Facebook Logo

พัดยศ พุทธเจริญ

พัดยศ

พุทธเจริญ

Phatyos Buddhacharoen

รางวัลศิลปาธร : สาขาทัศนศิลป์

ประวัติศิลปิน

หากกล่าวถึงศิลปินไทยร่วมสมัย ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ผสมผสานองค์ความรู้จากซีกโลกตะวันตก และความคิดแบบตะวันออกเข้าด้วยกันได้อย่างประณีตบรรจง พัดยศพุทธเจริญคือหนึ่งในศิลปินชั้นนำผู้มีความรู้ความสามารถนั้นดังปรากฏผ่านผลงานศิลปะตั้งแต่อดีต ทั้งผลงานภาพพิมพ์แบบนามธรรม ตลอดจนศิลปะจัดวาง (installation art) อันเป็นกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะจากตะวันตก ซึ่งพัดยศได้ใช้ทักษะของตนเองเข้าจัดการสื่อและเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ผลงานนั้นนำเสนอเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาอันเป็นปรัชญาสำคัญของโลกตะวันออก

พัดยศ เกิดในปี พ.ศ. 2508 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาพพิมพ์ และปริญญาโทในสาขาวิชาเดียวกัน จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาภาพพิมพ์คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จวบจนปัจจุบัน และได้รับตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาพพิมพ์ ในปี พ.ศ. 2550 ถึงแม้พัดยศจะมีภารกิจหลักในฐานะอาจารย์ ผู้ทุ่มเทถ่ายทอดวิชาความรู้ภาพพิมพ์ให้แก่ นักศึกษา หากแต่ความเป็นศิลปินก็เป็นอีกตัวตนสำคัญ ผลักดันให้เขาสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยมีปรัชญาความเชื่อ แนวคิด และแนวปฏิบัติต่างๆ ตามวิถีพุทธ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญอันกล่าวได้ว่า หลักธรรมในพุทธศาสนา คือบ่อเกิดของผลงานศิลปะของพัดยศ รูปแบบความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะกับแนวคิดวิถีแห่งพุทธของแต่ละนิทรรศการแตกต่างกันไปตามเวลา สถานการณ์ ตลอดจนสภาวะภายนอกและภายในของศิลปิน

สำหรับผลงานในช่วงแรก ระหว่างปี พ.ศ. 2531 – 2546 ถือเป็นการผสมผสานความรู้ทางศิลปะเข้ากับบทเรียนทางธรรมจากภายนอก คือ จากการปฏิบัติธรรมในฐานะพุทธศาสนิกชนทำให้พัดยศพบ “สัจธรรมในธรรมชาติ”หลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีการรวมของพลังงาน-เวลา ก่อร่างเป็นรูปทรง หรือการเกิด-ดับ การรวมตัว-สลาย ของสรรพสิ่งอันสอดคล้องกับพุทธปรัชญาเรื่องอนิจจังสังขารไม่เที่ยง ศิลปินจึงสะท้อนสภาวะของธรรมชาติดังกล่าวผ่านทัศนธาตุพื้นฐานอย่าง ‘เส้น’ สร้างเป็นภาพของมวล ทิศทาง พลังงาน ความเคลื่อนไหวด้วยเทคนิคภาพพิมพ์หิน (Lithograph) นำเสนอในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก “ตัวตนจิตวิญญาณของธรรมชาติ Self-Spirit of Nature” เมื่อ ปี พ.ศ. 2539

หลังจากนั้น ศิลปินได้เดินหน้าศึกษาต่อถึงสัจธรรมในสัณฐานของธรรมชาติอย่าง ‘หิน’ และ ‘ภูเขา’ แล้วพบว่าแม้ทั้งสองสิ่งจะมีขนาด พลัง หรือรูปลักษณ์ต่างกันหากแต่มีสัณฐานเดียวกัน และมีนามธรรมเป็นของตัวเอง ในระหว่างการสร้างสรรค์ภาพพิมพ์หิน พัดยศยังค้นพบสัจธรรมจากความผันแปรของกระบวนการเคมีบนแผ่นหินนำไปสู่การตีความอุปมาอุปไมยเข้ากับนามธรรมแห่งจิตที่มั่นคงที่ซึ่งเนื้อหาเรื่องราวที่กล่าวมานี้ ได้รับการถ่ายทอดผ่านวัตถุธรรมชาติอย่าง ก้อนหิน แผ่นหินที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งด้วยมุมมองทางศิลปะ แล้วนำเสนอในลักษณะศิลปะจัดวางร่วมกับภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์หินอยู่ในห้องนิทรรศการ “จากแม่พิมพ์หินปูนFrom Limestone” (พ.ศ. 2541)

กระบวนการนำเสนองานแบบจัดวางของพัดยศนั้นเด่นชัด และมีรูปแบบเฉพาะมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการสอดแทรกเรื่องราวของหลักธรรมผ่านงานศิลปะก็เข้มข้นขึ้นด้วยเช่นกัน ดังที่ปรากฏในนิทรรศการ “รู้เท่าทันในปัจจุบันขณะMindfulness” จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ในปี พ.ศ. 2546

ซึ่งถือเป็นนิทรรศการศิลปะครั้งสำคัญ ที่สร้างโอกาสให้ผู้ชมได้ศึกษาทำความเข้าใจกลวิธีของศิลปะจัดวางได้มากขึ้น โดยครั้งนั้นศิลปินเพิ่มเติมบริบทของหอศิลป์จากพื้นที่แสดงงานศิลปะ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการเดินทางเพื่อเรียนรู้จิต ปรุงแต่งพฤติกรรม และเข้าถึงคติทางธรรม 5 ทั้งเรื่องราวอันเป็นหนทางสู่ความสุขสงบ

เรื่องราวในนิทรรศการครั้งนั้นเรียงร้อยไปด้วยการ “…ปริเปลือกเปลื้อง…” คือ การมุ่งพิจารณาภาวะของคนที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำ ของสิ่งมายาทางโลก โดยศิลปินสื่อความไว้ผ่าน ‘คราบงู’ และ ‘หัวโขน’ จำนวนมาก ถัดจากนั้นจึงเป็นพื้นที่แห่งการทำความเข้าใจต่อ “…ห้วงวิกฤต…” ซึ่งอาจหมายถึงห้วงใดๆ ใน

ชีวิตที่มีสภาพเป็นดั่ง ‘แห’ ขนาดใหญ่แผ่เข้าครอบงำพันธนาการผู้คน จนก่อเกิดเป็นความทุกข์ทางกายและใจ ลำดับถัดไปคือ “…วิหารในท่ามกลางมหรสพ…” พื้นที่วิหารสมมติที่สะท้อนพฤติกรรมความเชื่อของผู้คนในปัจจุบันอันคลาดเคลื่อนผิดเพี้ยนไปจากวิถีดั้งเดิมของพุทธศาสนิกชน โดยมีเงาของดอกบัวแห่งพุทธิปัญญา

เบิกบานพาดทับอยู่บนเพดานเหนือวิหารแห่งนี้เพื่อคอยเตือนสติให้คนหยุดยั้งคิดถัดจากภาวะแห่งการครุ่นคิด คือการเข้าถึง “…วิถีจิต…” ซึ่งเป็นการเพ่งพินิจ จดจ่อต่อผลงานบนผ้าใบที่เกิดจากการกลิ้งของก้อนหินคลุกเคล้ากับสี สะท้อนถึงสภาวะของจิตคนที่กลอกกลิ้งไปตามสถานการณ์ต่างๆ โดยทั้งห้องนี้มีแสงสว่างเพียงน้อยนิดส่องลงมายังรอยพระพุทธบาทกลางห้อง เปรียบดั่งแสงสว่างแห่งธรรมนำใจช่วยในการสำรวจจิตใจตนเองภายในเงามืดสลัว และลำดับสุดท้ายคือการควบคุมตนให้สงบพร้อมทั้งกาย ใจ ด้วยการโน้มตัวลอดเข้าไปในโครงสร้างวงแหวนแห่งความสงบนั่งสำรวมสติ พร้อมกับพิจารณาจิตใจคนที่ปรากฏเห็นเป็นรูปธรรมได้ในลักษณะของเส้นกราฟคลื่นหัวใจซึ่งบุอยู่เต็มผนังของห้องแสดงงาน อันสื่อถึง “…วิถีลม…” หรือวิถีแห่งความสงบที่สัมพันธ์กับลมหายใจเข้า-ออก

จากความสามารถที่ผ่านมาของพัดยศ เส้นทางอันราบรื่นคือหนทางแห่งอนาคตที่น่าจะเป็น ทว่าสัจธรรมในชีวิตนั้นคือความไม่จีรังยั่งยืน ซึ่งเป็นจริงดั่งหลักธรรมคำสอน โดยในปี พ.ศ. 2548 พัดยศประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อันส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงเรื้อรัง แต่อย่างไรก็ดีด้วยหลักธรรมที่ยึดถือมาแต่เดิม ทำให้ศิลปินสามารถเยียวยาบำบัดตนเองได้อย่างมีสติ แล้วเดินหน้านำเสนองานศิลปะ “ก้าวย่างอย่างมีสติ SA-TEP BY SA-TI”(พ.ศ.2550) เพื่อส่งต่อหลักธรรมคำสอนดังเช่นที่กระทำมาโดยตลอด

ความสามารถและมุมมองทางศิลปะที่ลึกซึ้งไปด้วยทักษะ และจิตวิญญาณแห่งพุทธศาสนา มีคุณประโยชน์ต่อทั้งวงการศิลปะ ศาสนา ตลอดจนสังคมในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ พัดยศ พุทธเจริญ ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินดีเด่น รางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2552 และภายหลังจากได้รับรางวัลแล้ว ศิลปินศิลปาธรท่านนี้ ยังคงทุ่มเทให้กับการสอนในฐานะอาจารย์ไปพร้อมกับรังสรรค์ผลงานศิลปะชุดใหม่ “นโมพุทฺธาย : ความนอบน้อม (จิต) ที่จงมีแด่พระภูมิ (ผู้) มีพระภาคเจ้า Namo Buddhaya : A Path towards the Divine Light” (พ.ศ. 2553) ในรูปแบบศิลปะจัดวางสื่อผสม อันมีพัฒนาการต่อยอดมาจากนิทรรศการก่อนหน้าอย่างชัดเจน ทั้งด้านการนำเสนอที่ลุ่มลึกแยบยลและเรื่องราวของหลักธรรม ที่คราวนี้ได้เข้ามาผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกับการใช้ชีวิตจนกลายเป็นศิลปะจากบทเรียนทางธรรมแบบภายในของศิลปิน

นิทรรศการ “นโมพุทฺธาย” ถ่ายทอดสาระหรือเรื่องราวต่างๆ ทางพุทธศาสนาผ่านการใช้สื่อศิลปะหลายประเภทมาแทนค่า อย่างเช่น ความเชื่อเรื่อง ‘มงคล 108 ประการ’ นั้นถูกนำเสนอบนรอยพระพุทธบาททองแดงขนาดใหญ่ ความเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 ‘พระศรีอริยเมตไตรย’ สะท้อนผ่านภาพพิมพ์รูปรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ 5 คู่ บนผนัง เป็นผลงานสื่อผสมมัลติมีเดีย (Multimedia)ที่ติดตั้งบนขั้นบันไดด้วยรวมถึงเรื่อง ‘พลังของธาตุทั้ง 5’ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ อันเป็นความนัยของ นโมพุทฺธายะซึ่งถูกแทนค่าด้วยเสียงเครื่องดนตรี 4 ชนิด โดยมีอากาศธาตุคอยผสมผสานและส่งต่อคลื่นเสียงเหล่านั้นตลอดจนเรื่องราวของศิลปินเอง ที่แม้เจ็บป่วยทางกายแต่มีปัญญาคอยประคอง และมีหลักธรรมช่วยนำทาง ถูกบอกเล่าผ่านประติมากรรมลวดถักรูปขาข้างซ้ายยัดด้วยนุ่นจนเต็มมีไม้เท้าช่วยค้ำยันให้ตั้งอยู่ได้ เบื้องหน้าขานั้นคือรอยพระพุทธบาทเยื้องก้าวส่วนเบื้องบนคือภาพเคลื่อนไหวของรอยวิถีก้าวย่างทักษิณาวรรต

ถึงแม้สาระเรื่องราวทางธรรมในนิทรรศการจะมีมากเพียงใด แต่หากขาดปฏิสัมพันธ์จากผู้ชมที่ถือครองเทียนประทีปเดินอาศัยแสงนวลเข้าชื่นชมสำรวจเรื่องราวท่ามกลางความมืดนี้แล้ว สาระเหล่านั้นย่อมไม่อาจสื่อถึงผู้คนได้ ดั้งนั้นอาจกล่าวได้ว่าการครองเทียน ซึ่งแฝงนัยแห่งการ “ครองสติ” คือหัวใจสำคัญแห่งการรับรู้สรรพสิ่ง ทั้งความงาม สุนทรียภาพ และความสุขสงบ ในยามที่เปลวเทียนส่องแสงสะท้อนเป็นสีทอง หรือความทุกข์ ร้อนรุ่ม หม่นหมอง เมื่อนำตาเทียนหลอมเหลวหกรดผิวจนแสบร้อน หรือกระทั่งจนเปลวเทียนดับแสงลงเพราะสติที่หลุดลอยไปซึ่งผลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการครองสติ คือหนทางสู่การรู้ตื่น รู้แจ้ง อันเป็นหลักธรรมสำคัญที่ศิลปินเจตนานำเสนอผ่านนิทรรศการ

จากผลงานที่ผ่านมาแสดงเห็นได้ว่า พัดยศ พุทธเจริญ คือศิลปินไทยผู้มีความสามารถและมีชั้นเชิงทางศิลปะ พร้อมกับมีจิตใจยึดมั่นในหลักธรรมของพุทธศาสนา เขาจึงสร้างศิลปกรรมขึ้นมาเพื่อเป็นพุทธบูชาในแบบร่วมสมัย ขณะเดียวกันก็สอดแทรกปริศนาธรรมให้ผู้คนได้เรียนรู้ผ่านกลวิธีทางศิลปะอันหลากหลาย อาทิ การใช้สัญลักษณ์แทนค่า การสร้างแสง-เงาเพื่อก่อร่างภาพเงาสื่อความหมาย การใช้เสียงหรือภาพเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้นความคิดความรู้สึก นอกจากนี้ยังแฝงกุศโลบายไว้กับผลงาน เพื่อบังคับพฤติกรรมของผู้ชมให้ทำตามเงื่อนไขบางประการ อันนำไปสู่การเรียนรู้หลักธรรมในที่สุด และด้วยเหตุที่กล่าวมา ทำให้ผลงานศิลปะของพัดยศไม่ได้มีคุณต่อวงการศิลปะร่วมสมัยไทยเท่านั้น หากแต่ยังก่อเกิดประโยชน์ที่แท้จริงแก่การดำรงชีวิตของผู้คนท่ามกลางสังคมที่สับสนวุ่นวายและไม่เที่ยงแท้นี้ด้วย

Address

84 Ratchadamnoen Klang Avenue, Bawonniwet
Sub-District, Phra Nakhon District,
Bangkok 10200

84 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

Call Us

Phone. 0 2224 8030 ext. 202
Fax. 0 2224 8031