วินทร์
เลียววาริณ
Win Lyovarin
รางวัลศิลปาธร : สาขาวรรณศิลป์
ประวัติศิลปิน
ปัจจุบันในโลกของศิลปะร่วมสมัย ได้เปิดกว้างให้ศิลปินนำศาสตร์อันหลากหลายมาสร้างสรรค์ร่วมกัน เส้นแบ่งขององค์ความรู้แต่ละแขนงเริ่มรางเลือนและถูกแทนที่ด้วยการผสมผสานองค์ความรู้จนเกิดรูปแบบการสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่น่าค้นหา ไม่เว้นแม้กระทั่งในแวดวงวรรณกรรม อรรถรสทางวรรณศิลป์ของนักเขียนในโลกร่วมสมัย ไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงแต่ความสามารถในการใช้ภาษาเขียนอีกต่อไป เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ของสังคมได้เปิดกว้างให้งานศิลปะหลายแขนงอยู่ร่วมกันได้ โลกวรรณกรรมก็ได้เปิดกว้างให้นักคิด นักเขียนสามารถสื่อสารกับผู้อ่านได้อย่างเสรีเช่นกัน งานวรรณกรรมจึงเริ่มมีลักษณะของการหลอมรวมกลวิธีการสื่อสารรูปแบบอื่นเข้าด้วยกัน ดังที่ปรากฏในผลงานของ วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนที่มีรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวที่หลากหลายได้อย่างสร้างสรรค์และได้รับความนิยมอย่างสูง เป็นผู้ “ออกแบบ” วิธีการสื่อสารอย่างน่าสนใจ ทั้งการสื่อสารด้วยเนื้อหาเรื่องราว ภาษาเขียน สัญลักษณ์และรูปภาพ รวมไปถึงการจัดวางองค์ประกอบของเนื้อหาในเล่ม ศาสตร์แห่งศิลปะหลายแขนงได้ถูกหลอมรวมเป็นผลงานวรรณกรรมอย่างมีนัยยะสำคัญ
วินทร์จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโททางด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลังจากนั้นทำงานเป็นสถาปนิกและงานด้านโฆษณาทำให้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบมากว่า 20 ปี เมื่อมาทำงานเขียนเขาจึงใช้พื้นฐานความเข้าใจในศาสตร์ของการออกแบบมาประยุกต์เข้ากับงานวรรณกรรม ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจน ผ่านกลวิธีการดำเนินเรื่องทั้งในส่วนของเนื้อหา โครงเรื่อง และรูปเล่ม เช่น การใช้สัญลักษณ์ทางวรรณศิลป์ต่างๆ เพื่อเล่าเรื่องหรือแสดงสภาวะทางความรู้สึกของตัวละคร การจัดรูปเล่มแบบแบ่งเนื้อเป็นส่วนเพื่อดำเนินเรื่องคู่ขนานกัน โดยจะมีจุดเชื่อมโยงด้วยตัวละคร เหตุการณ์ เวลาหรือสถานที่เป็นเอกภาพเดียวกัน การใช้ภาพมาเป็นส่วนช่วยในการเล่าเรื่อง รวมไปถึงการแบ่งวรรคตอน ย่อหน้า การเน้นคำการเว้นระยะหรือขีดเส้น ที่ให้จังหวะทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ผลงานสร้างสรรค์ของเขาสร้างประสบการณ์การรับรู้แบบใหม่ซึ่งสามารถตอบโต้กับผู้อ่านได้ในหลายมิติ ทิศทางการนำเสนอผลงานที่มีความแตกต่างฉีกแนวไปจากแนวเรื่องแบบสัจนิยมแบบเดิมที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องยาวนานมาก่อนหน้านี้ ทำให้วินทร์เป็นที่รู้จักและได้รับสมญานามว่า “นักเขียนแนวทดลอง”
งานเขียนของวินทร์มีเนื้อหาอันลุ่มลึก เต็มไปด้วยจินตนาการ มักเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ความเป็นไปในสังคมความรักและวิทยาศาสตร์ ซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลความรู้ ถูกเล่าผ่านตัวละครที่มีความคิดซับซ้อน สะท้อนภาพปัญหาสังคมได้อย่างแยบคาย เต็มไปด้วยคำถามที่กระตุ้นเตือนให้เห็นถึงความเป็นไปในเหตุการณ์ต่างๆ และผู้คนในสังคม สะท้อนกลับมาสู่ตัวตนของผู้อ่าน สอดแทรกอารมณ์ขัน เสียดสีและประชดประชัน การไม่ยึดติดกับรูปแบบวรรณกรรมตามจารีตนิยมทำให้งานเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย ความเรียงและสารคดีมีรูปแบบที่หลากหลาย มีชั้นเชิงการผูกเรื่องด้วยการผสานแนวการเขียนหลายแนวในเรื่องเดียวกัน ในผลงานหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในสัญชาตญาณการรับรู้ภาษาของมนุษย์ ประกอบกับชั้นเชิงทางวรรณศิลป์และความรู้ความเข้าใจจิตวิทยาในงานออกแบบมาเป็นส่วนช่วยในการนำเสนอเรื่องราว ทำให้เกิดความน่าสนใจและน่าติดตามมากขึ้น
กระบวนการการทดลองนำเสนอผลงานในรูปแบบต่างๆ เริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อผลงานเรื่องสั้นชื่อ ‘ไฟ’ ซึ่งเป็นเรื่องแรก ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารอิมเมจในปี พ.ศ. 2533 ทำให้เส้นทางนักเขียนของวินทร์แจ่มชัดขึ้น หลังจากที่ส่งผลงานเรื่องสั้นไปตีพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ วินทร์จึงกลายเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองนับตั้งแต่ทยอยตีพิมพ์ผลงานในนิตยสารช่อการะเกด ต่อมาเรื่องสั้น ‘หมึกหยดสุดท้าย’ ได้รวมพิมพ์ในช่อปาริชาติ 1 รวมเรื่องสั้นแนวทดลองที่มีสุชาติ สวัสดิ์ศรีเป็นบรรณาธิการ ในปี พ.ศ. 2535 หลังจากนั้นผลงานเรื่องสั้น ‘โลกีย-นิพพาน’ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือช่อการะเกด ฉบับที่ 12 ทำให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับช่อการะเกดจากบรรณาธิการ และได้รับคะแนนเสียงจากสมาชิกนิตยสารช่อการะเกดให้เป็นเรื่องสั้นดีเยี่ยมในรอบปีและได้รับรางวัลช่อการะเกดยอดนิยมประจำปี 2535 อีกด้วยต่อจากนั้นได้รับรางวัลช่อการะเกดยอดนิยมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2538 จากเรื่อง ‘การหนีของราษ โลกสามใบของราษฎร์ เอกเทศ’ ต่อมาเรื่อง ‘เช็งเม้ง’ ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2541 จากนั้นเรื่อง ‘ตุ๊กตา’ ได้รับรางวัลช่อการะเกดยอดนิยมในปี พ.ศ. 2542 และเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อผลงานนวนิยายเล่มแรกเรื่อง ‘ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน’ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2538และต่อมาได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) พ.ศ. 2540 ใน พ.ศ. 2542 หนังสือรวมเรื่องสั้น ‘สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน’ สร้างความสำเร็จให้วินทร์อีกครั้งและเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของวงการวรรณกรรมด้วยการได้รับรางวัลซีไรต์ในปีนั้น ทำให้เขากลายเป็นนักเขียนคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ถึง 2 ครั้ง ต่อจาก ชาติ กอบจิตติ จึงทำให้เขาเป็นที่สนใจอย่างมากทั้งจากผู้คนในแวดวงวรรณกรรมทั้งผู้อ่านและนักวิจารณ์
ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา วินทร์ เลียววาริณ มีผลงานตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง เขามีสำนักพิมพ์เป็นของตนเอง เพื่อผลิตผลงานที่ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพและรูปแบบการสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายโดยมีการนำเสนอเนื้อหาใหม่ๆ แสดงให้เห็นถึงการไม่ยึดติดกับแนวเรื่องรูปแบบเดิม เช่น นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน นวนิยายรัก นิยายแนววิทยาศาสตร์ความเรียงแนวปรัชญา บทภาพยนตร์ นวนิยายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและแนวเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ฯลฯ บนกระแสธารของโลกวรรณกรรมร่วมสมัย วินทร์เปิดประสบการณ์ทางวรรณกรรมอย่างมากมายให้ผู้อ่าน ผลงานที่ผ่านมาทั้งหมดของเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าศาสตร์ของการสร้างสรรค์สามารถหลอมรวมกันได้อย่างพิเศษ ไม่ใช่เพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้นแต่ยังแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งปัญญาและจินตนาการ