นาวิน
ลาวัลย์ชัยกุล
Navin Lawanchaikul
รางวัลศิลปาธร : สาขาทัศนศิลป์
ประวัติศิลปิน
ศิลปะร่วมสมัยยุคปัจจุบันอาจเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับบางคน แต่ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนารูปแบบให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย กระทั่งศิลปะไม่ใช่เรื่องของศิลปินคนเดียวอีกต่อไป แต่กลับสัมพันธ์กับคนมากมายรวมถึงพื้นที่สาธารณะหลายคนอาจจะไม่คุ้นชินกับการทำงานศิลปะในรูปแบบทีมงาน หรือบริษัทมาก่อนแต่สิ่งนี้เองที่ทำให้ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เป็นนักสร้างสรรค์ที่แตกต่างออกไปจากที่ใครเคยรู้จัก
นาวิน เกิดในปี พ.ศ. 2514 ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นศิลปินไทยเชื้อสายอินเดียที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ รูปแบบผลงานอันท้าทายของเขาเกิดขึ้นจากการทำงานเป็นทีม อาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย เพื่อให้เป็นผลงานในเส้นทางศิลปะเชิงแนวคิด ขยายขอบเขตสู่การสื่อสารกับสังคม เขาได้ก่อตั้งบริษัทนาวิน โปรดักชั่น จำกัด ในปี ค.ศ. 1994 เพื่อเป็นตัวกลางในการผลิตผลงานศิลปะจากความคิดของเขาเอง เมื่อนาวินเปิดตัวผลิตภัณฑ์แรกด้วยน้ำดื่มบรรจุขวดที่ปนเปื้อนจากแม่น้ำลำคลองในจังหวัดเชียงใหม่ ในปี ค.ศ. 1995 และเริ่มโครงการทำให้รถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ กลายเป็นหอศิลป์เคลื่อนที่ สร้างเครือข่ายเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมให้กับคนเมือง จากความร่วมมือของคนขับแท็กซี่จริงๆ ความคิดที่ว่าจะ
ทำให้คนเข้าถึงศิลปะได้อย่างไรจากการเดินทางที่เป็นอุปสรรคมาโดยตลอด โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากจนทำให้เกิดแท๊กซี่แกลเลอรี (Taxi Gallery) ขึ้นอีกในเมืองสำคัญนานาประเทศ อาทิ ซิดนี่ย์ ลอนดอน บอนน์ และนิวยอร์ก และในสังคมที่ประชากรเดินทางด้วยรถแท๊กซี่เมื่อผลงานศิลปะเริ่มพาให้นาวินเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น การเจรจาต่อรองและการได้สำรวจสถานการณ์ พื้นที่ของโลกาภิวัตน์ทำให้ผลงานของนาวินโน้มเอียงไปในด้านความคิดเกี่ยวกับชุมชน สังคม นาวินเริ่มถามเกี่ยวกับตัวเองว่าเขาเป็นใคร ในผลงานชุดสำคัญ SUPER(M)ART, 2002 ณ Palais de Tokyo
เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผลงานสื่อประสมจัดวาง พาจินตนาการไปถึงรูปแบบทางศิลปะในอนาคตอันไกลโพ้น เป็นสถานการณ์ทางศิลปะเล่าเรื่องศิลปินนาวินในวัยเกษียณ เขากลับไปที่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 2012 หลังจากถูกรางวัลลอตเตอรี่เพื่อไปเยี่ยมชมสถาบันทางศิลปะต่างๆ แต่กลับพบว่าทุกแห่งปิดกิจการหมดเสียแล้ว นาวินในวัยชราพบกับ Curatorman ภัณฑารักษ์หนุ่มผู้แคล่วคล่อง และพบว่าวงการศิลปะในสากลนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จินตนาการเล่าเรื่องผ่านประติมากรรม รวมถึงการ์ตูนคอมมิก โดยเฉพาะจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยภาพของศิลปินและผู้มีอิทธิพลกับแวดวงศิลปะในยุคสมัยใหม่ ล้อเลียนกับผลงาน The Wedding Feast at Cana, 1563 โดยจิตรกรอิตาเลียน Paolo Veronese จากยุคเรอเนสซองซ์
ผลงานที่ชวนให้ผู้ชมเข้าร่วมวิพากษ์เกี่ยวกับอนาคตของศิลปะ และคำถามที่ว่าวงการศิลปะนั้นเป็นของใคร พื้นที่ทางศิลปะหากไม่ได้อยู่ในหอศิลป์ หรือตลาดศิลปะแล้ว ศิลปะจะเกิดขึ้นที่ไหนได้บ้าง ผลงานศิลปะได้เดินทางเพื่อถามกลับสู่วงการศิลปะ บทสนทนาระหว่างนาวินกับ Curatorman ก็ยังดำเนินต่อไป