Facebook Logo

นิมิตร พิพิธกุล

นิมิตร พิพิธกุล

Nimit Pipithkul

รางวัลศิลปาธร : สาขาศิลปะการแสดง

ประวัติศิลปิน

หุ่นสาย (String-puppet or Marionettes) หุ่นละครตัวเล็กๆ ที่มีเส้นสายโยงใยขึ้นไปสู่มือผู้เชิด เส้นเชือกเหล่านี้นอกจากมีหน้าที่ช่วยให้หุ่นเคลื่อนไหวได้ตามความต้องการของผู้เชิดแล้ว หน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเป็นสิ่งเชื่อมจิตวิญญาณของผู้เชิดลงมาสู่ตัวหุ่นด้วย หุ่นสายจึงสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ เส้นเชือกที่โยงจากร่างกายของหุ่นไปสู่มือของ นิมิตร พิพิธกุล ก็เช่นกัน เส้นเชือกเหล่านั้นได้โยงใยให้เขาสืบสานศิลปะการเชิดหุ่นสายอย่างจริงจัง ด้วยเห็นว่าเป็นมรดกการสร้างสรรค์ของชาติ เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ศิลปะการแสดงหุ่นสายในประเทศไทยไม่ได้รับความนิยมนักต่างกับหลายประเทศทั่วโลก ที่แต่ละประเทศจะมีหุ่นสายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติตน รวมไปถึงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่น หุ่นสายพม่า หรือ หุ่นสายอินโดนีเซีย ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการแสดงหุ่นสายมายาวนานกว่า เขาจึงก่อตั้ง คณะหุ่นสายเสมา ขึ้น เพื่ออนุรักษ์และชุบชีวิตให้ศิลปะแขนงนี้ รักษาคุณค่าหุ่นสายไทยให้คงอยู่ โดยการสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานตามวิถีชีวิตที่พอเพียงนิมิตรเดินทางบนถนนสายอาชีพอย่างจริงจังหลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (เอกภาษาไทย/โทการละคร) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงทำให้เขามีทักษะทางภาษาอย่างสูงในการเขียนบทละครให้สื่อความหมายได้หลากหลายมิติ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาและดูงานด้านศิลปะการแสดงในต่างประเทศ รวมถึงประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานเป็นผู้กำกับการแสดงและนักแสดงอิสระ นักเขียนบท สำหรับสื่อการแสดง Presentation ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และละครเวที นอกจากนี้ เขายังเคยทำงานด้านละครเวทีโดยเป็นแกนนำของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว กลุ่มมะขามป้อม และภัทราวดีเธียเตอร์ ประสบการณ์ทางละครของเขาได้รับการยืนยันด้วย รางวัลศิลปินแห่งละครเวทีไทย สาขากำกับการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2542 จากภัทราวดีเธียเตอร์ รางวัลละครส่งเสริมพระพุทธศาสนาดีเด่น ละครหุ่นสายเสมา จากเทศกาลละครกรุงเทพ

ประสบการณ์จากการทำงานเกี่ยวกับศาสตร์การแสดงที่หลากหลาย ทำให้นิมิตรมีความมั่นใจในการก่อตั้ง คณะหุ่นสายเสมา ขึ้น ในปี พ.ศ. 2547 เพื่อทำการสืบสานการอนุรักษ์อย่างจริงจัง หลังจากได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนของเขา ซึ่งนำหุ่นสายที่ชำรุดมาปรึกษาและบอกว่าจะไม่ทำการอนุรักษ์ต่อ ด้วยความรักในศิลปะแขนงนี้เป็นทุนเดิม โดยได้มีการนำแนวคิดของศิลปะร่วมสมัยมาใช้ในการปลุกจิตวิญญาณหุ่นสายไทย ให้สามารถโลดแล่นบนเวทีละครหุ่นทั้งในประเทศและระดับนานาชาติแนวคิดในการสร้างหุ่นสายของคณะหุ่นสายเสมา เป็นผลงานสร้างสรรค์ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว โดยทำให้หุ่นสายมีลักษณะผสมศิลปะพื้นบ้านที่คนทั่วไปเข้าถึงง่าย เนื่องจากเห็นว่าลักษณะพื้นถิ่นสามารถพัฒนาไปสู่ความร่วมสมัยได้ จึงมีการออกแบบให้หุ่นมีความเรียบง่าย ผลิตจากวัสดุราคาไม่แพง เด็กๆ สามารถจับต้องได้ เพื่อให้งานศิลปะของเขาใกล้ชิดกับผู้คนมากขึ้น ดังนั้นหุ่นจะไม่ใช้เครื่องแต่งกายที่วิจิตรบรรจงอย่างหุ่นตามขนบประเพณี แม้แต่หุ่นเรื่องรามเกียรติ์ก็ยังแต่งกายให้เรียบง่ายขึ้น ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของการสร้างหุ่นสายไทย คือ มีการออกแบบให้สอดคล้องกับลักษณะการเคลื่อนไหวของคนไทย หุ่นสามารถ คุกเข่า ก้มกราบ ฯลฯได้ ซึ่งหุ่นสายของต่างประเทศจะไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้แม้รูปลักษณ์ของหุ่นจะเน้นความเรียบง่าย แต่เนื้อเรื่องราวที่นำมาแสดง มีความซับซ้อนและให้แง่คิดทางปรัชญา มีการหยิบวรรณกรรม หรือเรื่องเล่าพุทธประวัติ และปรัชญาศาสนาพุทธ มาตีความใหม่ เพื่อสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในสังคมร่วมสมัย ในการเลือกเรื่องมาแสดงจะคำนึงถึงผู้ดูหลายกลุ่มหลายช่วงวัย ให้สามารถเข้าใจสารที่ละครต้องการนำเสนอได้ เช่น เรื่องสัทธามหาบุรุษ ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ทำการแสดง เนื้อหาของละครเป็นเรื่องของเด็กที่อยากบวชกับพระพุทธองค์ แต่ไปไม่ทัน พระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปก่อน เด็กน้อยจึงหันไปออกผจญภัยกับขุนศึก เสมา เพื่อที่จะตามหาพระธรรมคำสั่งสอน นิมิตรได้แรงบันดาลใจในการแต่งเรื่องนี้จากการดูหนัง The lord of the Rings จึงอยากทำเรื่องราวผจญภัยที่สอดแทรกปรัชญาธรรมะขึ้น ตัวละครหลักในเรื่องนี้ก็จะมีบทบาทในเรื่องต่อมาของเขาด้วย หรือในเรื่อง เจ้าเงาะ เป็นเรื่องราวของเด็กที่ไม่กล้าออกจากหอยสังข์ เนื่องจากความกลัวที่เห็นสังคมทำร้ายแม่ของเขา การแสดงชุดนี้ยังได้รับรางวัล The Most Poetic Creation of Puppet Art – Prague 2008 และต่อมาได้รับรางวัล The Best Traditional Original Performance of Puppet Art – Prague 2990 จากเรื่อง ศึกพรหมมาสตร์ ในการประกวดหุ่นโลกปัจจุบัน บ้านในซอยวิภาวดีรังสิต 58 ที่ทำการของคณะละครหุ่นสายเสมาจะมีการแสดงละครเรื่องใหม่ๆ อยู่เสมอ นอกจากงานแสดงละครหุ่นทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว นิมิตรยังได้นำหุ่นสายไปเผยแพร่ให้เด็กๆ และเยาวชนไทยได้รู้จักการทำหุ่นและการเชิด เพื่อทำให้หุ่นสายสามารถโยงใยเข้าถึงคนรุ่นใหม่ของสังคม

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031