Facebook Logo

ปริญญา โรจน์อารยานนท์

ปริญญา

โรจน์อารยานนท์ 

Prinya Rojarayanont

รางวัลศิลปาธร : สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์

ประวัติศิลปิน

ฟอนต์ตัวอักษรไทยทุกๆ ตัวที่เราใช้กันอยู่ทุกวันในวงการออกแบบ แม้จะดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่บางทีเราอาจมองข้ามความสำคัญของผู้คิดค้น ทั้งที่จริงๆ แล้วเราอาจไม่มีฟอนต์ตัวอักษรไทยดีไซน์สวยงามเฉกเช่นที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันได้เลย หากไม่มีบุคคลผู้นี้ ปริญญา โรจน์อารยานนท์ นักออกแบบฟอนต์ตัวอักษรชื่อดัง เจ้าของรางวัลศิลปาธร ในฐานะศิลปินดีเด่น สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเขาเป็นบุคคลแรกในวงการดีไซน์ที่ได้รับรางวัลในสาขานี้ปริญญา โรจน์อารยานนท์ เป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2498 ชีวิตในวัยเด็กของเขานั้นก็เหมือนกับเด็กคนอื่นทั่วๆ ไปที่ชอบเล่นซุกซนตามประสาเด็กผู้ชาย แต่ทว่าเมื่ออยู่ชั้นเรียน ที่เพื่อนๆ หัดขีดเขียน คัดลายมือหรือเวลาว่างที่มีโอกาสได้ทบทวน ขีดเขียนตัวอักษรเหล่านั้น เขากลับสนุกสนานเพลิดเพลินกับการคิดค้น หยิบรูปทรงของตัวอักษรต่างๆ มาผสมกันจนเป็นตัวอักษรตัวใหม่ อีกทั้งยังมีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักออกแบบหรือนักประดิษฐ์ด้วย เมื่อโตขึ้นเขาจึงสานต่อความฝันให้เป็นจริงด้วยการสอบเข้าเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อจบการศึกษา ก็อาจได้เป็นสถาปนิกที่ออกแบบ ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนสมใจ ทว่าเมื่อเขาได้เข้าไปเรียนจริงๆ แล้ว เขากลับไม่ชื่นชอบในวิชาเรียน และพบว่าตนเองไม่ถนัด ไม่เหมาะที่จะเป็นสถาปนิก แต่กลับสนใจในงานกราฟิกดีไซน์มากกว่า เขาจึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นนิสิตคณะสถาปัตย์ฯ เมื่อตอนที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 จากนั้นเขาเริ่มทำงานสั่งสมประสบการณ์ จนในที่สุดก็ร่วมกับเพื่อนๆ ก่อตั้งบริษัทDear Book ซึ่งรับออกแบบงานประเภทคู่มือประกอบการขายยารักษาโรค ทำให้มีโอกาสได้สร้างสรรค์งานออกแบบหนังสือรายงานประจำปีให้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในการออกแบบจัดทำหนังสือแนวนี้ รวมถึงประวัติบริษัท (Company Profile) ปฏิทินและอื่นๆ อีกด้วย จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตนักออกแบบของเขา เมื่อมีคอมพิวเตอร์ Macintosh รุ่นแรกเกิดขึ้น เขาและเพื่อนๆ ได้ทดลองใช้คอมพิวเตอร์รุ่นนี้ออกแบบหนังสือรายงานประจำปีของเครือซีเมนต์ไทย ซึ่งนับเป็นหนังสือเล่มแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างสรรค์ขึ้นมาทั้งเล่ม ภายหลังเขาและเพื่อนๆ จึงได้สร้างจุดขายให้ธุรกิจด้วยการใช้คอมพิวเตอร์สร้างฟอนต์ตัวอักษรขึ้นใช้เองเป็นบริษัทแรก ทำให้ผลงานต่างๆ ที่ออกมามีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร และเป็นที่สนใจในกลุ่มลูกค้าอย่างมากปี พ.ศ. 2542 ปริญญาตั้งบริษัทขึ้นใหม่มีชื่อว่า DB designs Co.,Ltd.เป็นบริษัทที่ผลิตฟอนต์ตัวอักษรไทยในตระกูล DB ออกจำหน่าย และนับเป็นแห่งแรกที่มีการผลิตฟอนต์ตัวอักษรไทยให้คนไทยได้ใช้ และฟอนต์ในตระกูล DBเหล่านี้ก็เป็นที่แพร่หลาย ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในผู้คนในวงการออกแบบที่ใช้ฟอนต์อันเป็นเอกลักษณ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เขาเคยกล่าวถึงแนวคิดในการหันมาสร้างฟอนต์ตัวอักษรไว้ในหนังสือ Graphic Design Archive of Thai Graphic Designer ไว้ตอนหนึ่งว่า “…งานสร้างตัวพิมพ์เป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงการออกแบบ และเราทำได้ค่อนข้างดี เป็นงานที่ไม่สร้างปัญหาให้ใคร แต่อยู่ที่คนใช้ว่าเอาไปใช้อย่างไร ซึ่งไม่ใช่ส่วนที่ผมต้องไปรับผิดชอบหน้าที่ของผมคือทำให้มันอ่านง่าย ส่วนที่ดีอีกอย่างของงานออกแบบตัวพิมพ์คือมีกฎหมายลิขสิทธิ์รองรับ จึงใช้เลี้ยงตัวได้ระยะยาว เทคโนโลยีอาจเปลี่ยนแปลงแต่เราอัพเกรดฟอนต์ได้…”งานออกแบบของปริญญามีลักษณะเรียบง่าย ทว่ามีรายละเอียดในเส้นสายกราฟิกที่น่าสนใจ และสามารถนำมาใช้สื่อสารได้ดี และแม้ว่าเขาจะไม่ชอบเรียนสถาปัตย์ แต่แนวคิดแบบสถาปนิกที่หล่อหลอมตัวตนของเขาอยู่ถึง 3 ปี ก็ได้ส่งอิทธิพลบางประการในการออกแบบฟอนต์ตัวอักษรของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคคลาสสิกที่สถาปนิกทุกคนรู้จักกันดี อย่าง “Form follows function”รูปทรงในงานดีไซน์ต้องตามหลังประโยชน์ใช้สอย ซึ่งในงานออกแบบของเขาก็มักให้ความสำคัญกับดีไซน์ที่ทำให้อ่านง่าย สบายตามากกว่าจะเน้นความสวยงามเป็นหลัก แต่เขาก็พยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุด นั่นคือ การประดิษฐ์ฟอนต์ตัวอักษรที่อ่านง่ายและเปี่ยมไปด้วยสุนทรียภาพ ความงดงามด้วยเอกลักษณ์ในงานออกแบบและแนวคิดที่ไม่ซ้ำใคร ทำให้ผู้คนมองเห็นคุณค่าในผลงานของเขา อันนำมาซึ่งรางวัลอันทรงเกียรติที่ ปริญญา ได้รับหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น รางวัลปฏิทินสุริยศศิธร (สาขาเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ สาขาจรรโลงสังคมและสิ่งแวดล้อม) รางวัล Typographic Excellence จาก Type Directors Club. ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2005 จากผลงานการออกแบบฟอนต์ชุด ‘DB Santipap’ (ดีบี สันติภาพ) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฟอนต์ไทยได้รับรางวัลจากเวทีนี้ รวมถึงรางวัลสำคัญ คือ ศิลปินดีเด่นศิลปาธร สาขากราฟิกดีไซน์คนแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2552 ด้วยปัจจุบัน ปริญญายังคงคิดนอกกรอบและมุ่งมั่นนำเสนอผลงานที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ และบันดาลใจให้เกิดสิ่งใหม่ๆ แก่วงการออกแบบและกราฟิกดีไซน์ได้ชื่นชมฝีมืออันเฉียบคมของเขาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบฟอนต์ตัวอักษรหลายชุด หลายสไตล์ ซึ่งมีให้เห็นตั้งแต่แบบอนุรักษ์สุดขั้ว ไปจนถึงงานดีไซน์ฟอนต์ที่ก้าวล้ำนำสมัยอย่างเต็มพิกัด อีกทั้งเขายังเป็นผู้ให้ความรู้เรื่องหลักในการใช้ตัวพิมพ์ ความเป็นมาของตัวพิมพ์ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษางานออกแบบอัตลักษณ์องค์กร รวมถึงรับบทบาทเป็นวิทยากรพิเศษผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวพิมพ์ไทย ทั้งในแง่รูปลักษณ์และประโยชน์ใช้สอยทั้งจากมหาวิทยาลัยและองค์กรธุรกิจและเขายังเคยเขียนบทความให้ความรู้เกี่ยวกับฟอนต์ตัวอักษรไทยเอาไว้มากมาย นอกจากนี้เขายังได้สร้างสรรค์นวัตกรรมอันเยี่ยมยอดขึ้นมาอีกหนึ่งชิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 ซึ่งก็คือ เกมหมากรุก “โอเซลิ”(Oxeli chess) ซึ่งได้แรงดลใจมาจากการนำหมากรุก 3 กระดาน คือ หมากรุกไทย จีน และสากลมาผสมผสานเข้าด้วยกัน และนำศาสตร์แห่งกราฟิกดีไซน์ที่เขาถนัดไปกำกับตัวเดินหมากรุกเพื่อบอกวิธีเดินของมันในรูปแบบของการใช้สัญลักษณ์ ทำให้เกิดหมากรุกชนิดใหม่ที่เล่นง่ายและสนุกขึ้น ซึ่งผลงานชุดนี้เคยถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะและออกแบบสร้างสรรค์ชื่อ “สมองแจ่ม”ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน -26 ธันวาคม 2553 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และล่าสุดเขาก็ได้ฝากผลงานการสร้างสรรค์ชุดพิเศษมาให้เราได้ชมกันในนิทรรศการที่มีชื่อว่า “An Architecture from Within : DECA ATELIER1993-2014” ซึ่งเขาได้รับเชิญให้นำผลงานไปจัดแสดงร่วมกับดีไซเนอร์คนอื่นๆและผลงานการออกแบบระดับมาสเตอร์พีซ ของ DECA ATELIER ตั้งแต่ปีค.ศ. 1993-2014 ด้วย ซึ่งงานนี้ได้จัดแสดงไปเมื่อวันที่ 3-21 กันยายน พ.ศ.2557 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031