Facebook Logo

มานพ มีจำรัส

มานพ มีจำรัส

Manop Meejamrat

รางวัลศิลปาธร : สาขาศิลปะการแสดง

ประวัติศิลปิน

นาฏศิลป์ในโลกศิลปะยุคหลังสมัยใหม่ มีรูปแบบการแสดงที่มีอิสระมากขึ้น มีการผสมสื่ออื่นอย่างหลากหลาย รวมถึงมีการผสมศาสตร์ของการแสดงแขนงต่างๆ ไว้ในชุดการแสดงเดียวกัน นอกจากความตื่นตาตื่นใจในเทคนิควิธีการ และทักษะทางการแสดงแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ชมจะได้รับคือแนวคิดเชิงปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ ในสังคมร่วมสมัย ผู้แสดงจะใช้ร่างกายเพื่อสื่อสารให้ผู้ชมเกิดกระบวนการทางความคิดและตีความหมายจากท่าทางนั้นๆ เราเรียกรูปแบบการแสดงนี้ว่า นาฏศิลป์ร่วมสมัย เมื่อกล่าวถึงโรงละครที่มีชื่อเสียงในด้านการเต้นร่วมสมัยในประเทศไทย หลายคนคงนึกถึง ภัทราวดีเธียเตอร์ ตามมาด้วยภาพของนักแสดงฝีมือเยี่ยมอย่าง มานพ มีจำรัส ผู้ซึ่งพิสูจน์ความเป็นนักแสดงมืออาชีพมามากกว่า 20 ปี ด้วยความสามารถในการผสมศาสตร์การแสดงอันหลากหลายเข้าไว้ด้วยกันมานพเริ่มต้นการเป็นศิลปินกับภัทราวดีเธียเตอร์ ในปี พ.ศ. 2535 และได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เอกของ ภัทราวดี มีชูธน ด้วยความมุ่งมั่นและรักในการศึกษาหาความรู้ จึงได้รับทุนจากโรงละครเพื่อศึกษาศิลปะการแสดง โดยได้ศึกษาเกี่ยวกับการเต้นรำและนาฏศิลป์ไทยและนาฏศิลป์สากลรูปแบบต่างๆ ทั้ง บัลเล่ต์ (Ballet), การเต้นร่วมสมัย (Modern Dance), บูโต (Butoh), กายกรรม (Acrobat) รวมไปถึงศาสตร์การเต้นอื่นๆ เช่น ศิลปะชวา บาหลี ฯลฯ นอกจากนี้ยังไม่ลืมที่จะศึกษาศาสตร์การแสดงที่เป็นรากวัฒนธรรมของตน ด้วยการเรียนนาฏศิลป์ไทยกับครูอาวุโส 2 ท่าน ได้แก่ ท่ารำ “โขนยักษ์” กับครูราฆพ โพธิเวส ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย) และ “โขนพระ” กับครูธีรยุทธ ยวงศรี นอกจากนี้ยังเป็นผู้กำกับการแสดงและออกแบบท่าเต้น ซึ่งทำการแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับการยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลศิลปินแห่งละครเวที Excellent Award จากภัทราวดีเธียเตอร์ในปี พ.ศ. 2540 ผลงานสร้างสรรค์ของมานพมีที่มาจากการผสมรากวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในรูปของนาฏศิลป์ร่วมสมัย ภาษาร่างกายของเขามีอิสระและมีลักษณะของการแสดงแบบผสมผสานศาสตร์การแสดงอันหลากหลาย เนื่องจากพื้นฐานด้านการแสดงอันมากมายที่มีอยู่ในตัว การนำองค์ความรู้ทางการเต้นรำหลายแขนงมาปรับใช้ ทำให้การเคลื่อนไหวมีลักษณะแตกต่างทั้งจากนาฏศิลป์ไทยและนาฏศิลป์ตะวันตก เรียกได้ว่ามานพผสมศาสตร์ต่างๆ จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ทำให้ผลงานของมานพมีความโดดเด่นอย่างมาก โดยผลงานการแสดงของเขามีการผสมรูปแบบละคร การเต้นรำ และรำไทย ไปจนถึงการใช้ศิลปะแขนงอื่นร่วมด้วย เช่น การแสดงบนเวทีร่วมกับการฉายภาพวีดีโอ ดนตรีไทยและดนตรีสากลการเล่นกับแสงและเงา หรือผลงานละครเวทีรูปแบบ Devising Theatre ซึ่งเป็นรูปแบบการแสดงที่ผสมผสานศาสตร์หลายอย่างเข้าด้วยกัน ฯลฯ ผู้ชมจะรับรู้ได้ถึงพลังของการสร้างสรรค์ที่ส่งผ่านมาพร้อมกับการเคลื่อนไหวร่างกายที่พลิ้วไหวต่อเนื่องอย่างมีเอกภาพนอกจากการผสมศาสตร์ทางนาฏศิลป์แล้ว ในด้านของเนื้อหาที่ใช้ในการแสดง มานพนำเรื่องราวที่มาจากวรรณคดีไทย นิทานหรือหลักความเชื่อทางสังคมและวัฒนธรรมไทย รวมไปถึงพุทธปรัชญา มาตีความใหม่ให้มีเนื้อหาเข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน เช่น พ.ศ. 2549 สร้างการแสดงเดี่ยว วันทอง นางผู้เป็นมากกว่าหญิงสองใจ อ้างอิงจากบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ในฉากวันทองห้ามทัพ มีการนำรูปแบบการแสดงกายกรรม (acrobat) มาผสมผสานกับนาฏศิลป์ไทยและสื่ออื่น โดยตีความจากเรื่องราวใหม่ให้วรรณคดีไทยอยู่ในรูปแบบของงานศิลปะร่วมสมัย ผลงานการแสดงชุด Trap พันธนาการ ความรักพ.ศ. 2554 ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของพระสุธน มโนราห์ มีลักษณะการผสมระหว่างนาฏศิลป์แบบบูโตกับสื่อมัลติมีเดีย และผลงาน สุริยุปราคา (Eclipse) ได้แรงบันดาลใจมาจากความเชื่อของคนโบราณ ที่จะเคาะไม้ให้เกิดเสียงดัง เวลาที่เกิดสุริยุปราคา โดยออกแบบให้เนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระอาทิตย์และพระจันทร์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดดับในโลกมนุษย์ เปรียบเทียบการเกิดดับของความทุกข์ตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธนอกจากทำการแสดงแล้ว มานพยังอุทิศเวลาและทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อสอนศิลปะการแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงในการเป็นผู้อำนวยการและครูสอนการแสดงให้กับเด็กๆ ที่สวนศิลป์บ้านดิน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของภัทราวดีเธียเตอร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งการแสดง จิตรกรรม ประติมากรรม ระหว่างศิลปินและนักเรียน นักศึกษา ด้วยปณิธานที่ต้องการนำศิลปะมาสู่ชุมชน จึงได้ริเริ่มสร้างสรรค์เทศกาลศิลปะและการแสดงเจ็ดเสมียน รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาโครงการ ALL ABOUT ARTS ณ ตลาดเก่า ๑๑๙ ปีเจ็ดเสมียน เพื่อเป็นการฟื้นจิตวิญญาณชุมชน เนื่องจากมานพเห็นว่าชีวิตเขาได้รับสิ่งดีดีจากครูมากมายเขาจึงอยากเป็นผู้ให้ เพราะสำหรับเขาแล้ว ศิลปะ คือความสุขใจอันเกิดจากการเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031