นนทรีย์ นิมิบุตร
นนทรีย์ นิมิบุตร
รางวัลศิลปาธร : สาขาภาพยนตร์
ประวัติศิลปิน
หลังจากที่วงการภาพยนตร์ไทยซบเซามาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2530 ต่อเนื่อจนถึงช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ส่งผลให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก ถึงกับมีคำกล่าวกันว่าภาพยนตร์ไทยได้ตายไปแล้ว ทว่าในช่วงฤดูร้อนเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2540 ภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ อุ๋ย นนทรี นิมิบุตร ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ที่กระตุ้นให้วงการภาพยนตร์ไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ด้วยรายได้รวมถึง 75 ล้านบาท ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2542 นนทรีย์จะส่งผลงานลำดับที่สองเรื่อง นางนาก ภาพยนตร์สยองขวัญอารมณ์แปลกใหม่ที่ดึงดูดให้ผู้ชมออกมาชมภาพยนตร์ไทยกันมากขึ้น จนสร้างปรากฏการณ์กวาดรายได้สูงสุด เป็นประวัติการณ์ด้วยจำนวนรายรับรวมกว่า 149 ล้านบาท ชื่อของ นนทรี จึงถูกจารึกไว้บนหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์หนังไทยในฐานะคลื่นระลอกใหญ่ที่ผลักดันให้วงการภาพยนตร์ในบ้านเรากลับมารุ่งเรืองและมีความหลากหลายมากขึ้น
นนทรีย์ นิมิบุตร คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยมานานเกือบสองทศวรรษ ร่วมงานกับทีมสร้างภาพยนตร์หลายทีม และร่วมงานกับนักแสดงชื่อดังหลายคน โดยที่เขาผ่านประสบการณ์การเป็น ทั้งผู้กำกับภาพยนตร ์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และนักเขียนบทภาพยนตร์มาหลายต่อหลายเรื่อง อาทิเช่น 2499 อันธพาลครองเมือง (2540), นางนาก (2542), จัน ดารา (2544), อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต (Three) ตอน The Wheel (San Geng) (2545), โอเคเบตง (2546), ปืนใหญ่จอมสลัด (2551), คน-โลก-จิต (2555), Timeline จดหมาย ความทรงจำ (2557) ฯลฯ
นนทรีย์เกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2505 ปัจจุบันอายุ 51 ปี เขาสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม หลังจากนั้นจึงเข้ารับการศึกษาต่อด้านศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากร และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรช่วงที่ นนทรีย์กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 เขาได้ติดตามเพื่อนที่เรียนคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปถ่ายสารคดีเกี่ยวกับพิธีแห่เทียนพรรษา ที่จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้เขาพบว่าตนเองมีความสนใจด้านการสร้างภาพยนตร์หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มต้นทุ่มเทศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการทำ Production หนังและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง
นนทรีย์ไม่เคยละทิ้งความฝันของตนเอง เขามุมานะสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้กำกับกับหลายต่อหลายคนเพื่อสั่งสมความรู้เกี่ยวกับการจัดการด้านภาพยนตร์ ตั้งแต่การถ่ายทำ การตัดต่อ การบันทึกเสียง และการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2517 นนทรีย์ได้ประกอบอาชีพเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโอให้กับศิลปิน นักร้องและบริษัทเทปชั้นนำต่างๆ มากมาย ก่อนที่จะผันตัวมาเอาดีด้านทำสารคดีละครโทรทัศน์ และเข้าสู่วงการกำกับโฆษณา ด้วยฝีไม้ลายมือที่โดดเด่นจึงทำให้เขาได้รับรางวัลประกวดผลงานโฆษณายอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย TACT AWARDS ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2540 นนทรีย์จะได้มีโอกาสก้าวเข้ามาในบทบาทกำกับภาพยนตร์อย่างเต็มตัว ลักษณะเด่นในผลงานหนังของเขา คือการมี Production ที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ เน้นการใช้ภาพที่สวยงามในการเล่าเรื่องและสื่อความหมาย และสามารถผสมผสาน สอดแทรกศิลปวัฒนธรรมไว้ในภาพยนตร์อย่างกลมกลืน จึงนับว่าเขาเป็นผู้กำกับที่มีความสามารถ และมีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่อยู่เสมอ
นนทรีย์เป็นบุคลากรทางภาพยนตร์ที่มีบทบาทและคุณูปการต่อการยกระดับหนังไทยหลายด้าน เขาก่อตั้งบริษัท ซีเนมาเซีย จำกัด ร่วมกับ ดวงกมล ลิ่มเจริญ ในปี พ.ศ. 2543 เพื่อร่วมกันสานฝันที่จะพัฒนาวงการภาพยนตร์ไทย เคยเป็นคณาจารย์ ในหลักสูตร Asian Film Academy หรือ AFA เป็นหลักสูตรที่ก่อตั้งขึ้นร่วมกับ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ประเทศเกาหลี คณะกรรมการภาพยนตร์เกาหลี สถาบันศิลปะการทำภาพยนตร์เกาหลี และมหาวิทยาลัย Dongseo ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาวงการภาพยนตร์อาเซียนให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้กับคนทำหนังรุ่นใหม่ได้ Workshop ร่วมกับผู้กำกับมืออาชีพหลายคนของเอเชีย รวมทั้งจัดตั้งโครงการ Thailand Script Project 2007 โดยคัดเลือกบทภาพยนตร์ที่ดีที่สุดจากทั่วประเทศไทยเพื่อโอกาสสู่การสร้างสรรค์ลงบนแผ่นฟิล์ม รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ และนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย 2 สมัย
ปัจจุบัน นนทรีย์ นิมิบุตร ยังคงผลิตผลงานภาพยนตร์ด้วยแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยใช้วัตถุจากข่าวสารทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือ หนังสือพิมพ์หรือข่าวสารจากโลกไซเบอร์ และสิ่งแวดล้อมที่เขาได้เข้าไปปะทะสัมพันธ์ และมีความคิดต่อปรากฏการณ์ต่างๆ เพื่อเชื่อมโยง ประมวลเรื่องราวและกลั่นกรองออกมาเป็นภาพยนตร์คุณภาพให้ชาวไทยและชาวโลกได้ชมอย่างต่อเนื่อง