์ให้เยาวชนในพื้นที่ของจังหวัดปัตตานีสถานการณ์ความไม่สงบรวมถึงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้ทำให้พิมพกาสร้างภาพยนตร์เรื่องยาวที่นำเสนอมุมมองของไลลา หญิงสาวมุสลิมที่เติบโตอยู่ในกรุงเทพฯ กระทั่งวันหนึ่งไลลาได้ออกเดินทางสู่ชายแดนใต้เพื่อไปเยี่ยมญาติและแสวงหาบรรยากาศที่แปลกใหม่ซึ่งแตกต่างจากกรุงเทพมหานคร การเดินทางครั้งนี้ได้นำไลลาสู่มิติของความคิดที่เธอไม่เคยนึกถึง เรื่องราวของเธอจะดำเนินไปอย่างไรนั้น ผู้ชมสามารถร่วมหาคำตอบจากภาพยนตร์เรื่องนี้ที่จะเข้าฉายในปี พ.ศ. 2558
สิ่งต่างๆ ที่พิมพกากำลังทำอยู่จะเห็นได้ว่าเธอมักขยายแรงบันดาลใจเล็กๆ ให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างและพัฒนาผลงานของตนเรื่อยมา จนทำให้เธอเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกทิศทางของภาพยนตร์นอกกระแสหรือหนังอินดี้ในประเทศไทย รวมถึงการได้รับเลือกให้เป็นศิลปินศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ประจำปีพุทธศักราช 2552 รางวัลที่เป็นดั่งแรงผลักดันให้เธอมุ่งสร้างสรรค์ผลงานที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป