บัณฑิต อึ้งรังษี
บัณฑิต อึ้งรังษี
รางวัลศิลปาธร : สาขาคีตศิลป์
ประวัติศิลปิน
สิ่งที่มหัศจรรย์อย่างหนึ่งในโลกดนตรีคลาสสิกก็คือ บทเพลงอันทรงคุณค่าจากฝีมือการประพันธ์ของนักประพันธ์เพลง ซึ่งได้นำมาจัดแสดงคอนเสิร์ตครั้งแล้วครั้งเล่า แต่บทเพลงเหล่านั้นกลับถูกนำเสนอได้อย่างแตกต่างและไม่เคยซ้ำกันเลย เนื่องจากการแปลรหัสตัวโน๊ตที่ต่างกันออกไปตามแต่จินตนาการของวาทยกรหรือผู้อำนวยการเพลง ดังนั้นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นวาทยกรก็คือ การสร้างสุนทรียภาพโดยเป็นคนกลางในการสื่อสารระหว่างผู้ประพันธ์ นักดนตรี และผู้ฟัง ผู้อำนวยการเพลงจึงต้องเป็นผู้มีความสามารถทางดนตรีสูงและมีภาวะผู้นำอีกด้วย การเป็นวาทยกรจึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะการเป็นวาทยกรที่ประสบความสำเร็จบนเวทีระดับโลก แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนไทยที่จะก้าวไปถึงจุดนั้นแต่ก็ไม่เกินความสามารถของ บัณฑิต อึ้งรังษี หนึ่งในวาทยกรระดับโลกชาวไทยคนแรกที่สามารถสร้างชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้วยวัยเพียงสามสิบต้น เป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนที่ต้องการประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนเองมุ่งหวังและเป็นผู้ปลุกกระแสการสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติขึ้นในสังคมไทยตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา
บัณฑิตเริ่มต้นเส้นทางดนตรีด้วยการเรียนกีตาร์คลาสสิกตั้งแต่อายุ 13 ปี ขณะที่ศึกษาอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ ความฝันอันยิ่งใหญ่ของเขาถูกจุดประกายเมื่อตอนอายุได้ 18 ปี โดยวาทยกรชาวอินเดีย ชื่อ สุบิน เมห์ธา ผู้ที่มาจากประเทศเอเชียแต่สามารถยืนกำกับวง New York Philharmonic Orchestra ซึ่งเป็นวงออร์เคสตราระดับโลกได้อย่างสง่างาม เมื่อครั้งมาเปิดการแสดงในประเทศไทย จากความประทับใจในครั้งนั้น
ทำให้บัณฑิตตั้งเป้าหมายที่จะเป็นวาทยกรระดับโลกให้ได้หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้เดินทางศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย และเลือกเรียนทั้งสาขาดนตรีและบริหารธุรกิจ หลังจากจบการศึกษาทั้งสองสาขาในระดับปริญญาตรี และได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทเอกการอำนวยเพลงที่ University of Michigan ในสหรัฐอเมริกา และศึกษาเพิ่มเติมในประเทศอิตาลี ออสเตรีย รัสเซีย เยอรมนี และ ฟินแลนด์ ในปี พ.ศ. 2541 เขาเป็นหนึ่งในวาทยกรรุ่นใหม่ 9 คนจากทั่วโลกที่ได้รับเชิญไปศึกษาที่ Carnegie Hall ในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเหตุให้เขาได้รับทุน Leonard Bernstein Fellowship ไปศึกษาต่อกับ Seiji Ozawa ที่ Tanglewood Music Center
ความมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ตนเองรักและต้องการประสบความสำเร็จ ทำให้บัณฑิตไม่เคยละความพยายาม เขาทุ่มเทฝึกซ้อมเพื่อร่วมการแข่งขันวาทยกรระดับนานาชาติหลายครั้ง เช่น ในประเทศฝรั่งเศส (Besancon Competition) ปี พ.ศ.2540 ประเทศโปรตุเกส (รางวัลชนะเลิศ) ในปี พ.ศ. 2542 ประเทศฮังการี ในปีพ.ศ. 2545 และรายการสำคัญหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างมาก คือ การแข่งขันที่คาร์เนกีฮอลล์ (Carnegie Hall ) มหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ.2545 ในรายการ Maazel-Vilar International Conducting Competition ซึ่งเป็นการแข่งขันวาทยกรที่สำคัญที่สุดในโลก โดยเป็นผู้ชนะเลิศจากผู้แข่งขัน 362 คนทั่วโลก จากการตัดสินของคณะกรรมการที่มีชื่อเสียงของโลก เช่น Lorin Maazel, Kyung-Wha Chung, Glenn Dicterow, Krzysztof Penderecki ฯลฯ จากการที่เขาได้รับรางวัลการแข่งขันวาทยกรระดับนานาชาติหลายครั้ง บัณฑิต อึ้งรังษี จึงเป็นทีรู้จักในฐานะวาทยกรจากประเทศไทยและได้รับการยอมรับจากนานาชาติวาเป็นวาทยกรรุ่นใหม่ที่สำคัญคนหนึ่งของโลก
ด้วยความสามารถอันเป็น ที่ประจักษ์ ทำให้บัณฑิตได้รับเชิญไปอำนวยเพลงให้กับวงออร์เคสตร้าและโรงอุปรากร (Opera House) ที่สำคัญมาแล้วทั่วโลกรวมกันแล้วมากกว่า 400 คอนเสิร์ต โดยวงออร์เคสตราหลายวงที่เขาได้กำกับเป็นวงที่มีชื่อเสียง เช่น New York Philharmonic Orchestra, Los Angeles Philharmonic Orchestra, Orchestra Filarmonica di Arturo Toscanini,La Fenice ในเมืองเวนิส, Orchestra of Rome and Lazio และวงออร์เคสตราในประเทศต่าง ๆ เช่น สเปน ตุรกี เกาหลี ออสเตรีย ญี่ปุ่น รัสเซีย อิตาลี ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ ฮังการี ฝรั่งเศส เยอรมนี เชคโกสโลวาเกีย มาเลเซีย ไทย โปรตุเกส และทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งคณะนักร้องประสานเสียงชื่อดังของโลก Mormon Tabernacle Choir ซึ่งถ่ายทอดสดออกอากาศทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้รับการเชิญให้ควบคุมวง Orchestra Internazionale d’Italia หลายครั้งในการเปิดแสดงคอนเสิร์ตทั่วเอเชีย นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้ร่วมงานกับศิลปินชั้นนำของโลก เช่น Maxim Vengerov, Julia Migenes, the LaBeque Sisters, Paula Robison, Christopher Parkening, Christine Brewer และ Elmer Bernsteinและเขายังได้รับการกล่าวถึงจากหนังสือพิมพ์และสื่อสำคัญต่าง ได้แก่ Los Angeles Times, New York Times, American Record Guide, Charleston Post and Courier, Deseret News, Salt Lake Tribune, Gramophone magazine, New York Magazine, L’Unione Sarda (อิตาลี), El Correo Gallego (สเปน) เป็นต้น
นอกเหนือจากการเดินทางไปกำกับวงต่างๆ ทั่วโลกแล้ว บัณฑิตยังเคยดำรงตำแหน่งวาทยกรให้กับวง New York Philharmonic และวง Charleston Symphony Orchestras รวมทั้งเป็น Principal Guest Conductor ของ Seoul Philharmonic Orchestra ในประเทศเกาหลีใต้ Associate Conductor ให้กับวง Utah Symphony และทำหน้าที่เป็น Music Director ของวง Debut Orchestra (Los Angeles), Apprentice Conductor ให้กับวง Oregon Symphony Orchestra และ Assistant Conductor ของวง Santa Rosa Symphony ทั้งยังได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ให้มีส่วนร่วมพัฒนาวงออร์เคสตร้าที่ดีที่สุดของประเทศเพื่อให้ได้คุณภาพทัดเทียมกับวงระดับโลก ซึ่งเป็นการปรับปรุงวงการดนตรีคลาสสิกครั้งใหญ่ของเกาหลีในปี พ.ศ. 2548 และได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทยให้เป็น “ทูตวัฒนธรรม” ในปี พ.ศ. 2549
ปัจจุบันบัณฑิตยังคงกำกับวงดนตรีคลาสสิกทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง แม้ความฝันของเขาจะก่อรูปสร้างร่างจนชัดเจนและแข็งแรงแล้ว แต่ทุกวันเขายังคงมุ่งมั่นในการรักษาคุณภาพของวาทยกรระดับโลก ในฐานะผู้ใช้จินตนาการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ด้วยการควบคุมและสื่อสารกับโลกด้วยเสียงดนตรี โดยไม่ลืมที่จะสร้างกำลังใจให้คนไทยมุ่งมั่นพยายามสานฝันของตนเอง เพราะเขาได้พิสูจน์แล้วว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้