Facebook Logo

วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์

วศินบุรี

สุพานิชวรภาชน์

วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์

รางวัลศิลปาธร : สาขาออกแบบ

ประวัติศิลปิน

วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบ ประจำปี 2553 เกิดและเติบโตในครอบครัวผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่และมีชื่อเสียงของ จ.ราชบุรี (โรงงานเถ้าฮงไถ่) ก่อนจะเดินทางไปศึกษาต่อที่ University Gesam thochschule สถาบันเทคโนโลยีสำหรับเครื่องเคลือบดินเผา เมือง Landshut และระดับปริญญาโทที่ Kassel ประเทศเยอรมัน นำความรู้และเทคนิคจากการศึกษาเล่าเรียน กลับมาสืบทอดกิจการเครื่องปั้นดินเผาโดยยึดถือต้นทุนทางความคิดของบรรพบุรุษ ประยุกต์ผนวกกับการออกแบบและกระบวนการศิลปะร่วมสมัยสร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาในรูปแบบใหม่เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้แก่ ภาชนะและของใช้ในบ้านที่มีรูปแบบเดิมๆ ให้มีรูปทรงและสีสันสวยงามสะดุดตาพร้อมๆ กับเริ่มทำงานศิลปะในความสนใจของตัวเอง

กล่าวได้ว่าความรัก ความผูกพันและความสนใจในการทำเครื่องปั้นดินเผาของวศินบุรีนั้น ถือกำเนิดและหล่อหลอมมาจากการเติบโตในโรงงานเครื่องปั้นดินเผา หากแต่ความรักในงานศิลปะนั้นเกิดขึ้น และหยั่งรากมั่นคงจากการได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่เยอรมันในฐานะประเทศชั้นนำทางศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัย โดยวศินบุรีเป็น 1 ใน 3 คนไทยที่ได้รับเกียรติให้สร้างงานศิลปะเป็นถาวรวัตถุให้กับประเทศเยอรมัน ที่ศูนย์เยาวชน Willi-Seidel-haus เมือง Kassel ประเทศเยอรมัน

ในส่วนของการทำงานศิลปะนั้น แม้วศินบุรีจะมีพื้นฐานจากงานเครื่องปั้นดินเผา แต่ในฐานะผลงานสร้างสรรค์จึงทำให้ขนบการทำงานเซรามิกไม่ตายตัวอีกต่อไป กระทั่งไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่การใช้งานอย่างที่เคย นอกจากนี้ยังมีผลงานภาพถ่าย ซึ่งถือว่าเป็นความสนใจอีกอย่างหนึ่งของวศินบุรี หลังจากได้รับรางวัลศิลปาธร วศินบุรียังคงทำงานศิลปะและร่วมแสดงงานอย่างต่อเนื่องเช่น ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการศิลปะในถ้ำ : สภาวการณ์-มนุษย์-เมือง : บทสนทนาในถ้ำ (Metro-Sapiens: dialogue in the cave) โครงการศิลปะสู่ชุมชน ครั้งที่ 8 จัดแสดงในถ้ำจอมพล อ.จอมบึง จังหวัดราชบุรี ระหว่างวันที่ 6-8 เมษายน 2556

ความโดดเด่นและความสม่ำเสมอในการทำงานศิลปะ ทำให้วศินบุรีได้รับคัดเลือกจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ให้ไปจัดแสดงผลงานศิลปะในมหกรรมศิลปะระดับนานาชาติ    เวนิส เบียนนาเล่ (Biennale di Venezia) ครั้งที่ 55 ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 24 พฤศจิกายน 2556 โดยวศินบุรีเลือกนำเสนอชุดผลงาน Poperomia ซึ่งเป็นคำที่ดัดแปลงมาจาก “Peperomia” ที่แปลว่าผักกะสัง และ “pop” ที่หมายถึงวัฒนธรรมป๊อป

ซึ่งในผลงาน Poperomia นั้นเป็นการตั้งคำถามเชิงโครงสร้าง ต่อแก่นและรากของความเป็นไทย ล้อเลียนเชิงสัญลักษณ์ต่อรากเหง้าของความเป็นสังคมเกษตรกรรมในบริบทดั้งเดิม และจงใจท้าทายจินตนาการและการรับรู้ของผู้ชม ในแง่ของการทับซ้อนทางวัฒนธรรมร่วมสมัยแบบองค์รวมผ่านผลงานประติมากรรมอันหลากหลาย วิดีโอจัดวางที่นำเสนอภาพยนตร์เรื่อง “ทองปาน” ศิลปะแบบมีส่วนร่วมและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับผลงาน โดยเชิญชวนให้ผู้ชมร่วมกันพันไหมพรมลงบนก้อนอิฐ แล้วนำไปจัดเรียงในพื้นที่จัดแสดง ผลงานประติมากรรมควายโปร่งแสงและประติมากรรมอื่นๆ ที่ถูกจัดวางภายใต้บรรยากาศการจำลองภาพของสังคมร่วมสมัยที่อัดแน่นไปด้วยความน่าตื่นตาตื่นใจ ภายใต้รูปแบบวัฒนธรรมกระแสนิยม    ซ่อนไว้ซึ้งภาพสะท้อนของความเป็นจริงอันมีรากเหง้าแห่งความเป็นสังคมเกษตรกรรมในบริบทดั้งเดิม ซึ่งเป็นพื้นฐานอันแข็งแกร่งของสังคมไทยมาแต่ช้านาน โดยอ้างอิงกับทฤษฎีออสโมซิส ของผักกระสัง ที่ชื่อภาษาอังกฤษว่า Peperomia

หากวิเคราะห์ผลงานที่ผ่านมา จะพบว่าแนวคิดการสร้างงานของวศินบุรีเน้นหนักที่กระบวนการลองผิดลองถูก และการทำลายจินตนาการเดิมไปสู่จินตนาการใหม่เขาเชื่อว่า “ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรืองาน   เซรามิก มันไม่ได้มีแค่สิ่งที่เราเคยเห็นหรือเคยรู้เท่านั้น มันมีอะไรอีกมากมายที่รอคอยให้เราเข้าไปค้นหาหรือทดลองเล่นกับมันได้อีกไม่รู้จบ…” ที่สำคัญวศินบุรีเป็นคนที่เชื่อในเรื่อง “ความบังเอิญ” ในฐานะความไม่สมบูรณ์แบบที่เป็นเสน่ห์สำคัญในงานเซรามิก เพราะมันเป็นโอกาสของการทำให้เกิด “สิ่งใหม่” ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของธาตุทั้งสี่ และทำให้งานเซรามิกแตกต่างจากศิลปะประเภทอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน

ดังเช่นผลงานล่าสุดในนิทรรศการ BURIUM ณ RMA Institute ในปี 2557 มาจาก Buri + Arium อ่านตามสำเนียงเยอรมันว่า “บุรีอุ้ม” ซึ่งเกิดจากการผสมคำว่า บุรี ชื่อตอนเกิดของวศินบุรี และ Arium       คำที่มาจากภาษาละติน แปลว่าภาชนะที่ใส่ของ หรือพื้นที่สำหรับบางสิ่ง โดยผลงานที่แสดงในนิทรรศการ

เน้นการทำงานที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างศิลปินกับเหตุการณ์ที่เหนือการควบคุมหรือความบังเอิญ เช่น เซรามิก  ที่เล่นกับการก้าวเข้าไปเกินขอบของความเป็นไปได้ทางวัสดุ เช่น เผาจนเกินกว่าความเป็นไปได้ทางวัสดุ       หรือภาพถ่ายที่เล่นกับช่วงจังหวะ เวลา และสิ่งที่มนุษย์แม้เป็นผู้กำหนด แต่ควบคุมได้แค่บางส่วนเท่านั้น           จนกลายเป็น “ผลลัพธ์” ของความพยายามควบคุม สิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างมนุษย์ กับธรรมชาติ หรือสิ่งที่เราอาจเรียกได้ว่า “ชะตากรรม”

และในฐานะลูกหลานชาวราชบุรี วศินบุรีก่อตั้ง “หอศิลป์ร่วมสมัย Tao Hong Tai d Kunst”        ขึ้นกลางเมืองริมแม่น้ำแม่กลอง เพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะทางศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีการดำเนินชีวิตของชาวราชบุรี โดยใช้กระบวนทัศน์เรื่องความร่วมสมัย ผสานกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนโดยหวังจะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่มีจุดขายเรื่องการท่องเที่ยว เห็นความสำคัญของการสร้างบรรยากาศทางศิลปะเพื่อพัฒนาคนและชุมชน

วศินบุรีมีส่วนผลักดันให้เกิดนิทรรศการศิลปะต่างๆ ให้เกิดขึ้นในจังหวัดราชบุรี เช่น นิทรรศการศิลปะบนถนน (Street Art) ในงาน “ติดศิลป์…บนราชบุรี” จัดแสดงในช่วงเดือนพฤษภาคม และต้นเดือนมิถุนายน 2554 โดยมีกลุ่มเยาวชนราชบุรีที่รักศิลปะเป็นแกนนำหลักในการจัดมหกรรมศิลปะร่วมสมัยเปิดพื้นที่ให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้สร้างงานศิลปะตามความคิดและจินตนาการหรือนิทรรศการปกติศิลป์ (Art Normal) ที่เคยจัดแสดงระหว่าง 17 ธันวาคม 2554 – 15 เมษายน 2555 โดยชื่อนิทรรศการล้อเลียนมาจากคำว่า Abnormal ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ว่า ทุกบ้านคือแกลเลอรี่ ทุกที่คือหอศิลป์ วัตถุประสงค์ของนิทรรศการคือตั้งใจที่จะปรับทัศนคติของคนทั่วไปที่มองว่าศิลปะเป็นเรื่องสูงส่งประหนึ่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าใจได้ ให้หันมามองกันใหม่ว่าศิลปะไม่ใช่เรื่องที่สูงส่งแต่แท้จริงแล้วแฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นผลงานในนิทรรศการนี้จึงจัดแสดงงานภายในบ้าน ร้านค้า และสถานที่ต่างๆ ที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่

นอกจากนี้วศินบุรีในฐานะภัณฑารักษ์ยังได้จัดนิทรรศการต่างๆ อาทิ R.C.A. (Ratchaburi Construction Workers Open Air) 1 พฤษภาคม – 18 สิงหาคม 2556 โดยเชิญ ราล์ฟ ทูเท็น (Ralf Tooten) ช่างภาพเยอรมันที่มีชื่อเสียงให้จัดแสดงภาพถ่ายบุคคล ให้ชมกันทั้งที่ d Kunst และสถานที่ต่างๆ รอบเมืองราชบุรี รวมทั้งนิทรรศการ “เด็กฝึกหัตถ์” ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้แสดงออกทางความคิด ฝึกฝีมือ และพัฒนาความรู้ต่างๆ ด้านการออกแบบและการผลิต ร่วมด้วยศิลปิน และนักออกแบบรับเชิญชื่อดังในวงการเครื่องปั้นดินเผาของประเทศไทย

ปัจจุบัน วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ดูแลธุรกิจเถ้าฮงไถ่เต็มตัวในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นผู้นำในการเปลี่ยนโฉมหน้าวงการออกแบบเครื่องปั้นดินเผาของไทย นอกจากนั้นเขายังเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันต่างๆ ให้ความรู้ด้านการออกแบบเซรามิค รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในศิลปิน

เซรามิกที่มีผลงานแปลกใหม่ออกมาให้ชมไม่ขาดสาย และที่สำคัญคือยังเป็นผู้ผลักดันพื้นที่ทางศิลปะให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น พร้อมกับสร้างโอกาสให้กับศิลปินรุ่นใหม่ๆ เสมอมา

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031