ณัฐ ยนตรรักษ์
ณัฐ ยนตรรักษ์
รางวัลศิลปาธร : สาขาคีตศิลป์
ประวัติศิลปิน
เปียโนเป็นเครื่องดนตรีที่มีพลังพิเศษต่างจากเครื่องดนตรีชนิดอื่นเนื่องจากสามารถผลิตเสียงที่มีระดับเสียงต่ำมากไปจนถึงสูงมากได้ในเครื่องดนตรีชนิดเดียว ทั้งยังสามารถใช้บรรเลงทำนอง (Melody) และเสียงประสาน (Harmony) ได้ในเวลาเดียวกัน นักเปียโนจึงต้องใช้ทักษะระดับสูงเพื่อที่จะควบคุมความหลากหลายของจังหวะและเสียงเพื่อให้กลมกลืนและเกิดสุนทรียภาพที่งดงามตรึงใจผู้ฟัง หากจะนึกถึงนักเปียโนชั้นครูในประเทศไทย ชื่อของ ณัฐ ยนตรรักษ์ คงมาเป็นลำดับต้น เนื่องด้วยความสามารถอันโดดเด่น นอกจากความเชี่ยวชาญในการเล่นเปียโนแล้ว ยังประพันธ์บทเพลงอันไพเราะอ่อนหวานเพื่อบรรเลงในโอกาสสำคัญอีกมากมาย
ความสามารถในการเล่นเปียโนของณัฐ ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยเขาเริ่มสนใจในเสียงดนตรีและเรียนเปียโนตั้งแต่ อายุ 9 ปี เมื่ออายุ 14 ปี จึงได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์พันธิภา ตรีพูนผล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความมุ่งมั่นในการฝึกฝนทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันเปียโน Siam Music Festival ตั้งแต่อายุ 16 ปี และสอบได้ประกาศนียบัตรขั้นสูงสุด (F.T.C.L.) ของ Trinity College of Music London ซึ่งมาทำการสอบในประเทศไทยตั้งแต่อายุได้ 19 ปี เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะนักร้องประสานเสียง BCC Boys’ Choir พร้อมกับศึกษาดนตรีควบคู่ไปด้วย จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาต่อทางด้านดนตรีที่ Goldsmiths’ College University of London และได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านเปียโนที่ Reading University หลังจากสำเร็จการศึกษาจึงกลับมาเมืองไทยและได้ก่อตั้ง ณัฐสตูดิโอ (Nat Studio) เพื่อทำการแสดงและจัดการแข่งขันเปียโนในระดับนานาชาติทั้งยังเปิดเป็นโรงเรียนสอนเปียโนให้กับเยาวชนและผู้สนใจเพื่อเป็นการเผยแพร่ดนตรีคลาสสิกให้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยยิ่งขึ้น ในเส้นทางของนักเปียโนอาชีพ ณัฐเป็นชาวไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่ง Steinway Artist ในปี พ.ศ. 2546 จากบริษัทผลิตเปียโนที่มีชื่อเสียง Steinway&Son ซึ่งถือเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติที่น่ายกย่องและยอมรับเฉกเช่นเดียวกับนักเปียโนระดับโลกอีกหลายท่าน
ความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์อีกด้านหนึ่ง คือ การประพันธ์บทเพลงเพื่อแสดงในโอกาสพิเศษต่างๆ ที่เราได้ยินจนคุ้นชิน เช่น เพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวานอย่าง กุหลาบแห่งรัก (Rose of Love) ซึ่งประพันธ์เพื่อถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา บทเพลงจะมีท่วงทำนองอ่อนโยน พลิ้วไหว โดยต้องการให้บทเพลงแสดงถึงความชุ่มฉ่ำของหยาดฝนอันโปรยปรายลงสู่ผืนดินเพื่อให้อุดมสมบูรณ์ เสมือนความรักของพระองค์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรทั่วทุกหัวระแหง แม้แต่ผืนดินที่แห้งแล้งยังชุ่มฉ่ำด้วยพระเมตตา นอกจากนี้ในการประพันธ์เพลงยังได้มีการนำสุนทรียภาพของดนตรีไทยเดิมมาผสมผสานกับการประพันธ์เพลงสากล เช่น เพลงไก่แก้ว ซึ่งเป็นผลงานประยุกต์เพลงไทยเดิมเป็นหลักการประพันธ์ในรูปแบบ variation ทำนองให้เป็นดนตรีร่วมสมัยด้วยการบรรเลงเปียโน โดยมีทำนองหลักคือเพลงลาวจ้อยซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ในการแสดงระบำไก่จากบทประพันธ์เรื่องพระลอ ผสมผสานกับการเลียนบันไดเสียงแบบดนตรีไทย ให้มีเสียงวิบวับทอประกายสดใสเป็นภาพแทนของไก่แก้วที่งดงามไพเราะตลอดทั้งเพลง
เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ณัฐ ได้ประพันธ์เพลงเปียโนโซนาต้า หมายเลข 1 มีชื่อว่า ถวายชัยคีตมหาราชา (Glory to Our Great Kings) ซึ่งทำนองหลักของเพลงนำมาจากเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 7 และรัชกาล
ปัจจุบัน นำมาเรียงร้อยท่วงทำนองผสมผสานระหว่างดนตรีไทยเดิมและดนตรีไทยร่วมสมัย และได้มีโอกาสทำการแสดงในประเทศต่างๆ รวม 11 ประเทศ รวมทั้งการแสดงที่อาคารสหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ก เมื่อครั้งที่ฉลองการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ ครบ 50 ปี เช่นกัน หลังจากนั้นจึงได้ประพันธ์บทเพลงเปียโนโซนาต้าหมายเลข 2 ชื่อ ถวายบังคมนวมินทรราชา (Homage to H.M. King Rama the Ninth) เป็นบทเพลงที่ประพันธ์เนื่องในวโรกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา โดยนำเค้าโครงทำนองมาจากเพลง “เชิดจีน” เป็นบทเพลงเดี่ยวระนาดประพันธ์โดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ เป็นการนำมนต์เสน่ห์ของดนตรีไทยมาประยุกต์ใช้กับองค์ความรู้ทางดนตรีตะวันตกและถ่ายทอดออกมาอย่างมีพลัง และต่อมาได้ประพันธ์บทเพลง สยามโซนาตา (Siam Sonata) ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ 75 พรรษา ในปี พ.ศ. 2545 เป็นการนำบทประพันธ์ที่นำเสนอเอกลักษณ์ไทยทั้ง 4 ภาค ผ่านการเดี่ยวเปียโน โดยแบ่งเป็น 4 กระบวน เป็นตัวแทนของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เป็นการนำเอกลักษณ์ของบทเพลงในแต่ละภาคมาประพันธ์ให้เกิดความผสานกลมกลืนแสดงให้เห็นถึงประเทศสยามที่มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมพื้นถิ่นของแต่ละภาค แต่สามารถอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างนี้ได้อย่างกลมกลืนและมีพลังนอกจากนี้ยังมีบทเพลงอันไพเราะอื่นๆ ที่ณัฐประพันธ์ขึ้นในโอกาสต่างๆ และได้รวบรวมแล้วกว่า 10 อัลบั้ม
ในทุกวันเสียงเปียโนอันไพเราะและมีมนต์ขลังยังลอยอบอวลอยู่ในบ้านยนตรรักษ์ ทั้งจากคนในครอบครวั นักเรียน และผู้สนใจดนตรีจากร่นุ สู่ร่นุ แสดงให้เห็นถึงพลังของนักสร้างสรรค์ที่พร้อมมอบความรักให้ผู้อื่นด้วยเสียงดนตรีนอกเหนือจากการประพันธ์บทเพลงและการแสดงผลงานเดี่ยวของตนเองแล้ว ณัฐและครอบครัวของเขายังอุทิศตนเพื่อสาธารณกุศล โดยจัดการแสดงคอนเสิร์ตการกุศลและจัดจำหน่ายผลงานเพื่อหารายได้ให้มูลนิธิต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลงานศิลปะของเขาเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนในวงกว้างอย่างแท้จริง