ธัญสก พันสิทธิวรกุล

ธัญสก

พันสิทธิวรกุล

ธัญสก พันสิทธิวรกุล

รางวัลศิลปาธร : สาขาภาพยนตร์

ประวัติศิลปิน

ธัญสก พันสิทธิวรกุล เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ สำเร็จการศึกษาจาก ภาควิชาศิลปศึกษาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความสนใจในศาสตร์ภาพยนตร์แม้จะไม่ได้เรียนโดยตรงจากมหาวิทยาลัย แต่ธัญสกมักจะหาเวลาสมัครเข้าโครงการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ วิจารณ์ภาพยนตร์ เมื่อศาสตร์ของภาพเคลื่อนไหวให้ความตื่นเต้นท้าทายกับธัญสก ทำให้เขาเริ่มค้นพบตัวเองและร่วมเป็นอาสาสมัครกับมูลนิธิหนังไทย ช่วงชีวิตของการเป็นนักศึกษาธัญสกจึงได้ใช้เวลาไปกับการชมภาพยนตร์ ฝึกคิด วิเคราะห์ และเริ่มทำหนังของตัวเองอย่างกระตือรือร้นก่อนจะเริ่มเดินเข้าสู่แวดวงของภาพยนตร์ทดลองด้วยการส่งหนังของตัวเองไปประกวดและได้ร่วมฉายในต่างแดน นอกจากนี้ธัญสกยังเป็นคอลัมนิสต์ด้านภาพยนตร์ให้กับนิตยสารมากมาย อาทิ หนัง:ไทย, อะเดย์, Bioscope ฯลฯ

แม้จะเริ่มกำกับหนังของตัวเองด้วยงบจำกัด แต่ผลงานของเขาก็ได้ฉายตามเทศกาลต่าง ๆ มาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 เทศกาลทั่วโลก เช่น เทศกาลภาพยนตร์ The 39th International Film Festival Rotterdam, The Netherlands (2010), The Berlin Institute for Cultural Inquiry, Germany (2010) ฯลฯ เขาเคยได้รางวัลยอดเยี่ยม จากเทศกาลสารคดีนานาชาติไต้หวัน ครั้งที่ 4 เมื่อปี 2004 (The 4th Taiwan International Documentary Festival in 2004) จากสารคดีเรื่อง สวรรค์สุดเอื้อม (Happy Berry) นำเสนอชีวิตคนธรรมดาทั้ง 4 ผู้ร่วมกันดำเนินกิจการร้านขายเสื้อผ้าร้านหนึ่งใจกลางเมืองหลวง โดยไม่ปรุงแต่งชีวิตของตัวละครให้เกินจริง หนังเล่าเรื่องราวผ่านชีวิตประจำวันกิจกรรม วิธีการสนทนาที่เป็นไปแบบปกติที่ใช้สื่อสารกันในชีวิตจริง การแสดงออกบางอย่างของวัยรุ่นมักจะทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตวัยรุ่นเป็นสิ่งที่ไม่มี “แก่นสาร” แต่หนังได้สะท้อนวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นตามยุคสมัย พาผู้ชมให้เข้าไปทำความรู้จักกับชีวิตที่แขวนไว้บนความฝัน ความทะเยอทะยาน ในยุคสมัยที่ผลักดันให้คนรุ่นใหม่อยากเป็นที่สนใจและวาดหวังถึงความสำเร็จด้วยวิธีต่างๆ โดยเฉพาะการตีความเรื่อง “ชื่อเสียง” ซึ่งเป็นแนวคิดที่บอบบางและทรงพลังของวัยรุ่นในยุคโลกาภิวัตน์

ความสนใจในชีวิตคนธรรมดา ความรัก ความหวัง ความโศก และการทำภาพยนตร์แบบไม่ต้องใช้ทุนมหาศาล ส่งผลให้โครงการภาพยตร์เรื่อง ศาลาคนเศร้า (Heartbreak Pavilion) ของเขาที่ได้ร่วมมือกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และสมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ ได้รับรางวัลสูงสุดจาก PPP (Pusan Promotion Plan) ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองปูซาน เมื่อปี พ.ศ. 2547 (The 10th Pusan International Film Festival in 2005) ด้วยแรงบันดาลใจจากนิตยสาร “ศาลาคนเศร้า” สิ่งพิมพ์จากยุคสมัยที่ยังไม่มีอินเตอร์เนต แต่เป็นสื่อที่ผู้คนร่วมแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวเกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์ ทั้งแบบลับและไม่ลับ โครงการนี้แม้จะยังไม่ลุล่วง แต่ก็ช่วยให้ความคิดของธัญสกชัดเจนขึ้นในด้านเนื้อหานามธรรมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์ของมนุษย์

ผลงานที่ผ่านมาส่งผลให้ธัญสกได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2550 แต่สำหรับภาพยนตร์ของธัญสก เกือบทั้งหมดไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยด้วยเงื่อนไขของการเซ็นเซอร์ บางคนอาจจะนิยามว่าเป็นหนังทดลอง เข้าใจยาก และเต็มไปด้วยการนำเสนอเรื่องราวทางเพศ ซึ่งการแสดงออกผ่านสัญลักษณ์ในเรื่องเพศนี้เองที่เป็นทำให้ธัญสกเป็นหนึ่งในผู้กำกับหนังนอกกระแสที่ได้รับการจับตามองด้วยการใช้อุปมา ซ่อน และซ้อนทับกับประเด็นทางสังคม ความไม่ยุติธรรม การเมือง สงคราม ความรุนแรง ผ่านความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง-ชาย หรือระหว่างเพศเดียวกันโดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง “บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน” (This area is Under Quarantine, 2008) ที่นำเสนอปัญหาของกลุ่มชายรักร่วมเพศ และกลุ่มคนมุสลิมในสังคมไทย หนังนำเสนอภาพมุมกล้องแบบถ้ำมอง แม้ภาพยนตร์จะมีฉากล่อแหลม แต่กลับทำงานกับผู้ชมอย่างน่าสนใจด้วยการให้ความรู้สึกน่าอึดอัดในกิจกรรมของชายคู่หนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่อง “บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน” ก็ถูกห้ามฉายใน “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ” ในปี พ.ศ. 2551

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2552 ธัญสกได้พบกับ Jürgen Brüning โปรดิวเซอร์ชาวเยอรมันที่เข้ามาสนับสนุนภาพยนตร์เรื่อง “ผู้ก่อการร้าย” The Terrorists ผลงานชิ้นนี้จึงได้ไปเปิดตัวที่เทศกาลหนังในเบอร์ลิน และฉายในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในฐานะศิลปินรับเชิญในนิทรรศการ “ตรรกะสังสรรค์” เมื่อปี พ.ศ. 2554 เมื่อหนังพูดถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองเรื่องราวเริ่มต้นจากการเล่าผ่านตัวละครเกย์ในวรรณะอาชีพต่างๆ เช่น ภาพวัยรุ่นหนุ่ม 3 คน บนเรือหาปลากลางทะเลผ่านมุมกล้องแบบแอบถ่ายผสมกับบทสนทนาภาษาใต้ ภาพชายที่ถูกมัดมือเท้าแล้วถูกทารุณกรรมทางเพศในห้องมืดแรงงานพม่ากับปัญหาเรื่องบัตรประชาชน ภาพเด็กหนุ่มเปลือยอยู่กลางป่าตัดสลับภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุม

เรื่องราวนำเสนอภาพกึ่งเปลือย ปะปนด้วยความรุนแรงจนมาถึงภาพชายหนุ่มเปลือยกายอาบแดด คลอไปกับข้อความเล่าเรื่องความรักของมอแกนหนุ่มกับคนไทยไม่ระบุเพศ ภาพเด็กหนุ่มเดินอยู่ในอะควาเรียมที่มีปลาหมึกยักษ์เรืองแสง จนถึงภาพชายหนุ่มกำลังสำเร็จความใคร่โดยลำพัง ภายในห้องบนอาคารเลียบรางรถไฟฟ้า หนังเล่าผ่านภาพชีวิตของผู้คนและการเดินทาง มีข้อความจากความทรงจำของบุคคลหนึ่งกำลังเล่าเรื่องราวของแม่ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาพ.ศ. 2519 ความผสมปนเประหว่างเรื่องราวทางเพศและประวัติศาสตร์การเมืองชวนให้นึกถึงประโยคสำคัญของภาพยนตร์ตอนหนึ่งที่ว่า …ผมไม่รู้ว่าอะไรน่ากลัวกว่ากันระหว่าง “จำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง หรือลืมในสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง”…สาระของหนังแอบซ่อนความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยที่ยังไม่เคยจบสิ้นไป ในขณะที่ประวัติศาสตร์แทบไม่เหลือร่องรอยทิ้งเอาไว้ เป็นการย้อนถามต่อผู้ชมในสถานการณ์ที่สังคมพยายามจะลืม และเลือกจดจำประวัติศาสตร์ไว้เฉพาะบางส่วนอย่างน่าขบคิด

เมื่อเพศสถานะที่หลากหลายกำลังหยอกล้อกับสังคม การเมือง วัฒนธรรมกลายเป็นภาษาของภาพยนตร์ที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในแวดวงหนังทดลองระดับนานาชาติ และธัญสกก็นับว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับไทยที่ได้รับการจับตาในเวทีต่างชาติ แม้จะยังไม่ได้รับการยอมรับด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายในบ้านเรานักแต่อย่างไรก็ตามแนวทางภาพยนตร์การเมือง ก็ไม่ได้เป็นเนื้อหาหลักของผู้กำกับผู้นี้ปัจจุบันธัญสกกำลังกำกับภาพยนตร์เรื่อง “time-space” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาเอง ได้แรงบันดาลใจจากทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่และเวลาของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งในอดีตเคยเชื่อกันว่าสองสิ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกันกระทั่งไอน์สไตน์พบว่าทุกสิ่งในจักรวาลล้วนมีอยู่ และเดินทางด้วยหลักการของพื้นที่และเวลา ซึ่งความคิดนี้กำลังได้รับการอธิบายด้วย “ความตาย” ของ ธัญสกพันสิทธิวรกุล ผู้กำกับที่ยังมีชีวิตอยู่ในความทรงจำของผู้ชม

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031