สมเถา สุจริตกุล
สมเถา สุจริตกุล
รางวัลศิลปาธร : สาขาดนตรี
ประวัติศิลปิน
สมเถา สุจริตกุลศิลปินรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาดนตรี ปี พ.ศ. 2551 เป็นบุคคลหนึ่งที่มีมิติในการสร้างสรรค์งานในหลากหลายแขนง ทั้งการเป็นวาทยกร คีตกร นักประพันธ์เพลงคลาสสิก ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียนที่มีชื่อเสียงเป็นสากลคนหนึ่งของเมืองไทย สมเถาเป็นบุตรของศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย และนางถ่ายเถา สุจริตกุล สมเถาเติบโตอยู่ในหลายประเทศของยุโรป เขาย้ายออกจากประเทศไทย ตั้งแต่เขาอายุเพียง 6 เดือน เนื่องจากต้องติดตามบิดาซึ่งกำลังศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยออกเฟริดส์ ประเทศอังกฤษ สมเถาจบการศึกษาระดับมัธยมจากวิทยาลัยอีตัน สหราชอาณาจักร ก่อนที่จะสอบชิงทุนจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท (เกียรตินิยม) ในสาขาคีตศิลป์ควบคู่กับวรรณคดีที่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ
สมเถาเริ่มเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงจากความสามารถในการประพันธ์ดนตรี ก่อนขึ้นสู่เวทีระดับสากลในฐานะวาทยกรและนักแต่งมหาอุปรากร ความชอบดนตรีของสมเถา เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนอายุประมาณ 7 ขวบ พ่อและแม่ของเขาได้ซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงพลาสติกที่ใช้แบตเตอรี่ให้เขา เมื่อได้ฟังแผ่นเสียงที่เป็นเพลงคลาสสิค ทำให้สมเถารู้สึกเคลิบเคลิ้มเหมือนเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง เขามีความรู้สึกว่า เคยฟังเพลงเหล่านี้มาก่อนคล้ายกับดนตรีเหล่านี้เป็นสมบัติของเขาเหตุผลนี้เองเป็นสาเหตุที่ทำให้สมเถาเริ่มสนใจดนตรีคลาสสิค ซึ่งหลังจากนั้นเขาจึงหาโอกาสฟังดนตรีแนวนี้เรื่อยมา ช่วงที่เขาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เขาเริ่มต้น แต่ง Opera อยู่หลายครั้ง แต่ช่วงแรกยังไม่เกิดผลสำเร็จ จนกระทั่งได้มาแต่ง Opera ที่ดัดแปลงมาจากละครของอิปต์สัน หลังจากนั้น สมเถาได้เขียน Opera อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นชีวประวัติของไมเคิล แอลเจิลโล แม้ว่าบทประพันธ์นี้จะไม่ได้นำมาแสดง แต่สมเถาก็ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่สำคัญๆ หลากหลายครั้ง เช่น การเป็นวาทยกรอำนวยเพลงวงดุริยางค์แห่งชาติ Hollamnd Symphony Orchestra เผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ Dutch EOTV ในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าจูเลียนา บรมราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ ครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี (ค.ศ 1972) นอกจากนี้เขายังได้เป็นผู้แทนไทยไปประชุมสันนิบาตคีตกวีแห่งเอเชีย ณ เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ประพันธ์ไวโอลินโซนาต้า เพลง Cemeteries บรรเลงรอบปฐมทัศน์โดยวงซิมโฟนีแห่งเกียวโต (ค.ศ. 1974) และอื่นๆ อีกมากมาย
ภายหลังจากสำเร็จการศึกษา สมเถากลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทย เขาได้ก่อตั้งสมาคมและมูลนิธิต่างๆ ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อวงการดนตรีในประเทศไทย เช่น ในปี พ.ศ. 2519 สมเถาได้ก่อตั้งสมาคมคีตกวีแห่งประเทศไทยและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคนแรก และก่อตั้งวงดุริยางค์ดนตรีร่วมสมัย The Temple of Dawn Consort ร่วมกับดนู ฮันตระกูล ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 สมเถายังได้ก่อตั้งมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่และส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมด้านคีตศิลป์ของสากลประเทศ ตลอดจนมุ่งหวังให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมคีตศิลป์ ระดับสูงแห่งภาคพื้นเอเชีย นอกจากนี้ เขายังก่อตั้งวงดนตรีคลาสสิกเยาวชนไทยฝีมือระดับโลก Siam Sinfonietta (สยาม ซินโฟนิเอตต้า) ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา วงดนตรีเยาวชนไทยวงนี้ได้ไปสร้างชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก โดยการคว้าแชมป์ประเภทออเคสตร้า ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ผลงานการประพันธ์เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้แก่สมเถา ได้แก่ งานประพันธ์บทเพลง Opera เรื่อง มัทนา ซึ่งได้อัญเชิญพระราชนิพนธ์เรื่อง มัทนะพาธาของพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าไปถ่ายทอดเป็นมหาอุปรากรสมบูรณ์แบบมาตรฐานสากล งานประพันธ์และนำเสนอมหาอุปรากรจากเค้าโครงนิยายพื้นบ้านเรื่อง แม่นาก งานประพันธ์เรื่อง อโยธยา มหาอุปรากรประวัติศาสตร์จากรามเกียรติ์หลากหลายฉบับแห่งภาคพื้นเอเชีย ซึ่งสมเถาได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประพันธ์ขึ้น เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในศุภวาระครองสิริราชสมบัติ 60 ปี เป็นต้น
ด้วยพรสวรรค์ด้านการประพันธ์ของสมเถา ทำให้เขาก้าวข้ามเขตแดนของงานดนตรีไปสู่งานวรรณกรรม สมเถาใช้นามปากกา S.P. Somtow ซึ่งรูปแบบงานที่เขาเขียนส่วนใหญ่เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีกลิ่นอายความเป็นเอเชีย ผลงานทั้งหมดถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ โดยได้รับการแปลในหลายภาษา ซึ่งผลงานชิ้นสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้แก่สมเถา ได้แก่ Jasmine Nights, Aquilard กับ Absent Thee From Felicity Awhile (ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล John W.Campbell และรางวัล Hugo), Starship & Haiku (ได้รับรางวัล Locus Award), เรื่องสั้น The Dust (ได้รับรางวัล Edmund Hamilton Memorial Award ในปี 2525), เรื่องสั้นชุด Inquestor เรื่องศูนย์การค้าในอวกาศ Mallworld, นวนิยายเรื่อง The Darkling Wind (ติดอันดับ Locus Bestseller) แม้ชื่อเสียงและผลงานของ S.P. SOMTOW หรือนามปากกาของ สมเถา สุจริตกุลจะโด่งดังอยู่ในระดับสากล แต่สำหรับนักอ่านชาวไทยอาจยังไม่ค่อยได้รู้จักผลงานของเขามากนัก เนื่องจากบทประพันธ์ของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเพียงแค่ไม่กี่เรื่อง อาทิเช่น กาฬปักษี, สุสานใต้ดวงดาว (นวนิยาย), ร่างหลอน ใบหน้ามรณะ (รวมเรื่องสั้น) และเมืองแก้ว (วรรณกรรมเยาวชนแฟนตาซี) โดยทั้งหมดเป็นฝีมือการแปลของ ถ่ายเถา สุจริตกุล คุณแม่ของเขานั่นเอง
แม้ว่างานหนังสือและนวนิยายของเขาจะโดดเด่นในแวดวงวรรณกรรมสากลแต่ปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักสมเถาในฐานะที่เป็นนักแต่ง Opera อย่างไรก็ตามสมเถามองว่า งาน Opera ถือเป็นงานที่สามารถนำเอาศิลปะแต่ละแขนงมารวมไว้ในที่เดียวกัน คล้ายกับเป็นการทอผ้าชนิดหนึ่งที่เอาด้ายที่เป็นการเขียนด้ายที่เป็นงานออกแบบ ด้ายที่เป็นดนตรี แล้วจึงค่อยทอออกมาเป็นผ้าที่งดงามจากมุมมองและประสบการณ์ที่สมเถาได้รับตลอดช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศมีสองสิ่งที่เขารู้สึกยึดมั่นและเดินทางไปกับเขาทุกที่ คือ นิยายปรัมปรา และ ดนตรีเพราะการตีความเรื่องราวที่อยู่ในภาษาเหล่านั้นสามารถเจาะทะลุไปถึงจิตใจของคนได้โดยตรง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทั้งสองสิ่งนี้ได้หลอมรวมให้สมเถาเป็นเขาอยู่ในทุกวันนี้ ปัจจุบันสมเถาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และอุทิศชีวิตให้กับงานศิลปะหลากแขนงในรูปแบบของเขา