ศิริวร
แก้วกาญจน์
Siriworn Kaewkan
รางวัลศิลปาธร : สาขาวรรณศิลป์
ประวัติศิลปิน
ภาพความซับซ้อนของชีวิตที่แข่งขัน สภาพปัญหาของสังคม ตะกอนของปัญหาอันทับถมที่เกิดขึ้นในโลกร่วมสมัย อย่างการเมือง ศาสนา วัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำ ความโลภ ความรัก ความศรัทธา ความแปลกแยก และปัญหาต่างๆ ที่มีผลมาจากระบบทุนนิยม ถูกตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าในงานเขียนของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ราวกับย้ำเตือนให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม ปลุกเร้าสามัญสำนึกและความถูกต้อง ผ่านเรื่องราวที่สะท้อนถึงความสลดหดหู่ที่เกิดขึ้นระหว่างพินิจพิจารณาถึงสิ่งที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันศิริวร เป็นชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จากวิทยาลัยศิลปหัตถกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงรับราชการทหารในกองทัพภาคที่ 4 เป็นเวลา 1 ปี ในปี พ.ศ. 2534 ได้ย้ายเข้ามาอาศัยที่กรุงเทพมหานคร โดยเป็นกองบรรณาธิการประจำอยู่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พร้อมกับเขียนบทกวีและทำงานจิตรกรรมควบคู่กันไป จากนั้นได้ลาออกจากงานประจำหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬและเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักเขียนอย่างจริงจัง โดยผลิตผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น และนวนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับปมปัญหาของสังคม การเมืองการปกครอง ซึ่งเป็นประเด็นอันหมิ่นเหม่ในสังคมทุกยุคสมัยไม่เว้นแม้กระทั่งในสังคมประชาธิปไตยบทกวีของศิริวรมุ่งเน้นการนำเสนอเรื่องราวมากกว่ารูปแบบของฉันทลักษณ์ ในบางผลงานมีลักษณะเป็นกลอนเปล่า เนื่องด้วยเขาต้องการค้นหารูปแบบใหม่ๆ ในการเขียนกวี อัตลักษณ์ของเขาคือการไม่ยึดติดรูปแบบเดิม สร้างสรรค์อรรถรสในผลงานด้วย จินตภาพ จังหวะ คำถามที่ตอบโต้กับผู้อ่าน ถึงประเด็นปมปัญหาในสังคม เช่น เรื่องราวในภาคใต้ ความชอบธรรมปมความขัดแย้งทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม เชื้อชาติและศาสนา หรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาษาที่ให้ภาพชัดเจนก่อให้เกิดความรุ่มรวยทางวรรณศิลป์ ศิริวรยืนอยู่บนความท้าทายทางกวีนิพนธ์ ประหนึ่งจะย้ำให้เห็นอิสรภาพของนักประพันธ์สำคัญยิ่ง ภายใต้ความไม่ยึดติดกับรูปแบบสร้างอัตลักษณ์ให้บทกวีได้เช่นกันการไม่ยึดติดในรูปแบบทำให้ผลงานของศิริวรมีกลวิธีในการถ่ายทอดที่หลากหลาย รวมไปถึงผลงานนวนิยายและเรื่องสั้น โดยพยายามหากลวิธีในการนำเสนอให้สัมพันธ์กับแนวคิดหลักของเรื่อง เช่น ผลงานชิ้นสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างเรื่องหนึ่ง คือ นวนิยายเรื่อง กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด (The Murder Case of Tok Imam Storpa Karde) พิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549 เรื่องราวที่สะท้อนประเด็นเรื่องความแตกต่างของทัศนคติ ความเชื่อและศาสนา กระตุ้นให้ผู้อ่านได้ครุ่นคิด เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์สมมุติที่แสดงถึงเงื่อนปมอันสลับซับซ้อนของปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อโต๊ะอิหม่ามคนสำคัญถูกฆาตกรรมอย่างไม่ทราบสาเหตุ ความสงสัยจึงเกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้าน เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเป็นไทยพุทธหรือไทยมุสลิมที่ทำการก่อเหตุครั้งนี้ความน่าสนใจอยู่ที่การใช้กลวิธีในการเล่าเรื่องผ่านคำให้การของตัวละครหลายฝ่ายทั้งชาวบ้าน ภาครัฐไทยและมาเลเซีย ตัดสลับกับภาพเหตุการณ์ที่ถ่ายไว้ผู้อ่านจะตระหนักถึงเรื่องราวเดียวกันที่ถูกเล่าจากบุคคลหลายคน จนทำให้ไม่สามารถเชื่อได้ว่าความจริงคืออะไรกันแน่ ก่อเกิดความหวาดกลัวและไม่ไว้ใจกันแม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันเอง สัมพันธภาพอันสั่นคลอนของผู้คนค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ศิริวรพยายามจะสอดแทรกแนวคิดในเรื่องนี้คือความซับซ้อนละเอียดอ่อนของปมปัญหาที่ไม่อาจตัดสินใครได้เพียงเพราะการกระทำที่เรารับรู้เพียงแค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
ผลงาน โลกประหลาดแห่งความเศร้า เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่ใช้กลวิธีเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ เรื่องราวปมปัญหาของกลุ่มคนชายขอบที่ห่างไกลจากความสนใจจากคนเมือง เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชาวกะเหรี่ยงที่ชื่อ ‘พอวา’ ที่กำเนิดขึ้นระหว่างที่ครอบครัวระหกระเหินกลางป่าดงดิบซึ่งเต็มไปด้วยโรคร้าย เนื่องจากหมู่บ้านถูกเผาโดยทหารพม่า ทางเดียวที่จะมีชีวิตรอดคือมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก ศิริวรใช้กลวิธีเล่าเรื่องด้วยการถ่ายทอดชะตากรรมของพลเมืองจากประเทศเพื่อนบ้านคู่ขนานไปกับบันทึกส่วนตัว เรื่องราวของคนสองกลุ่มที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน หากสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในมิติของ “คนนอก” และ “คนใน” จนสุดท้ายความเป็นคนนอกและคนในได้สลายไปกลายเป็นสิ่งเดียวกันคือเป็นนิยายเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้ผลงานในอีกหลายๆ เรื่องของเขายังใช้กลวิธีเดียวกันคือการสร้างสรรค์แนวทางในการเล่าเรื่องราวหลากหลาย มากกว่ายึดแนวทางใดแนวทางหนึ่งผลงานสร้างสรรค์ของศิริวรได้รับการยอมรับในวงกว้าง โดยได้รับรางวัลบทกวีของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2538 จากบทกวีชื่อ ‘ณ ซอกมุมสมัยใครเหล่านั้น’ และจากบทกวี ‘พเนจร’ ในปี พ.ศ. 2539 นอกจากนี้ผลงานของศิริวรได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) มากถึง 8 ครั้ง โดยผลงานรวมบทกวี‘ประเทศที่สาบสูญ’ เข้าชิงซีไรต์ในปี พ.ศ. 2547 ผลงานรวมเรื่องสั้น ‘เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง’ ได้รับรางวัลดีเด่นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2547 เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2548 นวนิยายเรื่อง กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด (The Murder Case of Tok Imam Storpa Karde) เข้าชิงซีไรต์ ในปี พ.ศ. 2549 ผลงานเรื่อง เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก และ ลงเรือมาเมื่อวาน เข้าชิงซีไรต์ในปี พ.ศ. 2550 ผลงานรวมเรื่องสั้น ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่นๆ เข้าชิงซีไรต์ในปี พ.ศ. 2551 จากนั้นผลงานกวีนิพนธ์ ฉันอยากร้องเพลงซักเพลงเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ในปี พ.ศ. 2553 ตามด้วยผลงานรวมเรื่องสั้นความมหัศจรรย์ครั้งยิ่งใหญ่และเรื่องราวอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2554 และในปี พ.ศ. 2555
นวนิยาย โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า ได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เช่นกัน นอกจากนี้ผลงานเรื่องสั้น แซะห์กล็อมบ็อค (ตอนนั้นมีพ่อค้าจากตรังกานูผู้หนึ่ง) ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจุดประกายอวอร์ดในปี พ.ศ. 2551ในทุกวันเรื่องราวต่างๆ ที่ผ้คู นในสังคมกระแสหลักอาจลืมเลือนหรือมองไม่เห็น ยังคงถูกถ่ายทอดผ่านปลายปากกาของศิริวรอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความใส่ใจในการมองสิ่งรอบข้างอย่างพินิจพิจารณาของเขาเพื่อเปิดเผยมุมมองปมปัญหาอันซับซ้อนของชีวิตอย่างแยบยล สะท้อนให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เหลื่อมล้ำและเลือนรางในโลกร่วมสมัย