นิกร แซ่ตั้ง

นิกร แซ่ตั้ง

Nikorn Sae-Tang

รางวัลศิลปาธร : สาขาศิลปะการแสดง

ประวัติศิลปิน

นิกร แซ่ตั้ง จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ไปเรียนรู้วิชาการละครจากอาจารย์มัทนี รัตนิน ที่คณะศิลปศาสตร์ นิกรเข้าทำงานที่บริษัทแดส เอนเตอร์เทนเมนต์ โดยเริ่มเขียนบทละครแมวจอมข่วน เขียนบทและกำกับอภินิหารมังกรกายสิทธิ์สีรุ้ง และสัตว์กระป๋อง เขาลาออกจากบริษัทแดสฯ เมื่อ พ.ศ. 2541 เพื่อมาตั้งคณะละคร “แปดคูณแปด” หรือใช้ชื่อภาษาอังกฤษ “Theatre 8×8” เขาสร้างผลงานละครเวทีอย่างต่อเนื่อง ผลงานที่เป็นที่รู้จัก เช่น นอนไม่หลับ, ทารกจกเปรต, กรุงเทพน่ารักน่าชัง, พระเจ้าเซ็ง, เมาท์,  สาวชาวนา, แม่น้ำแห่งความตาย, วันดับฝัน นิกรเพิ่มพูนความรู้ด้านละครโดยเรียนประกาศนียบัตรชั้นสูงสาขาศิลปการละครที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปศึกษาทางด้านการละครพูดผสมกับการแสดงแบบภาษากาย (Physical Theatre) ที่สถาบัน L’École Internationale de Théâtre Jacques Lecoq กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการละครในแบบ Physical Theatre เป็นรูปแบบของการแสดงที่เล่าเรื่องราวผ่านการใช้ร่างกายและท่าทาง ในการสื่อความหมาย

นิกรเป็นหนึ่งในผู้นำหัวขบวนของ “ละครผอม” ที่อาจารย์เจตนา นาควัชระเป็นผู้ใช้คำเรียกนี้ โดยอธิบายว่า “ละครผอม” มักเป็นละครที่ลงทุนน้อย ทั้งอุปกรณ์การแสดงและนักแสดง แต่ต้องใช้ความคิดอย่างมากในการจัดการแสดงเล่าเรื่องด้วยวิธีที่หลากหลาย ไม่บอกความอย่างตรงไปตรงมา มุ่งสร้างปัญญาให้กับสังคม หรือกระตุ้นให้เกิดความคิดเชิงปรัชญาคณะละครแปดคูณแปดมีแนวคิดหลักเพื่อนำเสนอละครเวทีที่มีความเกี่ยวพันกับสังคมปัจจุบัน เพื่อให้ละครขัดเกลา สร้างการเรียนรู้ และพัฒนาความเป็นมนุษย์ของผู้คน การทำงานจะให้ความสำคัญกับการเลือกเฟ้นประเด็นสนใจก่อนหลังจากนั้นจึงใคร่ครวญถึงวิธีการนำเสนอ เพื่อให้สามารถสื่อสารถึงประเด็นนั้นได้ชัดเจน งานของคณะแปดคูณแปดเป็นการแสดงที่เน้น 2 ส่วนคือ การเคลื่อนไหวเชิงกายภาพ (physical motion) ซึ่งเป็นการใช้ร่างกายถ่ายทอดเรื่องราวอย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่าจะมีบทพูดหรือไม่ก็ตามและบทละคร นอนไม่หลับ เป็นผลงานการเขียนบทและการแสดงเดี่ยว (solo performance) ของนิกร แสดงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 ต่อมาได้แสดงสู่สายตาผู้ชมหลายครั้ง หลายรอบ ในหลายสถานที่ รวมทั้งบทประพันธ์ของเขาได้รับการนำกลับมาเล่นใหม่บ่อยครั้งโดยนักแสดงคนอื่น นอนไม่หลับเป็นเรื่องราวของชัยณรงค์ หนุ่มพนักงานธนาคาร ที่กำลังประสบวิกฤตในชีวิต พยายามหนีจากฝันร้าย พยายามทุกวิถีทางที่ทำให้ตัวเองตื่นอยู่ตลอดเวลา ละครต้องการสะท้อนสภาพสังคม การคิด การตัดสินใจแก้ปัญหาของตัวละครโน้มนำให้ผู้ชมได้เรียนรู้เข้าใจสภาวะความเป็นไปของมนุษย์นิกรเป็นผู้มีลักษณะที่ว่า อยากรู้อะไร ต้องรู้ให้จริง ใส่ใจกับข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับงานในทุกมิติ ก่อนสร้างผลงานแต่ละชิ้น เขาจะค้นคว้าเพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง กระทั่งถึงในระดับประสบการณ์ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเขาคำนึงถึงหน้าที่ของละครที่ต้องสื่อและกระตุ้นสำนึกเรื่องความเป็นมนุษย์ไม่ใช่เพียงแค่ให้เกิดความฉลาดเชิงปัญญาจากข้อมูลหรือตรรกะ

นิกรบ่มเพาะฝีมือจากการแก้โจทย์ยากๆ ในงานละครของตัวเอง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนจะเป็นข้อจำกัด โรงละครแปดคูณแปด ที่ตลาดสามย่านเป็นห้องแถวเก่าที่ยกให้พื้นที่ของชั้นสามเป็นโรงละคร ซึ่งเป็นห้องโล่งทาสีขาว ไม่มีเวที ด้านหลังไม่มีฉาก มีหน้าต่าง ด้านหลังเป็นที่นั่งของคนดู จุได้ 35 คน ไร้พำนักเริ่มต้นจากการแสดงที่โรงละครขนาดเล็กประมาณ 4×10 เมตร แห่งนี้จากการแสดงผลงานชิ้นนี้ทำให้เขารับรู้ว่าชาวต่างชาติสนใจงานของเขาเช่นกันภัณฑารักษ์ชาวเยอรมัน คนญี่ปุ่น คนไต้หวัน มาดูและชื่นชมผลงาน แต่คนญี่ปุ่นจากมูลนิธิญี่ปุ่นไม่สนับสนุนเรื่องเกี่ยวกับการเมือง และคนไต้หวันไม่ได้ติดต่ออย่างเป็นกิจจะลักษณะ จึงไม่ได้มีการทำกิจกรรมต่อเนื่อง นิกรมีความเชี่ยวชาญในการจัดการกับการใช้พื้นที่และอุปกรณ์ในฉากซึ่งมีจำนวนน้อยชิ้น ดังตัวอย่างที่ศรชัย จากบล็อกตาข่ายดักความคิดให้ข้อสังเกตในละคร ไร้พำนัก ว่า“อุปกรณ์ม้านั่งยาวขนาดเมตรครึ่งสีขาว ที่อาจเคลื่อนย้ายออกจากฉากได้ลำบาก แต่นิกรแก้ปัญหาโดยใช้ประโยชน์จากม้านั่งนี้หลายประการ มันถูกใช้แทนโลงศพ, ม้านั่งในสวน, เก้าอี้ในรถไฟ, โต๊ะญี่ปุ่นตัวเตี้ยในคอนโด, ป้ายหินสุสาน ซึ่งคล้ายกับในผลงานนอนไม่หลับที่นิกรใช้ประโยชน์จากโต๊ะหนึ่งตัวอย่างสารพัดในการแสดง”ไร้พำนัก ได้รับแรงบันดาลใจจากการติดตามข่าวการไปคำนับวีรชนที่เสียชีวิตจากสงคราม ณ ศาลเจ้ายาสุกุนิ และเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ นิกรตั้งคำถามต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ดังบางคำพูดในบทที่ว่า “คนตายทำร้ายคนเป็น หรือคนเป็นทำร้ายคนตายกันแน่” ไร้พำนัก มีความน่าสนใจอย่างยิ่งในวิธีการนำเสนอแบบข้ามวัฒนธรรม โดยใช้นักแสดงเป็นชาวญี่ปุ่นสองคน บางตอนถูกกำหนดให้พูดภาษาไทย นักแสดงไทยบางคนพูดบทเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่เรื่องดำเนินไปได้อย่างราบรื่น โดยผู้ชมสามารถติดตามเรื่องราวจากการอ่านตัวอักษรแปล ซึ่งถูกฉายประกอบอยู่บนคานปูนซึ่งยื่นออกมาจากระดับของฝ้าด้านบนเพดาน นักแสดงต่างเชื้อชาติ ต่างภูมิหลังวัฒนธรรม ต่างเอกลักษณ์เสริมมิติให้เนื้อหางานมีความลุ่มลึก เติมเต็มการแสดงได้อย่างกลมกลืนผลงาน แม่น้ำแห่งความตาย ได้รับคัดเลือกให้ร่วมงาน The 22nd Session of the Cairo International Festival for Experimental Theatre กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมของชาวบ้านหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งถูกน้ำท่วมเมื่อครั้งอุทกภัยใหญ่ หมู่บ้านถูกแบ่งออกเป็นสองฟากด้วยเขื่อนกั้นน้ำ ในฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านแต่ละฟากหาทางเอาชีวิตรอด ถ้าไม่เปิดเขื่อน หมู่บ้านด้านบนต้องจมอยู่ใต้น้ำ แต่ถ้าเปิดเขื่อน หมู่บ้านด้านล่างจะถูกกระแสน้ำพัดถล่ม ทั้งสองฝ่ายเฝ้าระวังเขื่อนอย่างแข็งขัน ฆ่าฟันกันตาย ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนสนิท ญาติ หรือคนรัก แม้ขณะนั้นสังคมไทยจะเรียกร้องคำว่าปรองดองสามัคคี แต่นิกรปฏิเสธว่าไม่ได้แต่งเพื่ออิงกับสถานการณ์นี้ ดังจะได้เห็นจาก แม่น้ำแห่งความตาย เริ่มเล่นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2545 เค้าโครงเรื่องมาจากนิทานโบราณจีนในศตวรรษที่ 15 ของกวี Hsi – Xhou แต่ทว่าเนื้อหามีความร่วมสมัยเกี่ยวกับการต่อสู้ ขัดแย้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้นิกรเล่าถึงการสร้างละครเพื่อไปแสดงที่อียิปต์นี้ว่า “เนื่องจากเป็นเทศกาลละครแนวทดลอง ละครต้องมีความร่วมสมัยที่น่าค้นหา ไม่ใช่ละครปกติธรรมดา จึงมีทั้งการใช้เพลง หุ่น หน้ากาก และหลายอย่างมาผสมผสาน” การทำละครเวทีต้องคำนึงถึงบริบทแวดล้อมทั้งเชิงพื้นที่กายภาพ สังคม วัฒนธรรม สร้างสรรค์วิธีสื่อสารที่ไม่เหมือนกันในแต่ละบริบท เพื่อให้สามารถสร้างผลกระทบต่อผู้ชมได้ดีที่สุด

นิกรให้ความสำคัญกับการสร้างทายาทงานละครจากคนรุ่นใหม่ โดยจัดอบรม “โครงการตัวอ่อนแปดคูณแปด: สร้างเยาวชนด้วยศิลปะการแสดง” เพื่อสอนและค้นหาคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงานการละคร ไม่ใช่เพียงเพื่อเป็นงานอดิเรกนิกรเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการละคร สอนให้ได้ครุ่นคิดถึง “อาชีพ” ที่มาจากความพอใจ ความรัก ความสุขที่ได้ทำ และต้องทำ ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ตลอดจนฝึกให้มีคนดูละครใหม่ๆ ขึ้นมารสนิยมการใช้ชีวิตของคนในสังคมไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการดูละครเวที คนในเมืองมักพาครอบครัวไปเดินห้างสรรพสินค้า มากกว่าการทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรม นันทนาการ กีฬา หรืออื่นๆ วัฒนธรรมการดูละครต้องถูกฝึกเช่นกัน การดูละครต้องมีการวางแผน การเตรียมตัว นิกรได้เข้าร่วมงานกับเพื่อนในเครือข่ายละครกรุงเทพ ร่วมกันจัดงานเทศกาลละครกรุงเทพ (BangkokTheatre Festival; BTF) ตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2545 ซึ่งมีเพียง 3 กลุ่ม คือ “มะขามป้อม” “8×8” “มรดกใหม่” ในปี พ.ศ. 2555 มีคณะละครเพิ่มขึ้นเป็น 10 กลุ่ม เทศกาลละครกรุงเทพเติบโต สร้างอัตลักษณ์ที่ชัดเจน เป็นแหล่งรวมคนละครจิตอาสา ไปพร้อมกับการเรียนรู้การดูละครของคนกรุงเทพความตั้งใจ ความมุ่งมั่น การใช้ชีวิตที่มีความสุข มีคุณค่ากับงานละครสะท้อนสังคม เป็นต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลังที่มุ่งจะสืบสานเจตนารมย์และพัฒนาการละครที่ให้ปัญญาและลมหายใจแห่งจิตวิญญาณเสรีแก่ผู้คนในสังคมไทยและสังคมโลกต่อไป

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031