ดนู ฮันตระกูล
ดนู ฮันตระกูล
รางวัลศิลปาธร : สาขาคีตศิลป์
ประวัติศิลปิน
คนไทยอาจจะนึกภาพเครื่องดนตรีไทยอย่างระนาดเอกอยู่บนเวทีการแสดงพร้อมกับเครื่องดนตรีสากลไม่ออก หรือดนตรีไทยจะอยู่ร่วมกับดนตรีสากลได้หรือไม่ อย่างไร ถ้าไม่มีผู้ชายที่ชื่อ ดนู ฮันตระกูล กับประพันธ์เพลงผู้ได้ชื่อว่าเป็น อว็อง-การ์ด (Avant-garde) ของวงการดนตรีไทย หลังจากที่ร่วมกับ สมเถา
สุจริตกุล และ บรูซ แกสตัน สร้างปรากฏการณ์ดนตรีไทยร่วมสมัยให้เกิดขึ้นครั้งแรก ในงาน Asian Composers League Festival 1978 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย หลังจากการแสดงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความเหมาะสมในการนำเครื่องดนตรีไทยมาแสดงอย่างผิดขนบธรรมเนียมในช่วงเวลานั้น จนกระทั่งเกิดมิติใหม่ของวงการดนตรีไทยร่วมสมัย ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มยอมรับได้ในเวลาต่อมา ด้วยเข้าใจว่าเป็นวิถีแห่งการสร้างสรรค์มากกว่าทำลาย ทั้งยังเป็นผู้ก่อร่างสร้าง “วงไหมไทย” วงออร์เคสตราที่นำเพลงไทยเดิมมาเรียบเรียงดนตรีใหม่แล้วบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสากล จนเป็น ที่รู้จักกัน และได้รับการยอมรับในวงกว้าง
นับย้อนไปในปี พ.ศ. 2519 มีวงดนตรีไทยสากลเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือวง “ภาคีวัดอรุณ” ก่อตั้งขึ้นภายใต้การนำของ ดนู ฮันตระกูล ซึ่งกลับมาประเทศไทยหลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านการประพันธ์ จากรอยัลคอนเซอร์วาตอรี กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Royal Conservatory of The Hague) ร่วมกับเพื่อนนักดนตรีอย่าง จิรพรรณ อังศวานนท์, สุรสีห์ อิทธิกุล, นันทิกา กาญจนวัฒน์, บรูซ แกสตัน และ ธนวัฒน์ (อนุวัฒน์) สืบสุวรรณแนวทางการเล่นดนตรีของพวกเขามีความแปลกใหม่ทั้งเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ เนื่องจากมีการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีตะวันตกเข้ากับเครื่องดนตรีไทย รวมไปถึงการใช้วัตถุที่ไม่ใช่เครื่องดนตรีมาผสมในรูปแบบของ percussion อย่าง หม้อ กระทะ ไหแก้ว ไม้ไผ่ ฯลฯ สร้างความประหลาดใจให้ผู้ฟังดนตรีในยุคนั้นเป็นอย่างมาก จนได้ชื่อว่าเป็นแนวดนตรี อว็อง-การ์ด (Avant-garde)ของวงการเพลงไทยสากลในยุคนั้น
พลังแห่งการสร้างสรรค์และความรักในศาสตร์ดนตรีทำให้ดนูไม่ยอมหยุดสร้างสิ่งใหม่ ความมุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานความมั่นคงให้กับอาชีพเพื่อพัฒนาวงการดนตรีของไทยต่อไป จึงได้เปิดโรงเรียนสอนดนตรีศศิลิยะ โดยเชิญ เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และก่อตั้งบริษัท บัตเตอร์ฟลาย ซาวน์แอนด์ฟิล์ม เซอร์วิส จำกัด รับผลิตผลงานเพลงเพื่อประกอบภาพยนตร์ และโฆษณาหลายชิ้น ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจนได้ชื่อว่ายุคผีเสื้อครอง เมือง จากนั้นได้ก่อตั้งวงดนตรี คีตกวี และได้ทำการบันทึกเสียงอัลบั้มแรก
ชื่อ“เรามาร้องเพลงกัน” โดยมี เรวัติ พทุ ธนิ นั ทน ์ เปน็ ผขูั้บรอ้ ง อัสนี โชตกิ ุล, เขตอรัญ เลิศพิพัฒน์, อนุวัฒน์ สืบสุวรรณและจิรพรรณ อังศวานนท์ ร่วมประพันธ์บทเพลง ซึ่งเป็นอัลบั้มเพลงที่ตอกย้ำถึงความเป็นนักดนตรีหัวก้าวหน้าของวงการ ด้วย เนื้อเพลงและทำนองที่สอดแทรกปรัชญาแนวคิด อุดมการณ์ที่ต้องการสร้างสำนึกทางสังคม และสันติภาพ ผสมผสานกับแนวดนตรีที่แปลกใหม่ หลังจากผลงานชุดนี้ผู้ร่วมประพันธ์เพลงหลายคนได้แยกย้ายไปผลิตผลงานเป็นของตนเองตามทัศนคติและแนวทางของตน สร้างสีสันให้วงการเพลงไทยสากลอย่างต่อเนื่อง
เวลาไม่เคยหยุดนิ่งฉันใด แนวคิดอันแปลกใหม่และสร้างสรรค์ของดนู ก็ไม่เคยหยุดนิ่งฉันนั้น ในปี พ.ศ. 2530 วงดนตรีไหมไทยได้เริ่มก่อตั้งขึ้น เป็นวงออร์เคสตราประเภทเครื่องสาย 12 ชิ้น และพิณฝรั่งเป็นเครื่องดนตรีเอกนำเพลงไทยเดิม เช่น เขมรไทรโยค ฯลฯ และเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ มาเรียบเรียง ให้สามารถเล่นกับเครื่องดนตรีสากล แต่ยังคงรักษากลิ่นไอของดนตรีไทยในผลงานชุด ไหมไทย 1 เพื่อเป็นการประกาศเอกลักษณ์ของวง ที่ต้องการนำเสนอการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีฝรั่ง เข้ากับท่วงทำนองเพลงไทย
อีกทั้งประพันธ์เพลงใหม่ๆ ที่มีถ้อยคำสละสลวย คล้องจองและออกเสียงวรรณยุกต์ได้ตรงกับตัวโน๊ตในบทเพลงเพื่อแสดงถึงความงามทางวรรณศิลป์ ต่อมามีการผสมผสานเครื่องดนตรีอื่นตามความเหมาะสม โดยมีทั้งการนำเพลงไทยเดิม เพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุงหรือเพลงที่มีลักษณะเฉพาะถิ่น มาเรียบเรียงทำนองเพื่อเล่น กับเครื่องดนตรีสากล ทั้งรูปแบบดนตรีบรรเลงอย่างเดียวและเพลงที่มีเสียงร้องอันอ่อนหวาน เน้นรูปแบบดนตรีที่ฟังสบาย กลุ่มผู้ฟังที่เป็นผู้ใหญ่และผู้ที่ชื่นชอบดนตรีที่มีความประณีต เช่น ผลงานชุด ตามเพลงไหมไทย เป็นผลงานที่นำบทประพันธ์เพลงไทยเดิม เช่น ลาวดวงเดือน อิเหนา พม่ารำขวาน มาเรียบเรียง และเล่นด้วยเครื่องดนตรีสากลสี่ชนิด คือ คลาลิเน็ท เปียโน ไวโอลิน และเชลโล ซึ่งบทเพลงยังคงความไพเราะของบทประพันธ์เดิมที่เล่นด้วยเครื่องดนตรีไทยภายใต้รูปแบบและวิธีนำเสนอที่เป็นสากล วงไหมไทยยังคงเปิดการแสดงคอนเสิร์ตและมีผลงานรวมอัลบั้มอย่างต่อเนื่อง
นอกเหนือจากรูปแบบดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของวงไหมไทย ยังรวบรวบผลงานส่วนตัวในนาม
ดนู ฮันตระกูล เช่น ผลงานชุด ดนู ทีเล่นทีจริง ปี พ.ศ. 2537 เป็นอัลบั้มรวมบทเพลงจำนวน 10 เพลง แต่รูปแบบการประพันธ์ต่างกันแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ที่หลากหลายสมกับชื่อชุดเพราะมีทั้งเพลงที่สนุกสนานซ่อนอารมณ์ขันและเพลงรักหวานซึ้ง เช่น เพลง โอ้แม่มารตี เป็นเพลงที่มีกลิ่นไอ ของท่วงทำนองเพลงอินเดีย ให้ภาพบรรยากาศเหมือนหนังอินเดียสมัยก่อน หรือ เพลงลูกทุ่งฟังสนุกอย่างบทเพลง ไอ้หนุ่มผมยาว ขับร้องโดยสุรชัย สมบัติเจริญ ซึ่งหวนกลับมาร้องเพลงอีกครั้งหลังจากที่หายไปนานและรับความนิยมอย่างสูง
ด้วยทำนองเพลงฟังสนุกได้อรรถรสแบบเพลงลูกทุ่งแต่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีคลาสสิก ปลุกกระแสความนิยมทั้งผู้ที่ฟังเพลงลูกทุ่งเดิมและกลุ่มคนที่ฟังเพลงไทยสากล ในปีเดียวกันนี้ดนูยังได้รับรางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ จากเรื่อง “กาลครั้งหนึ่ง เมื่อเช้านี้” ในนามไหมไทยออร์เคสตรา
ท่ามกลางกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน ไม้บาตองของ ดนูยังพลิ้วไหว ทั้งสมองและสองมือยังคงขับเคลื่อนจินตนาการ สร้างบทเพลงอันงดงามประณีต ชวนฟัง ด้วยการผสมผสานระหว่างองค์ประกอบของดนตรีไทยและองค์ประกอบของดนตรีสากล สร้างสุนทรียภาพอันตราตรึงใจให้แก่ผู้ฟัง
ดนู ยังคงทำในสิ่งที่รักอย่างมีความสุข สร้างผลงานเพลงใหม่ให้วงไหมไทยและยังมีการจัดแสดงสดอย่างต่อเนื่อง