Facebook Logo

เป็นเอก รัตนเรือง

เป็นเอก

รัตนเรือง

เป็นเอก รัตนเรือง

รางวัลศิลปาธร : สาขาภาพยนตร์

ประวัติศิลปิน

เป็นเอก รัตนเรืองกุล เกิดที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2505 เดินทางไปศึกษาต่อที่ สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี จาก Pratt Institute เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2528 หลังจากสำเร็จการศึกษา เป็นเอกได้ทำงานเป็นกราฟฟิคดีไซเนอร์ อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก และเมื่อเดินทางกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2536เป็นเอกได้เข้าทำงานที่ ฟิล์มแฟ็กตอรี่ และทำงานเป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา

ฝัน บ้า คาราโอเกะ (Fun Bar Karaoke) คือ ภาพยนตร์เรื่องแรกของเป็นเอก ที่เขาทำหน้าที่ผู้กำกับและเขียนบทเอง ถ่ายทำในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างหนัก เรื่องราวของผู้หญิงวัยรุ่นคนหนึ่งที่ฝันว่าแม่สร้างบ้าน และหมอดูได้ทำนายความฝันว่า ถ้าบ้านสร้างเสร็จพ่อของเธอจะตาย การตัด สลับไปมาของเหตุการณ์ในภาพยนตร์และการเดินเรื่องราวที่เป็นไปอย่างฉับไว รวมไปถึงบุคลิกของตัวละครและวิธีการเล่าเรื่องที่แปลกแตกต่างไปจากขนบของภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยในขณะนั้น ทำให้ เป็นเอก ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์นอกกระแสรุ่นใหม่ของไทย ภาพยนตร์ ฝัน บ้า คาราโอเกะ ได้รับคัดเลือกให้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ในปี พ.ศ. 2540

ภาพยนตร์เรื่อง ตลก 69 (6ixtynin9) คือ ภาพยนตร์เรื่องที่สองของเป็นเอก ซึ่งเขายังคงทำหน้าที่ผู้กำกับและเขียนบทเอง ภาพยนตร์อาชญากรรมตลกร้าย เรื่องราวหญิงสาวพนักงานออฟฟิศคนหนึ่งที่ได้รับกล่องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปริศนาซึ่งภายในบรรจุเงินจำนวนมากไว้ด้านใน และเมื่อเจ้าของเงินในกล่องได้ออกตามหาเงินที่หายไป จึงนำไปสู่เหตุการณ์วุ่นวายและยุ่งเหยิงในเวลาต่อมา การเดินเรื่องที่ฉับไวและการตัดสลับไปมาของเหตุการณ์ ยังคงเป็นจุดเด่นและรูปแบบเฉพาะตัวของการทำภาพยนตร์ของเป็นเอก ภาพยนตร์เรื่อง ตลก 69 ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์จากประเทศไทยส่งไปชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 73 ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ.2542 นอกจากนี้ เรื่องตลก 69 ยังได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายที่เทศกาลภาพยนตร์รอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเทศกาลภาพยนตร์อื่นๆ ในปีเดียวกัน

มนต์รักทรานซิสเตอร์ (Transistor Love Story) คือภาพยนตร์เรื่องที่สามของเป็นเอก ในปี พ.ศ. 2544 เป็นเอกนำเอาความทรงจำ ช่วงชีวิตวัยเด็กที่ได้ฟังเพลงลูกทุ่งจากวิทยุทรานซิสเตอร์ของพี่เลี้ยงซึ่งดูแลเขามาตั้งแต่เด็ก ทำให้เป็นเอกมีแนวคิดอยากทำภาพยนตร์เพลงลูกทุ่ง โดยเขาได้นำเอาบทประพันธ์ของ วัฒน์ วรรลยางกูร เรื่อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ มาทำให้กลายเป็นภาพยนตร์เพลงลูกทุ่ง มนต์รักทรานซิสเตอร์ เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มที่ต้องจากคนรักไปเป็นทหารเกณฑ์ แต่ก็หนีออกมาทำตามฝันที่จะเป็นนักร้องลูกทุ่ง และชายหนุ่มก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ มากมายภายในกรุงเทพฯ มนต์รักทรานซิสเตอร์ ได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ในปี พ.ศ. 2545 และเป็นภาพยนตร์ที่ประเทศไทยส่งไปชิงรางวัล ออสการ์ครั้งที่ 75 อีกด้วย

ภาพยนตร์เรื่องที่สี่ของเป็นเอก ในปี พ.ศ. 2546 เรื่อง รัก น้อยนิดมหาศาล (Last Life in the Universe) ได้ ปราบดา หยุ่น มาทำหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์ และทีมงานต่างชาติอย่าง คริสโตเฟอร์ ดอยล์ มารับหน้าที่ถ่ายภาพ และแสดงนำโดยนักแสดงชาวญี่ปุ่น อาซาโน่ ทาดาโนบุ เรื่องราวของหนุ่มญี่ปุ่น ที่มาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และหมกมุ่นอยู่กับการฆ่าตัวตาย ก่อนที่จะไปเจอกับสองพี่น้องวัยรุ่นชาวไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกให้เข้าชิงรางวัลที่เทศกาลภาพยนตร์รอตเทอร์ดาม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ภาพยนตร์เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทย ไปชิงรางวัลออสการ์ในปี พ.ศ. 2546

ภาพยนตร์เรื่องที่ห้า คำพิพากษาของมหาสมุทร (Invisible Waves) เป็นเอกกลับมาร่วมงานกับทีมงานเดิมจากภาพยนตร์เรื่อง รัก น้อยนิด มหาศาลอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพและนักแสดงนำชาวญี่ปุ่น ภาพยนตร์เรื่อง คำพิพากษาของมหาสมุทร เป็นเรื่องราวของอดีตสมาชิกมาเฟียญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ก่อเหตุฆาตกรรมภรรยาของเจ้านายในมาเก๊า และหลบหนีเข้ามายังประเทศไทย แต่โชคชะตาก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างหมุนวนกลับไปสู่ผู้ก่อเหตุและต้องมีผู้ชดใช้ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการใช้สถานที่การถ่ายทำทั้งในมาเก๊า และภูเก็ต รวมถึงมีการนำนักแสดงชาวฮ่องกงและเกาหลีมาร่วมแสดงด้วย เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเป็นเอกที่มีการถ่ายทำในต่างประเทศ ภาพยนตร์เรื่อง คำพิพากษาของมหาสมุทร ออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพฯ และเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต ประเทศแคนาดาในปี พ.ศ. 2549 รวมไปถึง เข้าชิงรางวัลหมีทองคำ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ปี พ.ศ. 2549

พลอย (Ploy) คือ ภาพยนตร์ยาวเรื่องที่หกของเป็นเอก เขาเริ่มต้นเขียนบทภาพยนตร์จากการได้พบปะพูดคุยกับญาติที่เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาเพื่อร่วมงานศพ เป็นเอกให้ความสนใจกับประเด็น เรื่องราวญาติคนไทยของเขาที่เดินทางกลับมายังบ้านเกิด แต่เธอไม่มีบ้านอยู่ที่นี่ จนเป็นเอกนำเอาไปพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราว ความสัมพันธ์ระหว่างสองสามีภรรยาที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศเพื่อมาร่วมงานศพของญาติ และเข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ ภาพยนตร์เรื่องนี้ของเป็นเอกกลับเข้าสู่ความเรียบง่ายโดยใช้ฉากในการถ่ายทำไม่กี่ฉากในห้องพักในโรงแรมที่ถูกสร้างขึ้นมาบนดาดฟ้าอาคารแห่งหนึ่ง แสงเป็นตัวละครสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เป็นเอกนำเอามาสัมพันธ์กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเข้มของแสงและความสว่างของแสงที่ปรากฏขึ้นในแต่ละฉาก รวมไปถึงสะท้อนความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของตัวละคร ภาพยนตร์เรื่อง พลอย ฉายรอบปฐมทัศน์ครั้งแรกที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี พ.ศ. 2550 เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ ประจำปี พ.ศ. 2550 เข้าฉายที่เทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต ประเทศแคนาดา ปี พ.ศ. 2550

นางไม้ (Nymph) ภาพยนตร์เรื่องที่เจ็ดของเป็นเอก เป็นการร่วมทุนระหว่างไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น และ ฟอร์ทิสซิโม่ ฟิล์ม ออกฉายในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2552 เรื่องราวของคู่สามีภรรยาหนุ่มสาวชาวเมืองที่อาศัยและดำรงชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ ฝ่ายชายมีอาชีพเป็นช่างถ่ายภาพ ส่วนฝ่ายหญิงเป็นพนักงานออฟฟิศ ความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายและน่าเบื่อหน่ายของชีวิตคนเมือง ทำให้ฝ่ายหญิงแอบไปมีสัมพันธ์กับชายอีกคน และเมื่อทั้งสองต้องเดินทางเข้าไปในป่า ต้นไม้ใหญ่กลางป่าลึก ได้ทำให้สามีของเธอเปลี่ยนแปลงไปภาพยนตร์ นางไม้ ได้รับการคัดเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี พ.ศ. 2552 ในสาขา Un Certain Regard และได้รับรางวัลคมชัดลึก อวอร์ดครั้งที่ 7 สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ฝนตกขึ้นฟ้า (Head Shot) ภาพยนตร์ลำดับที่แปดของเป็นเอก ซึ่งเขาดัดแปลงจาก นวนิยายของ วินทร์ เลียววาริณ จุดเริ่มต้นความสนใจของเขาในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เกิดจากความสนใจส่วนตัวของเป็นเอกต่อตัวละครที่ปลอมเป็นพระ เพื่อไปลอบสังหารเหยื่อ ฝนตกขึ้นฟ้า เป็นเรื่องราวของตำรวจที่ถูกยิงเข้าที่ศีรษะจนทำให้เขามองเห็นสิ่งต่างๆ กลับหัวกลับหาง เป็นเอก นำเสนอภาพยนตร์ให้ออกมาในรูปแบบฟิล์มนัวร์เพื่อสะท้อนบุคลิกที่ขัดแย้งกันเองและด้านมืดในตัวมนุษย์ ไปพร้อมๆ กับความไม่แน่นอนของชีวิต ฝนตกขึ้นฟ้าเข้าฉายในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2554 ได้รับเลือกเป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทย เข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 85 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2555 เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ Los Angeles Asian Pacific ปี พ.ศ. 2555

ประชาธิป’ไทย (Paradoxocracy) เป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของเป็นเอกที่เขากำกับร่วมกับ ภาสกร ประมูลวงศ์ ในปี พ.ศ. 2556 ภาพยนตร์สารคดีที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ พัฒนาการประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยไล่เรียงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ผ่านมุมมองของ 14 นักวิชาการ ซึ่งเป็นเอกและภาสกร ใช้วิธีสัมภาษณ์นักวิชาการเหล่านี้ทีละคน และเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ก่อนจะนำบทสัมภาษณ์เหล่านั้นมาเรียงร้อยเข้าไว้ด้วยกัน

ปี พ.ศ. 2557 แรงดึงดูด (The Life of Gravity) ภาพยนตร์ลำดับที่ 10 ของเป็นเอก เป็นภาพยนตร์รักแนวโรแมนติกคอมเมดี้ที่เกิดขึ้นบนเกาะร้างแห่งหนึ่งเรื่องราวอดีตพนักงานออฟฟิศที่ทิ้งชีวิตมนุษย์เงินเดือนมาอาศัยอยู่บนเกาะร้างที่ต้องมาเจอกับหญิงสาวจากกรุงเทพฯ ที่เรือแตก แล้วลอยมาติดเกาะร้างที่เขาอาศัยอยู่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายเฉพาะทางทีวีช่อง True Thai Film ในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2557

ปัจจุบัน เป็นเอกกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องใหม่สมุย ซอง (Samui Song)

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031