Facebook Logo

อรสม สุทธิสาคร

อรสม สุทธิสาคร

Orasom Suddhisakorn

รางวัลศิลปาธร : สาขาวรรณศิลป์

ประวัติศิลปิน

อรสม สุทธิสาคร ศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2552 เดิมมีพื้นเพอยู่ที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เธอมีลักษณะนิสัยรักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เมื่อครั้งเยาว์วัย อรสมมักจะใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ในห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือที่ตนเองชื่นชอบมาโดยตลอด จนอาจกล่าวได้ว่าหนังสือเปรียบเสมือนเพื่อนรู้ใจที่ช่วยให้เธอคลายเหงาและจุดประกายความฝันของชีวิตให้ส่องสว่าง และด้วยความที่เป็นหนอนหนังสือเป็นทุนเดิมจึงช่วยให้อรสมสามารถถ่ายทอดและสะท้อนภาพชีวิตและสังคมได้อย่างลุ่มลึกอรสมเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 9 ปี ต่อมาจึงเริ่มต้นเขียนบทกลอนส่งไปยังรายการวิทยุท้องถิ่นของจังหวัดจันทบุรี จนได้รับการคัดเลือกเพื่ออ่านออกอากาศเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นแรงบันดาลใจครั้งสำคัญที่ผลักดันให้เด็กหญิงอรสมเขียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง และด้วยความที่เธอศึกษาในโรงเรียนประจำ การอ่านและการเขียนจึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเหงาของเธอ โดยมีซิสเตอร์ในโรงเรียนสนับสนุนให้เธอได้อ่านและสร้างสรรค์เรื่องราวผ่านปลายปากกาได้อย่างเต็มที่เมื่ออายุได้ 18 ปี อรสมประกอบอาชีพเป็นพนักงานพิสูจน์อักษรของหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน และคลุกคลีอยู่ในแวดวงนักหนังสือพิมพ์ ได้ทำงานนิตยสาร เป็นเซลล์ให้กับโรงพิมพ์ และเซลล์ขายโฆษณา ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ลงทะเบียนเรียนระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงไปพร้อมๆกัน ซึ่งแม้ว่าภายหลังเธอจะเรียนไม่จบ แต่การที่อรสมได้ทำงานอยู่ในแวดวงนักเขียนเป็นระยะเวลานานก็ช่วยให้เธอค้นพบว่าการเขียนหนังสือคือความชอบที่แท้จริงของตนเอง

เรื่องราวที่สะท้อนผ่านงานเขียนสารคดีของอรสม มีเนื้อหาเกี่ยวกับบุคคลหรือกลุ่มคนทั่วไปในสังคม เช่น กลุ่มนักเขียน กลุ่มนางงาม กลุ่มหมอ และกลุ่มคนชายขอบที่ถูกละเลยให้อยู่ในมุมมืดของสังคม มีการรวบรวมสืบค้นข้อมูลจากมุมมองของคนในและคนนอกอย่างเจาะลึก ทำให้ได้รับข้อมูลที่มีมิติรอบด้านจากสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด เช่น กลุ่มหญิงขายบริการ กลุ่มอาชญากรและกลุ่มนักโทษประหารชีวิต ฯลฯ โดยอรสมสืบค้นข้อมูลจากเอกสารและการลงภาคสนามสัมภาษณ์ด้วยตนเอง ซึ่งแม้ว่าการเดินทางขึ้นเหนือหรือล่องใต้อาจจะมีอุปสรรคอยู่มาก ทว่ากลับเป็นแรงผลักดันให้แสวงหาข้อมูลมานำเสนอเป็นสารคดีชีวิตที่มีคุณภาพ ไม่ว่าแหล่งข้อมูลนั้นจะเข้าถึงได้ยากแค่ไหน อรสมก็สามารถสืบเสาะมาจนได้ อีกทั้งยังยึดมั่นในจรรยาบรรณและรักษาความลับของแหล่งข้อมูลตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 20 ปี

เสน่ห์ในงานของเธอคือการเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากมุมมองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งงานเขียนแต่ละเล่มของเธอใช้เวลากว่า 6 – 7 เดือน ในการเก็บบันทึกข้อมูลเชิงคุณภาพ ก่อนจะนำมาร้อยเรียงด้วยถ้อยคำอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้อ่าน สารคดีทุกเรื่องของอรสมจึงได้รับการยกย่องว่าใช้กลวิธีการนำเสนอภาพชีวิตได้อย่างเป็นธรรมชาติ และมีแนวทางตามรูปแบบเนื้อเรื่องของสารคดี ที่เริ่มต้นจากการเกริ่นนำ เล่าเรื่อง และจบเรื่อง ด้วยวิธีการดำเนินเรื่องคล้ายเรื่องสั้นและนวนิยาย ทำให้สารคดีที่เต็มไปด้วยสาระความรู้ มีความน่าสนใจดึงดูดผู้อ่าน และมีลักษณะเด่นอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้เขียนที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านรูปแบบของวรรณกรรมประเภทสารคดีในวงการนักเขียนไทยอีกด้วยแต่เดิมอรสมเริ่มต้นชีวิตนักเขียนอาชีพด้วยงานสารคดีชีวประวัติ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นงานสารคดีสะท้อนสังคมที่มีผลต่อการรับรู้ของมนุษย์ ทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ใหม่ๆ และเข้าใจปัญหาของสังคมที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ด้วยการหยั่งถึงต้นตอรากของปัญหาด้วยการเปิดเผย ตีแผ่ ถึงจิตใจมนุษย์ เช่น ปัญหาครอบครัวปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเด็ก ปัญหาของผู้ป่วย และปัญหาของหญิงขายบริการ เป็นต้น จนทำให้อรสมได้รับการขนานนามว่าเป็นนักเขียนสารคดีหญิงชั้นแนวหน้าของไทย เพราะทำงานสารคดีอย่างต่อเนื่อง และริเริ่มเขียนสารคดีสะท้อนสังคมแนวใหม่ที่สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้อ่านเป็นบุคคลแรกๆ ที่มีผลงานปรากฏต่อแวดวงวิชาการและประชาชนทั่วไป ทำให้งานของเธอเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านหลากหลายอาชีพ และหลากหลายช่วงวัย เช่น ผู้ใหญ่และเยาวชน เป็นต้น อรสมมีผลงานหนังสือที่ได้ตีพิมพ์แล้วกว่า 40 เล่ม อาทิเช่น เด็กพันธุ์ใหม่… วัย X, สนิมดอกไม้, คนค้นชีวิต, อาชญากรเด็ก?, ดอกไม้ราตรี, คุก ชีวิตในพันธนาการ, นักโทษประหารหญิง, ที่แห่งนี้รักษาด้วยความสุข, บันทึกชีวิตหมออนามัย, หลายชีวิตในแสงอัศดง, ชีวิตคู่ (ไม่) รู้กัน, คำสารภาพ บาปบริสุทธิ์, สงสัย…ตายเพราะหมอ?, มือปืน ชีวิตจริงของคนรับจ้างฆ่า, รอยแย้มบนแก้มยุ้ย และเรื่องเล่าจิตอาสา : ความดีของคนเล็กๆ ที่มีจิตอาสา เป็นต้น ปัจจุบันอรสม ยังคงเขียนงานประเภทสารคดีอยู่เสมอ โดยเขียนงานส่วนหนึ่งให้กับโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อถ่ายทอดผลงานของโครงการที่มีจุดประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำ, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และมีโครงการเขียนงานสารคดีสะท้อนภาพความรุนแรงในครอบครัว สารคดีเรื่องเหยื่อทางเพศที่เป็นผู้พิการ และสารคดีเรื่องฆาตกรต่อเนื่องอีกบทบาทหนึ่งที่อรสมได้รับคือการต่อยอดประสบการณ์ จากการเขียน สารคดีที่ทำมาเป็นเวลา 30 ปี โดยริเริ่มสร้างนักเขียนในเรือนจำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน เธอเป็นครูใหญ่ในชั้นเรียนการเขียนเรื่องเล่าจากแดนประหาร ร่วมกับ นักเขียนสารคดีรุ่นน้อง คือวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง และวิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ ที่เรือนจำกลางบางขวาง ร่วมกับหน่วยงานโครงการกำลังใจในพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เครือข่ายพุทธิกา กรมราชทัณฑ์ และเรือนจำกลางบางขวาง เพื่อสอนให้ผู้ต้องขังโทษสูงสุด หรือที่เคยผ่านแดนประหารที่สนใจมาสมัครเรียนการเขียนเรื่องเล่า ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผิดพลาดของตนเป็น “ครู” ให้กับสังคม

นอกจากการสอนการเขียนในเรือนจำอันเป็นการเปิดโอกาส และสร้างมิติใหม่ให้กับผู้อยู่ในโลกหลังกำแพงแล้ว อรสม สุทธิสาคร ยังเป็นบรรณาธิกาหนังสือพิมพ์ “ข่าวจิตต์เสรี” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่เขียนโดยกองบรรณาธิการที่เป็นผู้ต้องขังชายหญิง และก่อตั้งกลุ่มจิตอาสา “เพื่อนหลังกำแพง” เพื่อส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในเรือนจำอย่างต่อเนื่อง

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031