Facebook Logo

สินีนาฏ เกษประไพ

สินีนาฏ

เกษประไพ

Sineenadh Keitprapai

รางวัลศิลปาธร : สาขาศิลปะการแสดง

ประวัติศิลปิน

สินีนาฏ เกษประไพ ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ปี พ.ศ. 2551 เธอเป็นนักการละครผู้มากประสบการณ์ ในแวดวงศิลปะการแสดงของประเทศไทย โดยผ่านการทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาแล้วหลากหลายหน้าที่ สินีนาฏจบการศึกษาในระดับมัธยมปลายจาก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทสื่อสารมวลชนจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะที่ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 สินีนาฏเริ่มต้นเรียนการละคร ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในวิชาเลือก Introduction to Drama และในปีสุดท้ายเธอจึงเลือกทำละครเป็นงานจบ ซึ่งถือเป็นเรื่องแรกที่สินินาฏรับหน้าที่เป็นผู้กำกับเมื่อรู้ว่าตัวเองรักและชอบการละคร ภายหลังจากจบการศึกษา สินีนาฏจึงตัดสินใจเดินต่อในเส้นทางนี้ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2537 สินีนาฏได้เข้าฝึกงานกับคณะละครเวที 28 โดยรับหน้าที่เป็นผู้กำกับเวที ปีต่อมา เธอมีโอกาสเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร คณะละครไทยร่วมสมัยสะท้อนสังคม ของครูคำรณ คณะดิลก สินีนาฏถือว่าเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในคณะละครนี้ เพราะเธอได้อุทิศเวลาและชีวิตส่วนตัวเกือบทั้งหมดให้กับงานละครและคณะพระจันทร์เสี้ยวฯ โดยหน้าที่หลักที่สินีนาฏรับผิดชอบคือการเป็นผู้ประสานงานและผู้กำกับ ซึ่งยังคงทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้เธอยังได้สวมบทบาทเป็นนักแสดงเรื่องแรกกับพระจันทร์เสี้ยวการละคร เรื่อง Oedipus The King หรือ กูชื่อพญาพาน โดยใช้เวลาการฝึกซ้อมนานถึงหกเดือน ละครเรื่องนี้ถือว่าเข้ามาเปลี่ยนระบบความคิดของสินีนาฏจากคนที่คิดว่าตัวเองไม่สามารถเป็นนักแสดงได้ ให้หันกลับมาเรียนรู้และเกิดความสนุกในการสวมบทบาทของตัวละคร และในส่วนของสมาชิกคนอื่นๆ ของคณะพระจันทร์เสี้ยวการละคร นอกจากจะทำหน้าที่เป็นนักแสดง พวกเขายังมีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนหน้าที่ในการทำงานเบื้องหลัง อันเป็นระบบที่กลุ่มคณะละครนี้ยึดถือมาโดยตลอด และนอกจากการทำงานในคณะพระจันทร์เสี้ยวการละคร สินีนาฏยังทำหน้าที่เป็นฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สถาบันปรีดี พนมยงค์ นอกจากนี้เธอยังร่วมก่อตั้งกลุ่มละคร บี-ฟลอร์ และก่อตั้งโครงการคณะละครยายหุ่น (ครูองุ่น-มาลิก) ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างพระจันทร์เสี้ยวการละครและมูลนิธิไชยวนา ทั้งยังเป็นผู้อำนวยการละครโรงเล็ก Crescent Moon Space หรือ โรงละครพระจันทร์เสี้ยวซึ่งเปิดเป็นพื้นที่ในการสร้างสรรค์และแสดงผลงานละครเวทีร่วมสมัย สำหรับการพบปะแลกเปลี่ยนทางความคิดระหว่างผู้ชมและผู้รักงานศิลปะการละคร เป็นต้น สินีนาฏ มีผลงานด้านการแสดงและด้านกำกับการแสดงที่สร้างชื่อเสียงไว้หลากหลายเรื่อง เช่น ผลงานการแสดงบูโตดานซ์ชุด ‘บิโย’ (2542) กำกับการแสดงโดย คัทสึระ คัง จัดแสดงที่ ภัทราวดีเธียเตอร์ งานแสดงเรื่อง ‘ราโชมอน :คอนโดมิเนียม’ (2545) ละครของ Interplay Ex-studio กำกับการแสดงโดยดำเกิง ฐิตะปิยศักดิ์ ที่หอศิลป์ตาดู ผลงานการแสดงกลางแจ้งชุด ‘นาฏกรรม คำกวี : ลมใต้ปีกนกสีเหลือง’ (2549) ที่กำแพงประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผลงานละครเรื่อง ‘ไฟล้างบาป’ (2550) ที่ได้สัญจรไปแสดงตามมหาวิทยาลัย 10 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นต้น และสำหรับผลงานด้านกำกับการแสดง ได้แก่ ละครเรื่อง ‘ฝัน (ร้าย) กลางคืนฤดูร้อน’ และ ‘นัดบอด’ โดยได้เข้าร่วมในเทศกาลละครกรุงเทพฯ 2546 ‘ละครหุ่นเสรีไทยเพื่อนสันติภาพ’(2546) แสดงที่อนุสรณ์สถานเสรีไทย และได้เดินสายไปจัดแสดงใน 10 โรงเรียนของเขตบึงกุ่ม ผลงานชุด ‘The EDGE : The Lost Girl’ จัดแสดงในเทศกาล M1 Singapore Fringe Festival 2006 ที่ประเทศสิงคโปร์ และงาน B floorB Fest ที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นรูปแบบของละครที่สินีนาฏรับหน้าที่เป็นผู้กำกับ ส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับผู้หญิงในบริบทต่างๆ ทั้งนี้เกี่ยวเนื่องจากการที่เธอเป็นผู้หญิงซึ่งทำให้สินีนาฏเข้าใจตัวละครผู้หญิงในบทละครต่างๆ ที่เคยอ่านประกอบกับผ่านการเรียนวรรณคดีอังกฤษซึ่งมีประเด็นหลักที่พูดถึงผู้หญิงมาโดยตลอด ทำให้สินีนาฏยิ่งสนใจทำละครเกี่ยวกับผู้หญิง ที่ไม่ได้ผูกติดเฉพาะกับตัวเอง หากแต่เป็นผู้หญิงที่เกี่ยวพันกับโลกและสังคมที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น ความเป็นผู้หญิงกับการเมือง หรืองานละครที่เสียดสีสังคม เป็นต้น สินีนาฏคิดว่าการทำละคร ทำให้ตัวเธอเองได้เรียนรู้ตัวละครในแง่มุมต่างๆ นัยหนึ่งอาจทำให้เธอมองข้ามตัวเองไปเรียนรู้ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่มีชีวิตอันแตกต่างไปตามสังคมที่อาศัย

นอกจากการทำละครจะทำให้สินีนาฏเข้าใจโลกและชีวิตของตัวเองมากขึ้น เธอยังคิดว่าการแสดงของเธอจะช่วยเป็นกระบอกเสียงหนึ่งให้คนในสังคมหันกลับมาสนใจประเด็นเหล่านี้ให้มากขึ้นอีกด้วยสำหรับผลงานละครชุดล่าสุดที่สินีนาฏกำกับและจัดแสดงเมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา คือ ละครเรื่องสั้นศรีดาวเรือง เรื่อง “ภาพลวงตาจากเนินมะเฟือง” เป็นละครเรื่องสั้นสองเรื่องประกบกัน ซึ่งสินีนาฏจัดแสดงขึ้น เพื่อเป็นของขวัญให้แก่ นักเขียนนามปากกาศรีดาวเรือง ซึ่งมีอายุครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2555 นักเขียนท่านนี้ถือเป็นนักเขียนในดวงใจของสินีนาฏ โดยเรื่องสั้นที่ศรีดาวเรือง เขียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ถึงปัจจุบันมีเรื่องสั้นเกือบหนึ่งร้อยเรื่องที่มีเนื้อหาสะท้อนภาพสังคมและสถานะของผู้หญิงในแถบชนบทได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการที่สินีนาฏนำเรื่องสั้นมาทำเป็นการละคร จึงถือเป็นการต่อยอดเรื่องราวให้มีการขยายพื้นที่ออกไปกว้างขึ้นละครเรื่องภาพลวงตาจากเนินมะเฟือง ถือเป็นงานละครอีกชิ้นหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นบทบาทของผู้หญิงในยุคอดีต ที่ดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของระบบเศรษฐกิจซึ่งแม้ว่าจะแตกต่างไปจากสังคมปัจจุบันที่ความเท่าเทียมของเพศชายและหญิงมีมากขึ้น แต่ละครเรื่องนี้กลับตั้งคำถามมายังผู้ชมและสังคม ถึงปัญหาการค้าแรงงานผู้หญิงและเด็กที่ในปัจจุบันกลับมีเพิ่มมากขึ้นด้วยความผูกพันและศรัทธาในวิธีคิดของครูคำรณ ทำให้สินีนาฏไม่เคยคิดที่จะเคลื่อนย้ายตัวเองออกไปจากคณะพระจันทร์เสี้ยวการละคร ปัจจุบันเธอใช้ชีวิตครึ่งค่อนวันอยู่ในโรงละคร และสถานที่จัดแสดงการละคร สินีนาฏวางแผนชีวิตของตัวเองไว้ว่าจะทำงานละครไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแรง และมุ่งหวังว่าจะมีคนรุ่นใหม่ที่รักงานละครมาต่อยอดให้วงการศิลปะการแสดงของประเทศไทยเดินหน้าต่อไป

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031