Facebook Logo

ประดิษฐ ประสาททอง

ประดิษฐ

ประสาททอง

Pradit Prasartthong

รางวัลศิลปาธร : สาขาศิลปะการแสดง

ประวัติศิลปิน

หลังจากเหตุการณ์ทางการเมือง พ.ศ. 2519 กลุ่มคนรุ่นใหม่พยายามแสวงหาหนทางการแสดงออกทางความคิดของเขา เมื่อคนกลุ่มหนึ่งในผู้คนเหล่านั้นมีความเชื่อร่วมกันว่าละครสร้างสังคมให้ดีขึ้นได้ กลุ่มละครเล็กๆ อย่างกลุ่มละครมะขามป้อม จึงถือกำเนิดขึ้นในปลายปี พ.ศ. 2523 ด้วยความมุ่งหวังให้ละครของพวกเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมได้ พวกเขาใช้ทักษะทางการแสดงเป็นสื่อในการรณรงค์เกี่ยวกับปัญหาสังคม เช่น ยาเสพติด เรื่องเพศ โลกเอดส์ ฯให้กับชุมชนต่างๆ ทั้งในและนอกเมือง หลายคนที่เป็นแฟนละครของมะขามป้อมคงรู้จัก ประดิษฐ ประสาททอง หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มละครเป็นอย่างดี เขาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนารดน้ำให้ปุ๋ย จากมะขามต้นเล็กกระทั่งเติบโตหยั่งรากลึกลงบนถนนสายศิลปะการละคร

กลุ่มละครมะขามป้อมและประดิษฐนั้นเป็นภาพเดียวกันอย่างแยกไม่ออก พวกเขาตระเวนแสดงละครทั้งในเมืองและชนบท จากภาคเหนือจรดใต้ จากตะวันออกสู่ตะวันตก เพื่อเก็บเกี่ยวแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้คนในทุกพื้นที่ การแสดงของพวกเขาเข้าถึงผู้ชมได้โดยง่ายเพราะมีเนื้อเรื่องสนุกและเต็มไปด้วยแง่คิด

หลังจากกลับเข้ามาเมืองหลวง จึงได้มีเปิดรับอาสาสมัครผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันมาร่วมสร้างสรรค์งานละคร แม้กลุ่มละครจะยืนหยัดอย่างยากลำบาก แต่มะขามป้อมก็ประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การร่วมผลักดันของประดิษฐ จากกลุ่มละครเล็กๆ เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง กระทั่งมีโรงละครของตนเอง จุคนได้ราว 30-70 ที่นั่ง โดยโรงละครทำหน้าที่สร้างพื้นที่ให้ศิลปะการละครร่วมสมัยได้มีโอกาสแสดงมากขึ้น ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไปนัก พวกเขามุ่งหวังให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย และเป็นศูนย์ศิลปะชุมชน เพื่อเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงระหว่างชาวบ้านผลงานศิลปะและศิลปินธรรมชาติของนักสร้างสรรค์นั้นไม่อาจหยุดนิ่งได้ ในเวลาต่อมา ประดิษฐมีความสนใจนำศาสตร์การแสดงพื้นบ้านมาปรับใช้กับการแสดง เนื่องด้วยวิธีคิดงานของเขามาจากพื้นฐานความรู้ทางนาฏศิลป์ไทย เช่น โขน ละครนอก ละครใน และจากการอ่านวรรณกรรมไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกทั้งการที่ได้คลุกคลีกับชุมชนต่างๆมากมาย ศิลปะพื้นบ้านจึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง เนื่องจากกลุ่มผู้ชมของมะขามป้อมเป็นชาวบ้านในชุมชนและชนชั้นกลาง การสื่อสารด้วยศิลปะพื้นบ้าน ยิ่งทำให้พวกเขาเข้าถึงได้ง่าย จึงเริ่มลดรูปแบบละครตะวันตกแล้วกลับไปใช้ศิลปะแบบพื้นบ้านและศิลปะแบบประเพณีร่วมกับกระบวนการละครเยาวชน นำวิธีการแสดงมาปรับปรุงให้ทันสมัย แนวคิดการพัฒนามาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงชัดเจนขึ้น โดยมีการผสมกับแนวคิดทางสังคม การเมืองวัฒนธรรมแม้จะมีการนำศิลปะพื้นบ้านหลายแขนงมาใช้กับการแสดง ประดิษฐและมะขามป้อมนั้นเป็นที่จดจำในฐานะ ‘ลิเกร่วมสมัย’ จนกลายเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของกลุ่มละคร พวกเขาแสดงทั้งละครและลิเก รวมไปถึงการแสดงพื้นบ้านอื่นๆ ด้วยอุดมการณ์เดิมที่ยึดมั่นในหลักการทำละครเพื่อการพัฒนาชุมชน การแสดงลิเกจะเน้นเรื่องราวที่สนุกสนานและเขียนกลอนขึ้นมาใหม่ ในสำนวนของมะขามป้อมเองแต่ไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของลิเกทั้งการร้องและการร่ายรำ โดยมีการฝึกฝนทั้งการผูกกลอน พูดกันเป็นกลอน หัดลูกเอื้อน ประดิษฐพัฒนาแนวทางของลิเกร่วมสมัยด้วยการนำโครงสร้างของงานละครเป็นตัวตั้ง แล้วนำองค์ประกอบของลิเกเข้ามาผสม ทำให้การแสดงมีรูปแบบคล้ายมิวสิคัลแบบมีกลอน เป็นละครร้องที่ด้นสดได้ คือมีโครงสร้างของเรื่อง แต่นักแสดงก็มีอิสระที่จะตีความและคิดเนื้อเอง ประดิษฐจะกำหนดโครงสร้างละครเป็นฉากสั้นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักแสดงได้ด้นสด ทำให้การแสดงแต่ละครั้งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามแต่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้แสดง

ผลงานส่วนใหญ่ ประดิษฐมักสอดแทรกเรื่องราวที่กระตุ้นเตือนให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงความเป็นไปในสังคมร่วมสมัย และการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยใช้ศิลปะพื้นบ้านที่เข้าใจง่ายเป็นสื่อ เช่น ‘ลิเกเปลี่ยนฟ้าแปรดิน’ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หรือ เรื่อง ‘ยักษ์ตัวแดง’ เนื้อหาต้องการสะท้อนให้เห็นความแปลกแยกของคนในสังคม เห็นคนที่ไม่เหมือนกับตนเองก็จะเกิดความหวาดระแวง จนกลายเป็นความเข้าใจผิดและทำร้ายซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ผลงานการตีความวันทองใหม่ในบริบทปัจจุบัน ในเรื่อง ‘กลับมาเถิดวันทอง’ ฯลฯ โดยเขาแสดงให้เห็นวิธีสร้างสรรค์ให้รากวัฒนธรรมเดิมอยู่ร่วมกับสังคมสมัยใหม่ได้อย่างมีสุนทรียภาพ และได้รับการยอมรับให้เปิดการแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปัจจุบัน ประดิษฐได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพ ซึ่งจัดเทศกาลละครกรุงเทพเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ชมและคนที่ทำงานสายละครได้มีพื้นที่ในการสื่อสารซึ่งกันและกัน ภายหลังเขาแยกตัวออกมาจากกลุ่มละครมะขามป้อม และตั้งคณะละครอนัตตา ในปี พ.ศ. 2555 เนื่องจากต้องการนำเสนอรูปแบบละครที่หลากหลายขึ้นซึ่งต่างจากแนวทางของคณะละครมะขามป้อม ในทุกวัน เขายังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานการแสดง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งผ่านความคิดและอุดมการณ์ของเขาต่อสังคมและคนรุ่นต่อไป

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031